ภาคประชาสังคม จี้ สปส.จัดเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ชี้ชุดเดิมอยู่ 5 ปี ไร้การเปลี่ยนแปลง

ภาคประชาสังคม จี้ สปส.จัดเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ชี้ชุดเดิมอยู่ 5 ปี ไร้การเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ The Halls Bangkok มูลนิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ มูลนิธิเด็ก เยาวชน และ
ครอบครัว และเครือข่ายแรงานเพื่อสิทธิประชาชน จัดเสวนาเรื่อง ‘ผ่าโครงสร้างประกันสังคม กับ
การรับมือวิกฤตสังคม และโรคอุบัติใหม่’

นายบัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการคุณวุฒิด้านแรงงาน กล่าวว่า คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ชุดปัจจุบัน ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนกระทั่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งอยู่นานกว่า 5 ปี แม้ว่าจะมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ.2558 จัดให้มีการเลือกตั้ง บอร์ด สปส. แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในยุคนั้น ไม่ได้ออกระเบียบ กระทั่งล่าสุด นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้จัดทำระเบียบการเลือกตั้งบอร์ด สปส.และประกาศใช้แล้วเมื่อเดือน กรกฎาคม 2564 แต่ก็ยังไม่ระบุชัดถึงวัน เวลาที่จะให้เลือกตั้ง

“ทั้งที่ไม่น่าจะมีอะไรติดขัด เพราะหากกังวลเรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ก็เห็นว่า ที่ผ่านมาสามารถจัดให้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือที่เพิ่งจัด ก็ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศ ดังนั้น จึงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งบอร์ด สปส.ตามกฎหมาย เพราะถึงแม้การทำงานไม่ได้เร็วขึ้น แต่ข้อดีคือ จะได้เลือกคนมีความรู้ ความสามารถ เชื่อถือได้ และจะได้มีการตรวจสอบการทำงาน จากเดิมที่บอร์ด สปส.พิจารณาเรื่องต่างๆ กันเงียบๆ แต่ไม่เคยบอกประชาชนเลย บอกแค่เรื่องดีๆ ที่มองแล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลเท่านั้น” นายบัณฑิต กล่าว

​นายบัณฑิต กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ตนยังมีความกังวลหลายเรื่องเกี่ยวกับระเบียบการเลือกตั้งบอร์ด สปส. ทั้งการที่ไม่ได้กำหนดวันเลือกตั้ง ไม่รู้ว่าใครสมัครบ้าง วิธีการลงคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ อาจจะมีปัญหาสำหรับผู้ประกันตนในบางพื้นที่ที่ห่างไกล โดยเฉพาะผู้ประกันตนตามมาตรา 40 หรือ กลุ่มแรงงานอิสระ กรณีจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งต้องมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้วมีการตั้งงบจำนวนมากเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตั้งแต่ 3,000-10,000 บาท ตลอดระยะเวลาดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งมองว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากแต่ละคนเป็นบุคคลากรในหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะสังกัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีเงินเดือนประจำอยู่แล้ว

Advertisement

“และอีกเรื่องสำคัญที่เป็นกังวลคือ กรณีไม่ให้ผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานต่างด้าวมีสิทธิเลือกตั้ง อาจจะขัดกับพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 8 ที่กำหนดว่าผู้สมัครรับคัดเลือกให้เป็นบอร์ดต้องเป็นคนไทยเท่านั้น แต่ในเรื่องของผู้ประกันที่มีสิทธิลงคะแนนไม่ได้ห้ามไม่ให้คนต่างด้าวลงคะแนนแต่อย่างใด ซึ่งผู้ประกันตนที่เป็นคนต่างด้าวมีอยู่ 1,000,400 คน” นายบัณฑิต กล่าว

​ด้าน นางอรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า ทุกวันนี้การทำงานของ สปส. ถือว่าช้ามาก การพิจารณาเรื่องต่างๆ ภายในบอร์ด สปส. ถึงแม้จะทำได้เร็ว แต่กว่าจะปฏิบัติได้จริง กลับล่าช้ามาก เพราะต้องนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพิจารณา แล้วส่งเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ส่งกฤษฎีกาตีความ แล้วส่งกลับไปที่ ครม. และเข้าสภาผู้แทนราษฎร

“บางเรื่องนานถึง 3 เดือน กว่าจะปฏิบัติได้ ปัญหาอีกอย่างคือ สัดส่วนของบอร์ด สปส. ถึงแม้ว่าจะมีผู้แทนนายจ้าง ลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน (กฎหมายใหม่ปรับเพิ่มเป็นฝ่ายละ 7 คน) แต่ไม่ได้มีความเป็นผู้แทนอย่างแท้จริง เพราะใช้ระบบให้สหภาพแรงงานต่างๆ เลือกกันเอง ซึ่งสหภาพเหล่านี้มีสมาชิกเพียงไม่กี่แสนคนเท่านั้น ในขณะที่ผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 รวมกันแล้วมีประมาณ 16 ล้านคน แต่คนเหล่านี้ไม่มีสิทธิเลือกผู้แทนเลย ควรเป็นระบบ 1 สิทธิ์ 1 เสียง ทุกคนควรมีสิทธิ์เลือกบอร์ดฯ ได้ คนจะเป็นบอร์ดฯ ต้องรู้เรื่อง และต้องกล้าถาม กล้าแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะฝ่ายลูกจ้าง จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งบอร์ด สปส.เพราะชุดปัจจุบันตั้งมาตามมาตรา 44 ยุค คสช.” นางอรุณี กล่าว

Advertisement

นางอรุณี กล่าวว่า หวังไว้ในอนาคตอยากเห็น สปส.มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง เหมือนองค์กรอิสระ เหมือนกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ที่สำคัญที่สุด ท่ามกลางวิกฤตต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งทางสังคม และโรคอุบัติใหม่ อย่างเช่น โควิด-19 จำเป็นอย่างยิ่งที่ สปส.ต้องสรุปบทเรียน จุดที่เป็นปัญหา อุปสรรค เพื่อออกแบบการทำงานรับมือกับทุกสถานการณ์ และต้องทำงานเชิงรุกพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ โดยยึดเอาผลประโยชน์ของผู้ประกันตนเป็นตัวตั้ง

นายเซีย จำปาทอง ผู้ประกันตน มาตรา 33 กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ อาจจะยังน้อยทั้งแง่การรักษาพยาบาล การจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรเพียงเดือนละ 800 บาทน้อยเกินไป หนำซ้ำการทำงานของบอร์ด สปส. นั้นมีความล่าช้ามาก กระบวนการต่างๆ เหมือนกับราชการ เพราะต้องอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงแรงงาน การพิจารณาเรื่องต่างๆ ต้องผ่านหลายขั้นตอน ส่วนตัวมองว่าถึงเวลาที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งบอร์ด สปส. เชื่อว่าคนที่ผู้ประกันตนเลือกมา จะต้องรับฟังแรงงาน เมื่อมีการรับฟัง ก็จะเกิดการผลักดันเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกันตนตามมา ที่สำคัญ ในการเลือกตั้งนั้น ควรให้สิทธิ์ผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานต่างด้าวลงคะแนนด้วย เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำงานและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเช่นเดียวกับคนไทย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image