‘ณพลเดช’ สวน ทีมกม.สภาฯ ชี้ช่องปม 8 ปี ‘บิ๊กตู่’ อยู่ถึงปี 70 แนะส่งศาลรธน.ชี้ขาด

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ดร.ณพลเดช มณีลังกา อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวกรณีฝ่ายกฎหมายสภาได้ส่งความเห็นให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีความเห็นว่าการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.2562 ที่เป็นวันโปรดเกล้าฯ ให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ส่งผลให้ความเห็นดังกล่าว ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สามารถนั่งในตำแหน่งได้ยาวถึงพ.ศ.2570 นั้น

ดร.ณพลเดช กล่าวว่า จากความเห็นดังกล่าวเห็นว่า ทีมกฎหมายสภาฯไม่มีอำนาจที่จะตัดสินว่า การกำหนดอายุการนั่งในตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จะสิ้นสุดในวันใด อำนาจนี้จะต้องเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสิน เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าอาจมีอำนาจในการครอบงำภายในสภาฯ โดยส่วนใหญ่เป็น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ที่อาจส่งผลต่อความเห็นดังกล่าว ในความเห็นของตนหากวิเคราะห์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตรา 158 วรรค 4 บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง” จากเจตนารมณ์ของกฎหมาย หากเทียบกับหลัก “กฎหมายไม่มีผลบังคับย้อนหลัง” (Ex Post Facto Laws) กฎหมายย่อมใช้บังคับในภายภาคหน้าเท่านั้น เป็นบทบัญญัติที่ตราใน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรค 2 ถือว่าเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ทั้งนี้โดยศักดิ์ของกฎหมายแล้วกฎหมายรัฐธรรมนูญถือว่ามีศักดิ์สูงสุด และระบุชัดว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้”

หากพิจารณาในข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญต่างประเทศ ในหลายๆ ประเทศ เช่นอังกฤษและฝรั่งเศส กำหนดให้ประมุขแห่งรัฐ (Head of State) มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระ 5 ปี และอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ และอเมริกากำหนดให้ มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปีและสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ หรือไม่เกิน “8 ปี” สำหรับประเทศไทย รัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีเจตนารมณ์ ในมาตรา 171 วรรค 3 ที่กำหนดให้ “นายกรัฐมนตรีจะดำรงดำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 8 ปีมิได้” ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ มิให้มีการครองอำนาจอันเป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยนานเกินไป อันอาจเป็นผลเสียต่อประเทศในภายหลังได้

ดร.ณพลเดช กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยการตราบัญญัติให้กฎหมายมีผลย้อนหลังจะมีข้อยกเว้นได้จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ คือ 1.) กฎหมายที่ตรานั้นระบุไว้อย่างชัดเจนเพื่อที่จะให้กฎหมายมีผลย้อนหลัง 2.) การบัญญัติให้กฎหมายมีผลย้อนหลังจะต้องไม่แย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด ผ่านมานั้นก็เคยมี พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2523 ที่ให้ตราย้อนหลังโดยเริ่มย้อนไปเป็นวัน 1 ตุลาคม พ.ศ.2523 มาแล้ว
ทั้งนี้หากพิจารณากรณีของ นายสิระ เจนจาคะ ที่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลแขวงปทุมวัน ในคดีหมายเลขดำที่ 812/2538 คดีหมายเลขแดงที่ 2218/2538 ที่มีกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ความผิดเกิดขึ้นกว่า 24 ปีก่อนการเลือกตั้ง ยังมีผลในการกระทำที่เคยมีย้อนหลังที่ส่งผลต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ให้สิ้นสภาพ ส.ส. และมีบทปรับย้อนหลัง หากการปฏิบัติหน้าที่ของพล.อ.ประยุทธ์ ที่มีมาตั้งแต่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2557 ต้องมีผลเช่นกัน

Advertisement

ดร.ณพลเดช กล่าวด้วยว่า “หากยึดมาตรฐาน ที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วเขียนใหม่โดยการกำหนดอายุนายกรัฐมนตรี นับเริ่มจากวันที่ตรารัฐธรรมนูญรอบละ 8 ปี เราจะตอบกับต่างชาติสำหรับความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยที่เป็นกฎหมายสูงสุดว่าอย่างไร และในอนาคตลูกหลานเรา จะเอาแบบอย่างแบบนี้บ้างที่มีการกำหนดให้ขั้วอำนาจของตนเองได้เปรียบในการครอบประเทศ เมื่อจะครบ 8 ปีก็ฉีกรัฐธรรมนูญใหม่แล้วเขียนใหม่ แล้วประเทศเราจะบอบช้ำเพราะการกระทำแบบนี้หรือไม่ สิ่งที่กังวลคือ ความเป็นขื่อเป็นแป ของประเทศไทยจะอยู่ตรงไหน ลูกหลานเราจะอยู่กันอย่างไร”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image