รัฐบาล เปราะบาง ฝ่ายค้าน เตือนลั่น อย่า ปว. แก้การเมือง

รัฐบาล เปราะบาง ฝ่ายค้าน เตือนลั่น อย่า ปว. แก้การเมือง

รัฐบาล เปราะบาง

ฝ่ายค้าน เตือนลั่น

อย่า ปว. แก้การเมือง

ในที่สุดการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 9 กทม. ก็มาถึง หลังจากที่ก่อนหน้านี้การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.สงขลา และ ส.ส.ชุมพรผ่านพ้นไปแล้ว

Advertisement

ผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.สงขลา และ ส.ส.ชุมพร ปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้กำชัยชนะ

ส่วนสนามเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 9 กทม.นี้ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ส่งตัวแทนลง ปล่อยให้พรรคอื่นๆ อีก 8 พรรคการเมืองลงชิงชัย

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 9 นี้ มีผลต่อทิศทางการเมือง เพราะเป็นเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และเป็นระยะเวลาที่การเมืองกำลังเข้าสู่ปีสุดท้ายของรัฐบาล ทำให้การแข่งขันเข้มข้น

Advertisement

ความเข้มข้นทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งคือผู้ชี้ชนะ

โค้งสุดท้ายก่อนการหย่อนบัตร มีข่าวคราวเกี่ยวกับกลยุทธ์ต่างๆ รวมทั้งกลยุทธ์ตั้งวงเดิมพัน หวังจะเปลี่ยนแปลงผลการโหวตให้แตกต่างจากโพลที่สำรวจออกมา

อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างจะปรากฏชัดแจ้ง ต้องรอวันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม

รอผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 9

รอฟังเจตนารมณ์ของประชาชน

ผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 9 นี้ จะกระทบไปถึงรัฐบาลและฝ่ายค้าน

ขณะที่รัฐบาลเพิ่งได้รับผลสะเทือนจากการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.สงขลา และชุมพรไป โดยทำให้พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ เกิดรอยร้าว

พิษจากผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. 2 จังหวัดนั้น เป็นตัวเร่งทำให้บาดแผลภายในพรรคพลังประชารัฐปริแตก

ขณะที่กระแสภายในพรรคพลังประชารัฐกำลังมองไปที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งขึ้นเวทีปราศรัย แล้วกลายเป็นประเด็นถูกพรรคประชาธิปัตย์โจมตี

หลังจากนั้นได้ปรากฏความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส

เมื่อคืนวันที่ 19 มกราคม คณะกรรมการบริหารและ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ มีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พร้อม ส.ส.อีก 20 คนออกจากพรรค

ทำให้เสียงของรัฐบาลในสภา อยู่ในระดับปริ่มๆ

การประชุมสภาในระยะหลังจึงเสี่ยงต่อการ “อับปาง” ทำให้ปรากฏข่าวประธานในที่ประชุมชิงปิดประชุมหนีสภาล่มอยู่เนืองๆ

แม้ว่ารัฐบาลจะมีจุดอ่อนเมื่อ 21 ส.ส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ต้องพ้นจากพรรคพลังประชารัฐ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็สร้างผลงานชิ้นโบแดง

นั่นคือกาฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย

การเดินทางอย่างเร่งด่วนจากประเทศไทยไปซาอุฯเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม โดย พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมคณะ ประกอบด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ทั้งหมดเดินทางไปเข้าเฝ้า เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย

ภายหลังเสร็จสิ้นการเดินทาง ทั้งซาอุฯ ประกาศฟื้นความสัมพันธ์กับไทย หลังจากที่เคยลดความสัมพันธ์มากว่า 30 ปี

ถือเป็นผลงานรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ขณะเดียวกัน รัฐบาลกำลังเผชิญหน้ากับการตั้งคำถามจากพรรคฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย

น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีที่ บริษัทคิงส์เกตฯ แจ้งว่า รัฐบาลไทยอนุมัติสัญญาเช่าพื้นที่ 4 แปลงให้กับบริษัทและเปิดทางให้กลับมาทำเหมืองแร่ชาตรีได้อีกครั้งหลังจากที่ต้องหยุดดำเนินการตั้งแต่ปี 2560

