จากวันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ ‘9 มกรา 21’ ถึงปีที่ 45 ‘พรุ่งนี้’ เพื่อคุณภาพของประเทศ

จากวันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ ‘9 มกรา 21’ ถึงปีที่ 45 ‘พรุ่งนี้’ เพื่อคุณภาพของประเทศ
ขรรค์ชัย บุนปาน, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, ศักดิชัย บำรุงพงศ์, เสถียร จันทิมาธร, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และนักคิดนักเขียนมากมายในงานสังสรรค์พนักงานยุคแรกตั้ง

จากวันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ

‘9 มกรา 21’ ถึงปีที่ 45

พรุ่งนี้’ เพื่อคุณภาพของประเทศ

“วันนั้น ท่านแต่งองค์เรียบร้อย ใส่สูท มีเสื้อกั๊กด้านใน รองเท้าหนัง ผูกเชือก พร้อมในหน้าที่การงาน แต่เราแต่งตัวแบบวัยรุ่น ใส่กางเกงยีนส์ เสื้อพับแขน รีบเอาแขนเสื้อลงแทบตาย เพราะไม่เคยเจอคนใหญ่คนโตจริงๆ แทบลงไปกราบท่านเลย เราเคารพท่านด้วยความบริสุทธิ์ใจ แบบเด็กคนหนึ่งที่เจอบรมครู พหูสูต ตื่นเต้นแต่ไม่เกร็ง เพราะคิดว่าท่านเปรียบเสมือนครูท่านหนึ่งที่เราเคารพมาก…

Advertisement

ได้นั่งคุยกัน 2 คน ตั้งแต่ 8 โมงครึ่ง กว่าจะออกจากตำหนักก็เกือบ 10 โมง คุยแบบธรรมดา ไม่ได้ใช้ราชาศัพท์ ทรงยิ้มแย้ม ไม่ถือพระองค์ เราเรียกท่านว่า เสด็จอาจารย์ ส่วนท่านเรียกเราว่า เธอ

ทรงรับสั่งว่า ทราบเรื่องแล้ว ดีใจ ขอให้ทำให้ดี ข้อเขียนคำอวยพร ท่านเตรียมไว้และประทานให้ตอนนั้นเลย แล้วยังนำสตางค์ใส่ซองเป็นขวัญถุงให้ 900 บาท เป็นธนบัตรใบละ 100 บาท 9 ใบ เป็นเคล็ด”

คือคำบอกเล่าจากปาก ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ถึงเหตุการณ์ที่ไม่เพียงพลิกผันชีวิตของตนเอง หากแต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งพิมพ์ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สื่อมวลชนไทย

Advertisement

ฉากข้างต้น เกิดขึ้นเมื่อกว่า 4 ทศวรรษที่แล้ว ครั้งนักข่าวหนุ่มเข้าเฝ้า พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ‘พระองค์วรรณฯ’ เพื่อทูลขอหัวหนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติ’ แล้วดำเนินกิจการด้วยดีตลอดมากระทั่งถูกสั่งปิดโดย ‘คณะปฏิวัติ’ ใน พ.ศ.2519 ก่อนก่อเกิด ‘มติชนรายวัน’ ซึ่งวางแผงฉบับปฐมฤกษ์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ 9 มกราคม พ.ศ.2521

ปรากฏข้อความในล้อมกรอบ ‘หมายเหตุหน้าแรก’ ความว่า

‘หมายเหตุหน้าแรก’ ใน ‘มติชน’ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 วันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ 9 มกราคม 2521

‘หนังสือพิมพ์มติชนฉบับปฐมฤกษ์ในมือท่านผู้อ่านฉบับนี้ หาใช่หนังสือพิมพ์ฉบับใหม่แต่อย่างไรไม่ ในแง่ความถูกต้องตามกฎหมาย มติชนคือวิวัฒนาการจากหนังสือพิมพ์เข็มทิศธุรกิจรายสัปดาห์ ซึ่งได้รับการอนุมัติให้ออกเป็นรายวันได้ แต่เพื่อขจัดความสับสนอันอาจจะพึงมี จึงแยกชื่อออกจากกันให้เห็นชัด และแน่นอนว่าในระยะเวลาอันใกล้ มติชนจะได้รับอนุญาตให้ใช้ชื่อได้ถูกต้องต่อไป

