การเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สิทธิสภาพนอกอาณาเขต (extraterritoriality) คือสิทธิพิเศษทางกฎหมาย ซึ่งประเทศหนึ่งสามารถบังคับใช้กฎหมายของประเทศตนต่อบุคคลในดินแดนของประเทศอื่นได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าคนอังกฤษ หรือฝรั่งเศสกระทำความผิดในประเทศไทย ไทยก็ไม่มีสิทธิที่จะดำเนินคดีคนอังกฤษ หรือฝรั่งเศสในศาลไทยได้ แต่จะต้องให้ศาลอังกฤษ หรือฝรั่งเศสเป็นผู้ดำเนินการ และสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนี้ยังครอบคลุมถึงคนต่างด้าวที่อยู่ในบังคับของอังกฤษ หรือฝรั่งเศสด้วย ภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกคนพวกนี้ว่า “สัปเยก” (subject) เช่น คนอินเดีย เป็นสัปเยกอังกฤษ คนเวียดนามเป็นสัปเยกฝรั่งเศส เป็นต้น ทำให้คนต่างด้าวเหล่านี้ ซึ่งเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ไม่เกรงกลัวกฎหมายไทย เพราะถือว่าหากเกิดคดีความก็ขึ้นศาลของต่างประเทศ และส่วนใหญ่แล้วศาลเหล่านั้นมักจะตัดสินความเข้าข้างคนของตน ประเทศไทยเคยเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่อังกฤษที่ตกลงในสนธิสัญญาเบาว์ริง เมื่อ พ.ศ.2398 และต่อมาก็เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้กับประเทศต่างๆ อีกหลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอีกนับสิบประเทศในทวีปยุโรปและท่านผู้อ่าน เชื่อไหมครับว่า ไทยเราเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้ญี่ปุ่นด้วยทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นก็เคยตกเป็นเหยื่อของการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้กับชาติตะวันตกก่อนไทยเสียด้วยซ้ำ แต่ญี่ปุ่นสามารถปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยทัดเทียมกับประเทศทางตะวันตกได้ในเวลาไม่กี่สิบปีจนบรรดาประเทศตะวันตกยกเลิกการมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับญี่ปุ่น และญี่ปุ่นก็ได้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือไทยในฐานะเป็นประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งทั้งๆ ที่ไทยกับญี่ปุ่นได้เปิดประเทศและปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยแบบประเทศทางตะวันตกในเวลาไล่เลี่ยกันก็ตาม

เรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนี้ทำความเดือดร้อนให้แก่ประเทศไทยมานานหลายสิบปีจนกระทั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้นำประเทศไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้รับชัยชนะในสงครามครั้งนี้ จึงสมารถยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับบรรดาประเทศผู้แพ้สงครามได้และได้เจรจากับประเทศผู้ชนะสงครามในฐานะพันธมิตรจนสามารถยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกแต่ก็ยังมีเงื่อนไขอยู่ว่า

ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของชาวอเมริกันในประเทศไทย แต่กงสุลอเมริกันยังมีสิทธินำคดีไปพิจารณาเอง ยกเว้นคดีในศาลฎีกา และเมื่อสยามประกาศใช้ประมวลกฎหมายสมัยใหม่แล้ว 5 ปีหลังจากนั้น สยามได้มีการเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศอื่นตามลำดับ ได้แก่ ญี่ปุ่น (พ.ศ.2466) ฝรั่งเศส (พ.ศ.2467) และอังกฤษ (พ.ศ.2468) ตลอดจนอีก 7 ประเทศทวีปยุโรปภายใน พ.ศ.2470

สำหรับการเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญากับฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งให้นายฟรานซิส บี. แซร์ เป็นผู้แทนรัฐบาล มีอำนาจเจรจาต่อรองกับรัฐบาลประเทศต่างๆ เป็นผู้เจรจา โดยฝรั่งเศสขอสิทธิในการจัดตั้งศาลในสยามขึ้นพิจารณาคดีจนกว่าจะบังคับใช้ประมวลกฎหมายสมัยใหม่

