‘ประดิทิน’ ปีขาล สองพันห้าร้อยหกสิบห้า จากเดือนอ้าย ถึง แจนยูอารี

‘ประดิทิน’ ปีขาล สองพันห้าร้อยหกสิบห้า จากเดือนอ้าย ถึง แจนยูอารี
ภาพจากปก 'ปฏิทินสากล ไทย-จีน-ฝรั่ง เทียบ 3 ภษา 50 ปี ของ ร.เลี่ยมเพ็ชร์รัตน์ (ที่มา : www.getbookie.com)

1 มกราคม พุทธศักราช 2565

ประเทศไทยเข้าสู่ ‘ปีใหม่’ ตามแบบสากล

ตรงกับคริสต์ศักราช 2022

หากนับตามศักราชโบราณที่เคยถูกใช้ในดินแดนแถบนี้ ย่อมได้แก่ มหาศักราช 1944 และจุลศักราช 1383-1384

Advertisement

สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่า ที่จุลศักราชคาบเกี่ยว เพราะจะมีการเปลี่ยนศักราชในช่วงสงกรานต์ เริ่มต้นวันเถลิงศก 16 เมษายน 2565 จึงค่อยเปลี่ยนศกเป็นจุลศักราช 1384

เท่ากับปี ‘ขาล’ ตามอย่างขอมพิสัยไทยภาษา ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

มีสัญลักษณ์ คือ ‘เสือ’

Advertisement
ส.ค.ส. ยุคแรกๆ (ภาพจาก ‘สิ่งพิมพ์สยาม’ โดย เอนก นาวิกมูล)

ส่วนปี ‘หนไท’ ตามปฏิทินเดิมที่เคยใช้ในวัฒนธรรมล้านนาและหลากพื้นที่ในดินแดนที่มีผู้คนพูดภาษาตระกูลไท ตรงกับปี ‘ปีร้วงเป้า จุลศักราช 1383 – ปีเต่ายี จุลศักราช 1384

ทอง โรจนวิภาค เขียนบทความเผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมตั้งแต่ พ.ศ.2538 ว่า ชื่อปีของไทยคือ ชวด ฉลู ขาล ฯลฯ นี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงสนพระทัยมาก ในสาส์นสมเด็จ สาส์นของพระองค์ท่านที่ทรงมีไปมาติดต่อกับท่านเสฐียรโกเศศ หรือพระยาอนุมานราชธนหลายฉบับเกี่ยวกับเรื่องนี้

‘เสือดาว’ ผู้เกิดปีขาลเดือน 5-7 จากตำราพรหมชาติ ฉบับสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ปราชญ์ทั้ง 2 ไม่มีมติว่าชื่อปีขาลมาจากภาษาใด แต่ ทอง เจ้าของบทความดังกล่าวเสนอความเห็นว่า ‘ใกล้มาทาง ขลา หรือ คลา ของเขมร ซึ่งแปลว่า ‘เสือ’

ในขณะที่ปีเดียวกันนี้ในภาษามอญ เรียก ‘แกระ’

พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ พระธาตุประจำปีขาล (ภาพจากเพจ
วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง)

‘พระธาตุช่อแฮ’ จังหวัดแพร่ คือพระธาตุประจำปีขาล

ทั้งนี้ กว่าคนไทยจะตีพิมพ์คำว่าปีใหม่ในปฏิทินที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อราว 8 ทศวรรษที่ผ่านมา กล่าวคือ หากย้อนเวลากลับไปไกลกว่านั้น คนไทยไม่เคยกู่ร้องคำว่า ‘สวัสดีปีใหม่’ ในวันแรกของเดือนมกราคม เพราะปีใหม่เดิมของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ‘อุษาคเนย์’ คือเดือนเมษายน

โดยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่ พ.ศ.2432 เป็นต้นมา แต่ไม่ได้เป็นที่รับรู้อย่างแพร่หลาย

ต่อมาในช่วงหลัง ‘อภิวัฒน์สยาม’ เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย มีการประกาศให้มีงานรื่นเริงในวันขึ้นปีใหม่เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2477 ที่กรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก ก่อนกระจายไปยังในต่างจังหวัด

หลังจากนั้นได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งมี หลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธาน มติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2484 เป็นต้นมา หรือเมื่อ 81 ปีก่อน

พระราชบัญญัติ ‘ประดิทิน’ พุทธศักราช 2483 ซึ่งปรากฏในราชกิจจานุเบกษา คือ พยานหลักฐาน

กล่าวโดยสรุปคือ สมัยรัชกาลที่ 5-รัชกาลที่ 8 ปีใหม่คือ 1 เมษายน นับแต่ พ.ศ.2432-1 เมษายน 2483

ก่อนคติปีใหม่เดิมของคนไทย ไม่มีสำนึกเรื่องปีใหม่แบบสากล ทว่า รู้จักการเปลี่ยนปีนักษัตร ตอนขึ้นเดือนอ้าย หลังลอยกระทงเดือน 12 ซึ่งตรงกับปฏิทินสากลราวเดือนพฤศจิกายน รับรู้เรื่องการเปลี่ยนผันจากฤดูกาลต่างๆ ไปสู่อีกฤดู