เมื่อมิใช่หนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ คณะผู้จัดทำทั้งปวงก็มาจากผู้สุจริตในวิชาชีพหนังสือพิมพ์เก่าๆ นั่นเอง รายละเอียดของความเป็นมาในเรื่องนี้ ได้ตีพิมพ์แล้วเป็นเนื้อหาสาระอยู่ในฉบับ…’

บ่งบอกความเป็นมาของมติชนรายวันอันสืบเนื่องมาจากสภาวะหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับถูกสั่งปิด รวมถึง ‘ประชาชาติ’ ทีมงานจึงเบี่ยงเส้นทางจากถนนการเมือง ออกหนังสือพิมพ์ ‘เข็มทิศธุรกิจรายสัปดาห์’ เน้นข่าวสารด้านเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 กระทั่งเมื่อคณะปฏิวัติ นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ โค่นล้มรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 สั่งยกเลิกคณะที่ปรึกษาการพิมพ์ของรัฐบาล เปิดทางให้ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ทว่าจนแล้วจนรอด หนังสือพิมพ์ 13 ฉบับที่ถูกปิดก็ยังไม่มีคำสั่งให้พิมพ์ได้ ทีมงานประชาชาติจึงตัดสินใจออกหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ ใช้ชื่อ ‘มติชน’

บรรยากาศการทำงานของกอง บก.มติชนรายวัน มี ขรรค์ชัย บุนปาน เป็น บก.คนแรก

จากมติชนรายวันฉบับแรก 1 บาท 50 สตางค์ ในวันนั้น ถึงฉบับวันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พุทธศักราช 2565 ปีที่ 45 ราคา 10 บาท ที่จะอยู่ในมือผู้อ่านในวันพรุ่งนี้

‘มติชน’ ยังยืนหยัดอุดมการณ์ตามข้อความที่พิมพ์หน้ากระดาษเหนือโลโก้สีดำในกรอบสีแดง

‘หนังสือพิมพ์คุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศ’ ควบคู่ ‘มติชนออนไลน์’ ที่ยึดถือความมุ่งหมายเดียวกันในยุคที่ความถูกต้องในเนื้อหาต้องมาพร้อมความรวดเร็ว

อีกไม่ถึง 24 ชั่วโมงนับจากนี้ มติชน จะก้าวสู่ปีที่ 45

ปีแรก ที่ไม่มี ฐากูร บุนปาน ผู้ร่วมบุกเบิก ‘ข่าวสด’ หนังสือพิมพ์รายวันในเครือมติชนจนพุ่งทะยานในโลกออนไลน์ถึงวินาทีนี้

งานบวงสรวงในอดีต จากซ้าย ศักดิชัย บำรุงพงศ์ เจ้าของนามปากกา เสนีย์ เสาวพงศ์, ขรรค์ชัย บุนปาน และพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร

การเดินทางของมติชนตลอด 4 ทศวรรษ มีรากฐานสำคัญคือวิชาความรู้ รากฐานสำคัญไม่ได้มีเพียงแค่นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ แต่ประกอบด้วย นักเขียนหลากหลายแนว คนทำงานด้านวรรณกรรม กวี ปัญญาชน นักวิชาการ

จากหนังสือพิมพ์รายวัน เกิดนิตยสารหลายหัวหลากแนวใต้ชายคา ‘มติชน’ บนอุดมการณ์เดียวกัน คือการเผยแพร่ความรู้คู่สังคมไทย

แม้เป็นไทม์ไลน์ที่ถูกเล่าเพียงไม่กี่ย่อหน้า ทว่า เป็นห้วงเวลาที่ประกอบขึ้นด้วยเหตุการณ์มากมายบนเส้นทางที่มีทั้งก้อนอิฐ ดอกไม้ ขวากหนาม สลับสับเปลี่ยนกันไป แต่ไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนความตั้งใจของการทำหนังสือพิมพ์คุณภาพเพื่อคุณภาพของประเทศ ไม่ว่าเมื่อวาน วันนี้ หรือวินาทีต่อไปข้างหน้า

‘ผมไม่เชื่อว่าอุดมการณ์มันตาย’

