แผนการปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในหมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศได้บัญญัติให้มีการปฏิรูปประเทศซึ่งต้องดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย 3 ประการ ได้แก่

1) ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ

2) สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรมและมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ และ

3) ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

Advertisement

รวมทั้งได้บัญญัติให้การดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ เป็นไปตามพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 โดยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ ให้การ
จัดทำแผนการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วย มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศเพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศ โดยเมื่อ 6 เมษายน พ.ศ.2561 ราชกิจจานุเบกษาประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ จำนวน 11 ด้าน ประกอบด้วย 1)ด้านการเมือง 2)ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 3)ด้านกฎหมาย 4)ด้านกระบวนการยุติธรรม 5)ด้านเศรษฐกิจ 6)ด้านทรัพยากร ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 7)ด้านสาธารณสุข 8)ด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ

9)ด้านสังคม 10)ด้านพลังงาน 11)ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ต่อมาได้เพิ่มอีก 2 ด้าน รวมเป็น 13 ด้าน ได้แก่ 12)ด้านการศึกษา และ 13)ด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
มีกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยน แปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (BIG ROCK)

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีกิจกรรมที่สำคัญคือการเพิ่มและพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ตามเป้าหมาย

Advertisement

โดยที่ผ่านมาพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ มีอัตราการลดลงอย่างต่อเนื่อง บางแห่งมีการใช้ประโยชน์ไม่เหมาะสม หรือมีการจัดสรรการใช้ประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไข จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในทุกด้าน แม้ว่ารัฐบาลในแต่ละยุคสมัยพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ก็ยังไม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนดไว้ได้ทั้งหมด

แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดให้มี พื้นที่สีเขียว ภายในปี พ.ศ.2580 (อีก 16 ปี) จำนวนร้อยละ 55 ของประเทศ และนโยบายป่าไม้แห่งชาติได้กำหนดให้มี พื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศอย่างน้อยในอัตราร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั่วประเทศ ประกอบด้วย ป่าอนุรักษ์ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ทั่วประเทศ และป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งป่าอนุรักษ์กำหนดไว้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งป้องกันภัยธรรมชาติต่างๆ และรักษาสภาพธรรมชาติที่สวยงามหรือมีจุดเด่นเฉพาะตัว ตลอดทั้งเพื่อประโยชน์ในการศึกษา การวิจัยและนันทนาการ หรือเขตพื้นที่อื่นใดที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ หรือคุณค่าอื่นอันควรแก่การอนุรักษ์ หรือรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า วนอุทยาน สวนพฤกษชาติ สวนรุกขชาติ พื้นที่เตรียมการอุทยานแห่งชาติ พื้นที่เตรียมการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่เตรียมการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าสงวนแห่งชาติที่ควรแก่การอนุรักษ์บางส่วน ป่าชายเลนอนุรักษ์

ส่วนป่าเศรษฐกิจกำหนดไว้เพื่อ การผลิตไม้และของป่า เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ หรือเขตพื้นที่อื่นใดที่มีความเหมาะสมกับการกำหนดให้เป็นเขตป่าเศรษฐกิจ โดยอยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์ เช่น 1)ป่าเศรษฐกิจในที่ดินของรัฐ ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติ (ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้น 3,4,5) เขตป่าไม้ของรัฐที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ตามกฎหมาย ให้เป็นป่าเศรษฐกิจ เขตพื้นที่อื่นของรัฐที่ประสงค์จะสร้างสวนป่าเศรษฐกิจ ป่าไม้ถาวร ป่าชายเลน นอกเขตป่าชายเลนอนุรักษ์ และ 2)ป่าเศรษฐกิจในที่ดินเอกชน ได้แก่ ที่ดินกรรมสิทธิ์ และสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน และที่ดินนอกเขตป่าไม้อื่นๆ ของรัฐ อื่นๆ และ
ป่าชุมชน หมายถึงป่านอกเขตป่าอนุรักษ์ หรือพื้นที่อื่นของรัฐนอกเขตป่าอนุรักษ์ ที่ได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งเป็นป่าชุมชน โดยชุมชนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูจัดการ บำรุงรักษา ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ในป่าชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมี
เป้าหมายคือ

ขั้นตอนที่ 1 หยุดยั้งและป้องกันการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ในที่ดินป่าไม้ของรัฐทุกรูปแบบให้มีประสิทธิภาพ โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 ดังนี้

1.1 กำหนดและมอบหมายหน่วยงาน และบุคคลทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อรับผิดชอบในการหยุดยั้งและป้องกันการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ในแต่ละเขตพื้นที่ และประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

1.2 ติดตามและตรวจสอบการทำลายทรัพยากรป่าไม้เชิงพื้นที่ โดยใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ บันทึกข้อมูลทรัพยากรป่าไม้ ใกล้เวลาจริง (Near real time) และดำเนินการแสดงผลการเปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงที

1.3 พัฒนาและขยายผลระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart patrol) มาใช้ในการ
หยุดยั้งและป้องกันการทำลายทรัพยากรป่าไม้

1.4 พัฒนาและขยายผลพื้นที่กันชนรอบเขตป่าไม้

1.5 ส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทและหน้าที่ของทุกภาคส่วน ให้มีจิตสำนึก และมีส่วนร่วม รวมทั้งรับผิดชอบในการอนุรักษ์ การจัดการ และการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน