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เคยมีข้อเขียนเจาะลึกรายละเอียดลงไปว่า รัชกาลที่ 5 ทรงเปลี่ยนปีจากการใช้ จุลศักราช เป็น รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2432 คือเป็น ร.ศ.108

รัตนโกสินทร์ศก วันแรกปีแรกคือวันที่ 1 เมษายน ร.ศ.108 (พ.ศ.2432) หรือเพียง 3 วันหลังการ ‘ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่’ และอย่างสอดรับกับวันเปลี่ยนปีศักราชแบบเดิม เพราะวันนั้นก็เป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ด้วยเช่นกัน

นับแต่นั้นมา รัชกาลที่ 5 ก็ทรงให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันเปลี่ยนปีศักราชของรัตนโกสินทร์ศก ทุกๆ ปี

ทว่าเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 6 พระมงกุฎเกล้าฯ ได้ยกเลิกการใช้ รัตนโกสินทร์ศก สร้างศักราชใหม่เป็น พุทธศักราช โดยกำหนดให้ปี พ.ศ.2456 เป็นปีแรก โดยยังคงใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันเปลี่ยนปีศักราชเช่นเดิม

“เทวะประติทิน พระพุทธศักราช 2462” สร้างตามปฏิทินปรับเทียบของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ สมัยร.5
(ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม)

‘ประกาศวิธีการนับวัน เดือน ปี’ มีในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 131 เท่ากับพุทธศักราช 2455 อีกเดือนกว่า ต่อมา ไทยก็เริ่มเข้าสู่การใช้พุทธศักราชวันแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2456

เท่ากับว่า รัตนโกสินทร์ศก มีอายุระหว่างปี 2432-2455 เพียง 24 ปีเท่านั้น คือ ร.ศ.108-ร.ศ.131

ต่อมาใน ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ปีใหม่แบบสากลครั้งแรก เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2484 มาถึงทุกวันนี้

ปรากฏหลักฐานในราชกิจจานุเบกษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล มีพระบรมราชโองการให้ตรา ‘พระราชบัญญัติปี ประดิทินพุทธศักราช 2483’

พ.ร.บ.ปีประดิทิน พุทธศักราช 2483 กำหนดวันขึ้นปีใหม่เป็น 1 มกราคม เริ่มในปี 2484

ดังนั้น ใน พ.ศ.2483 จึงไม่ได้มี 12 เดือน แต่มีเพียง 9 เดือนเท่านั้น คือ เดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม เพราะ 1 มกราคม พ.ศ.2484 นับเป็นวันขึ้นปีใหม่

สำหรับ ‘ปฏิทินฝรั่ง’ ที่ตีพิมพ์บนกระดาษ ก่อนยุคที่ผู้คนจะก้มหน้าดูวัน-เวลาผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ปรากฏในสยามตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเกิดขึ้นก่อนไทยจะหันมาใช้ปีใหม่แบบสากลเมื่อ 8 ทศวรรษที่แล้ว เนื่องจากเป็นการที่ ‘ฝรั่งพิมพ์ปฏิทินฝรั่งในไทย’ นั่นเอง

ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงค่อยมีการพิมพ์ปฏิทินให้เป็นภาษาไทย จากเดิมที่ใช้เดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสาม เดือนสี่ เดือนห้า ก็ปรับเป็นชื่อเดือนภาษาฝรั่ง อย่าง แจนยูอารี แฟบยูอารี มาร์ช กระทั่งพิมพ์ชื่อเดือน 12 เดือน ในภาษาไทยว่า มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม ฯลฯ

การเรียกชื่อเดือนอย่างใหม่ จากอ้าย ยี่ สู่แจนยูอารี และมกราคม

สำหรับปีแรกซึ่งรัชกาลที่ 5 ให้ใช้ รัตนโกสินทร์ศก 108 ก็ทรงให้ใช้เดือนเรียกแบบฝรั่งที่แปลงแล้ว สำหรับใช้เป็นปฏิทินของราชการด้วย นับแต่นั้นมาปฏิทินแบบฝรั่งก็เป็นที่คุ้นเคยสำหรับคนไทยมากขึ้นตามลำดับ

ครั้นประเทศไทยหันมาใช้วันขึ้นปีใหม่ตามอย่างสากล ปฏิทินฝรั่งและปฏิทินไทยก็หลอมรวมกันได้อย่างลงตัวแนบสนิท โดยมีอะไร ‘ไทยๆ’ และ ‘จีนๆ’ ประกอบลงไปให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตมากยิ่งขึ้น ทั้งวันหยุด วันสำคัญ ฤกษ์งาม ยามดี ปีชง วันหยุดราชการ และอื่นๆ อีกมากมายสะท้อนการปรับตัวสู่ความศิวิไลซ์

ประดิทินสากล จึงถูกใช้ในแผ่นดินสยามนับแต่นั้น จวบจนวันนี้ วันแรกของปี 2565 สืบไปเมื่อหน้า

พรรณราย เรือนอินทร์

 

พระเทพปฏิภาณวาที
‘เจ้าคุณพิพิธ’
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เจ้าคณะเขตดุสิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image