น.ส.จิราพร มองว่า การที่รัฐบาลยอมให้บริษัทอัคราฯกลับมาดำเนินการได้ก่อนที่จะมีคำชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการเท่ากับเป็นการก้มหน้ายอมรับว่าการใช้มาตรา 44 ปิดเหมืองแร่ทองคำเป็นการกระทำผิดต่อบริษัทคิงส์เกตฯ และถือเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยกำลังจะแพ้คดี จึงยอมเปิดเจรจาเพื่อให้มีการถอนฟ้อง

น.ส.จิราพร บอกว่า คดีเหมืองทองอัคราถูกเลื่อนการออกคำชี้ขาด 3 ครั้ง

ล่าสุดถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 31 มกราคมนี้

หากจำกันได้คดีนี้เกิดขึ้นหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่เป็นหัวหน้า คสช. สั่งปิดเหมืองแร่ ซึ่งในมุมมองของบริษัทเหมืองทองอัครา เห็นว่า คสช. มิอาจใช้ ม.44 ได้ แต่ฝ่ายรัฐบาลแย้งว่า การปิดเหมืองมิได้ใช้อำนาจตาม ม.44

แต่สุดท้ายทุกอย่างก็เป็นคดีระหว่างประเทศ

รอลุ้นว่าวันที่ 31 มกราคมนี้ จะเป็นเช่นไร และผลจากการเป็นเช่นนั้นจะมีผลกระทบทางการเมืองอย่างไร

ไม่เพียงแต่สมาชิกพรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่เปิดประเด็นเหมืองทองอัครา

หัวหน้าพรรคเพื่อไทยอย่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ก็เปิดประเด็น “ได้กลิ่นรัฐประหาร”

นพ.ชลน่าน มองว่า ส.ส. 21 คน เมื่อแยกตัวออกมาแล้ว จะไม่ทำหน้าที่ให้กับฝ่ายเสียงข้างมาก ทำให้เสียงข้างมากทำงานไม่ได้

เมื่อทำงานไม่ได้ นพ.ชลน่าน เห็นว่า ฝ่ายรัฐบาลควรแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน 2 เรื่อง คือ 1.นายกรัฐมนตรีลาออก และ 2.ยุบสภา

ถ้านายกฯยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสิน ฝ่ายค้านก็มีความพร้อมอาสา

แต่สิ่งที่ นพ.ชลน่าน หวั่นว่าจะมีผู้ใช้ทางเลือกที่ 3 ซึ่งไม่สมควรเลือก

นั่นคือ การใช้วิธียึดอำนาจหรือการรัฐประหารแก้ปัญหาทางการเมือง

นพ.ชลน่าน บอกว่า ขณะนี้มีกลิ่นออกมาว่า อาจจะออกแนวนี้

พรรคฝ่ายค้านประกาศคัดค้านและเรียกร้องผู้มีอำนาจ อย่าได้คิดเอาวิธีการนี้มาใช้

เพราะประเทศจะล่มจม

ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะหลังๆ นี้ สะท้อนภาพรัฐบาลที่กำลังอยู่ในห้วงเวลาขาลง

ผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.สงขลา และชุมพร นั้น เมื่อพรรคแกนนำรัฐบาลแพ้ให้แก่พรรคร่วมรัฐบาล และทำให้พรรคประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐหวาดระแวงกันและกัน

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐเดินมาถึงจุด “แยกกันเดิน” โดยกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ไปอยู่พรรคใหม่ คาดว่าชื่อ “เศรษฐกิจไทย”

ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือเสียงฝ่ายรัฐบาลในสภาหายไปมาก

ทำให้รัฐบาลตกอยู่ในสถานะเสี่ยง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า รัฐบาลมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาล ยังมึนจำนวนเสียงจริงๆ ของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลในสภา

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นักการเมืองที่มากด้วยประสบการณ์มองว่า “รัฐบาลเปราะบาง”

แม้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันว่า 21 ส.ส.ที่พ้นพรรคไป ยังหนุนรัฐบาลเหมือนเก่า

แต่ผลจากการประชุมสภา ปรากฏข่าวว่า องค์ประชุมไม่ครบ จนประธานในที่ประชุมต้องปิดหนีล่ม

ปรากฏการณ์ทั้งหมด เพิ่มความเชื่อว่ารัฐบาลเปราะบาง

ในสถานการณ์เช่นนี้ ผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 9 จึงมีความสำคัญ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งควรออกไปใช้สิทธิกันมาก

เพราะผลการโหวตจะมีผลทางการเมือง

ผลที่ออกมาจะเสริมความเข้มแข็งให้รัฐบาล หรือทำให้รัฐบาลเปราะบางลงไปอีก

ไม่นานคงได้รู้กัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image