Advertisement

ประเทศไทยสามารถยกเลิกสิทธิสภาพนอก อาณาเขต ได้รับเอกราชทางการศาลกลับคืนมาอย่างสมบูรณ์ใน พ.ศ.2481 หลังจากที่ถูกอิทธิพลทางสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเข้าครอบงำจนมีผลสะท้อนให้ไทยต้องเสียเอกราชทางการศาลเป็นเวลาถึง 83 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2398-2481

แต่มีความจริงทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยได้แพร่หลายมากนัก คือ ประเทศไทยเคยเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้กับบริษัทข้ามชาติบริษัทแรกในโลก คือ บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (Dutch East India Company) ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ.2145 (ตรงกับช่วงปลายสมัยพระนเรศวรมหาราช) โดยในช่วงแรกรัฐสภาเนเธอร์แลนด์มอบสิทธิขาดในการค้าเครื่องเทศแก่บริษัทเป็นเวลา 21 ปี ที่บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ มีชื่อย่อว่า วี.โอ.ซี (V.O.C.) เป็นบริษัทแรกที่ออกหุ้นและเป็นบริษัทมีอำนาจสูงเกือบเทียบเท่ารัฐบาลโดยสามารถที่จะเข้าร่วมสงคราม สั่งจำคุกและประหารชีวิตนักโทษ เจรจาสนธิสัญญา ผลิตเหรียญกระษาปณ์เป็นของตนเอง และจัดตั้งอาณานิคม

บริษัท วี.โอ.ซี.เป็นเพียงบริษัทต่างชาติกับจีนเท่านั้นที่ญี่ปุ่นยอมให้เข้ามาทำการค้าด้วย เมื่อญี่ปุ่นประกาศปิดประเทศแต่สินค้าที่ญี่ปุ่นต้องการมาก คือ หนังกวางเพื่อเอาไปบุเกราะของนักรบ ซึ่งประเทศไทยผลิตได้เป็นจำนวนมหาศาลบางปีสามารถผลิตได้ถึง 1 ล้านแผ่น โดยบริษัท วี.โอ.ซี.รับซื้อแบบไม่อั้นเพื่อเอาไปขายต่อที่ญี่ปุ่นได้กำไรเป็น 10 เท่าเลยทีเดียว เมื่อทางไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ทราบข้อเท็จจริงนี้ จึงแต่งสำเภาหลวงให้คนจีนจัดการทั้งหมดนำหนังกวางไปขายโดยตรงให้กับญี่ปุ่นทำให้บริษัท วี.โอ.ซี.เดือดร้อนหนัก จึงส่งเรือรบสองลำมาปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยาเกือบ 1 ปี และทำการยึดสำเภาหลวงบางลำที่เดินทางกลับมาจากจีนและญี่ปุ่น จนสมเด็จพระนารายณ์ต้องยอมทำสนธิสัญญากับบริษัท วี.โอ.ซี. ใน พ.ศ.2207 โดยสรุปคือ ยอมให้บริษัท วี.โอ.ซี.สามารถทำการค้าเสรีได้ทั่วประเทศ โดยยินยอมจ่ายภาษีอากรตามอัตราที่กำหนด ห้ามไม่ให้ไทยว่าจ้างชาวจีนไว้ในสำเภาโดยเด็ดขาดเพื่อป้องกันไม่ให้สยามค้าขายกับญี่ปุ่นแข่งกับบริษัท วี.โอ.ซี. และยอมให้บริษัท วี.โอ.ซี.ผูกขาดการส่งออกหนังกวางเพียงผู้เดียว ถ้าคนของบริษัท วี.โอ.ซี.ทำความผิดกฎหมายไทยจะต้องไม่ถูกพิพากษาโดยศาลไทย แต่ให้บริษัทลงโทษตามกฎหมายของเนเธอร์แลนด์ ก็คือเป็นการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนั่นเอง โดยทางบริษัท วี.โอ.ซี.จะยอมชดเชยค่าเสียหายและสินค้าที่เคยยึดจากสำเภาหลวงให้

Advertisement

ครับ ! ประวัติศาสตร์ไทยมีเรื่องที่พวกเรายังไม่รู้อีกเยอะนะครับ

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image