ขั้นตอนที่ 2 เพิ่มและพัฒนาป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชุมชน โดยกำหนดให้แล้วเสร็จ ภายในปี พ.ศ.2565 ดังนี้

2.1 ศึกษาและพัฒนากองทุนพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ หรือกลไกทางเศรษฐศาสตร์และการตลาด เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากร
ป่าไม้อย่างเป็นรูปธรรม และครบวงจร

2.2 ดำเนินกลไกทางการเงิน การคลัง เพื่อส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจแบบครบวงจร ได้แก่ มาตรการลดหย่อนภาษี ธนาคารต้นไม้ หรือชุมชนป่าไม้มีค่า การค้ำประกันสินเชื่อ โดยใช้ไม้เศรษฐกิจสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อปลูกไม้เศรษฐกิจและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

2.3 ดำเนินกลไกทางการตลาด เพื่อส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ แบบครบวงจร ได้แก่ ตลาดกลางการค้าไม้ และผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ ตลาดเกี่ยวกับการค้าไม้ และผลิตภัณฑ์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศแห่งใหม่ ตลาดการบริการของระบบนิเวศป่าไม้ การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ภาคสมัครใจ และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

2.4 ฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้เชิงพื้นที่ โดยฟื้นฟูป่าไม้ในพื้นที่ป่าเชื่อมโยงให้มีความสมบูรณ์ โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการฟื้นฟูอย่างชัดเจน และต่อเนื่อง มีการติดตามประเมินผล และเผยแพร่ผลการดำเนินงานต่อสาธารณะ บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และกำหนดความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐที่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

2.5 เพิ่มและพัฒนาพื้นที่สวนป่าเศรษฐกิจ โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมาย สำหรับการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ เพิ่มพื้นที่ปลูกไม้เศรษฐกิจที่มีลักษณะความนิยมป่าไม้ของนโยบายป่าไม้แห่งชาติรวมทั้งจำนวนผู้ปลูกไม้เศรษฐกิจ พัฒนาระบบการปลูกไม้เศรษฐกิจ ที่ลดต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ พัฒนาระบบฐานข้อมูล ไม้เศรษฐกิจ การบริการจากป่าไม้ และอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตจากป่าไม้ของประเทศที่เชื่อมโยงกับข้อมูลทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

2.6 ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการป่าชุมชน ให้มีประสิทธิภาพ สามารถอำนวยประโยชน์ต่อชุมชน สร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ป่าไม้ของประชาชน เป็นส่วนส่งเสริมให้ชุมชนและท้องถิ่นเข้มแข็ง และเป็นการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน

2.7 เพิ่มและพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชุมชน โดยสนับสนุนกล้าไม้สำหรับนำไปปลูกเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง และชุมชน ส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชุมชน

ขั้นตอนที่ 3 จัดระเบียบและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับการครอบครองหรือใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ของรัฐทุกประเภท อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2565 ได้แก่

3.1 กำหนดมาตรการหรือกลไกทางนโยบายหรือกฎหมาย เพื่อจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการครอบครอง หรือใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ ทั้งระบบ เช่น เร่งรัดการออกกฎหมายลำดับรองหรืออนุบัญญัติต่างๆ เป็นต้น

3.2 พัฒนาหรือปรับปรุงแนวเขตที่ดินป่าไม้ของรัฐทุกประเภทให้มีความชัดเจน เหมาะสม สอดคล้องกับแนวเขตในพื้นที่จริง และมีเอกภาพ

3.3 ดำเนินการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหา ความขัดแย้ง เกี่ยวกับการครอบครองหรือใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ของรัฐทุกประเภทอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

ขั้นตอนที่ 4 พัฒนาพื้นที่ใช้ประโยชน์ ผลิตผล และการบริการจากป่าไม้และอุตสาหกรรมป่าไม้ทั้งระบบ โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2565 ได้แก่

4.1 ส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตผลจากป่าไม้ครบวงจรในทุกระดับ และพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรป่าไม้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรม

4.2 พัฒนาและส่งเสริมการรับรองป่าไม้ ตามมาตรฐานการรับรองป่าไม้ให้เป็นที่ยอมรับ และได้รับการรับรองทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

4.3 ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์การบริการจากป่าไม้อย่างสมดุล ยั่งยืนและเกื้อกูลระบบนิเวศ

แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฉบับปรังปรุง) นี้ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามประกาศเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 138 ตอนพิเศษ 44ง หน้า 1 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 เพิ่งผ่านมาเพียง 10 เดือน (ธันวาคม 2564) เหลือระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ ก.ย.2565 ก็เหลือเวลาอีกเพียง 9 เดือน ซึ่งน้อยมาก

มีงานหนักที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคือท่าน วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีหนุ่มไฟแรงในฐานะผู้กำกับดูแลนโยบายนี้ และมีท่านอธิบดีกรมป่าไม้เป็นผู้ปฏิบัติโดยตรง ที่ผู้เขียนขอบอกว่าเป็นงานโคตรหินตามกล่าวมาแล้ว ก็ขออำนวยพรให้ข้าราชการของกรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนด

จะเป็นงานชิ้นโบแดงในการพัฒนาประเทศที่สำคัญ ได้ช่วยฟื้นฟูให้ป่าไม้ของไทยกลับมามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน

ผศ.พลโท ดร.ทวี แจ่มจำรัส
ข้าราชการบำนาญ/อาจารย์ มรภ.สวนสุนันทา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image