ฐากูร บุนปาน

‘แต่คุณจะทำยังไงให้อุดมการณ์กับความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าตอบแทน เรื่องชีวิตความเป็นอยู่มันเดินคู่ไปด้วยกันได้ ผมไม่เชื่อว่าคนทำอาชีพนี้จะไม่เหลือ เพราะโดยตัวมันเองมีเสน่ห์บางอย่าง เป็นงานที่สนุก ได้เป็นผู้จับตาและสังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลง เป็นผู้รายงานความเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันยังได้เจอคนที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่นักการภารโรง พนักงานระดับล่างสุด จนถึงนายกรัฐมนตรี หรือซีอีโอบริษัท ทำให้มุมมองต่อชีวิตแหลมคมขึ้น เพราะคุณได้เห็นบทเรียนของคนอื่น เรียนรู้ชีวิตของคนอื่น”

บทสัมภาษณ์สุดท้าย 9 มกราคม 2562
ฐากูร บุนปาน
อดีตรองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

เปิดบันทึก (ก่อนจะเป็น) ‘มติชน’ บนเส้นทางสู่พรุ่งนี้

2515 หลัง ขรรค์ชัย บุนปาน และ สุจิตต์ วงษ์เทศ ถูกไล่ออกจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ตัดสินใจเปิดโรงพิมพ์ “พิฆเณศ” ย่านแพร่งสรรพศาสตร์ รับจ้างพิมพ์หนังสือทุกชนิด

มองลอดรั้วอดีตโรงพิมพ์พิฆเณศ รับจ้างพิมพ์หนังสือทุกชนิด

2517 ขรรค์ชัย บุนปาน, สุทธิชัย หยุ่น และ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ออกหนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติ’ โดยทูลขอหัวหนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติ’ รายสัปดาห์ จาก พลเรือตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือ พระองค์วรรณฯ

ความตอนหนึ่งในจดหมายของ ‘พระองค์วรรณฯ’ ว่า

“…เมื่อนายขรรค์ชัย บุนปาน มาปรารภกับข้าพเจ้าว่าใคร่จะออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายสัปดาห์ ข้าพเจ้าก็มีความยินดีและอนุโมทนา โดยชี้แจงให้ทราบว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ใน พ.ศ.2475 แล้ว ข้าพเจ้าได้เล็งเห็นความจำเป็นที่จะชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจหลักประชาธิปไตยที่ว่า รัฐบาลเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน หรือว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย ข้าพเจ้าจึงได้จัดการออกหนังสือรายวันให้ชื่อว่า ประชาชาติ…”

ลายพระหัตถ์ ‘พระองค์วรรณฯ’ ประทานหัว นสพ.ประชาชาติ ให้ ขรรค์ชัย บุนปาน

2519 ประชาชาติถูกปิดโดยคณะปฏิวัติ

2521 หนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับแรก วางแผงเมื่อวันที่ 9 มกราคม

2524 เกิดระเบิดที่สำนักงานมติชน ซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ย่านวัดราชบพิธฯ ในสถานการณ์ยื้อแย่งอำนาจในกองทัพและรัฐบาลอันดุเดือด

2532 “มติชน” เข้าตลาดหลักทรัพย์ ในปีที่ ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ อยู่ในวัย 45 ปี

2534 เกิดหนังสือพิมพ์ “ข่าวสด” ในเครือมติชน พร้อมๆ ยุครัฐประหาร มีคำสั่งห้ามนำหนังสือพิมพ์ในเครือมติชนเข้าเขตทหาร

2542 คนร้ายขว้างระเบิดใส่อาคารหนังสือพิมพ์ข่าวสด

2540-2544 สถิติฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ในเครือมติชนพุ่งสูงผิดปกติ ท่ามกลางข่าวขุดคุ้ยปมทุจริต ที่สุดท้ายมีการนำกฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปาก

2553 คนบางกลุ่มรณรงค์ไม่ซื้อหนังสือพิมพ์ในเครือ กีดขวางรถส่งหนังสือพิมพ์ ปลุกระดมในโซเชียลเน็ตเวิร์ก กล่าวหาคนมติชนบนสถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียด มติชนยังยืนหยัดเคียงข้างประชาธิปไตย ปฏิเสธอำนาจมืด

2557 สื่อออนไลน์ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ ผู้บริหารปรับตัวเดินหน้ารับความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี

2563-2565 เกิดโรคระบาดแห่งศตวรรษ โควิด-19 หลากหลายสายพันธุ์ มติชนปรับตัว เดินหน้าตามอุดมการณ์ ไม่ว่าจะอยู่บนแพลตฟอร์มใด ยังยึดมั่นจิตวิญญาณของหนังสือพิมพ์ไม่แปรเปลี่ยน

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image