มีลุ้นสหรัฐต่อจีเอสพี พณ.โชว์ไทยใช้สิทธิเอฟทีเอปี64พุ่ง31%สูงสุด6ปี และใช้สิทธิจีเอสพีก็โต 31% 

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในปี 2564 มีมูลค่ารวม 76,312.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 31.40% เทียบปีก่อน และมีสัดส่วนการใช้สิทธิสูงถึง 78.17 % โดยเป็นการใช้สิทธิ เพิ่มขึ้นสูงในทุกตลาด ดังนี้ อาเซียน ขยายตัว 35.91% ออสเตรเลีย 21.28% ชิลี 72.66 % จีน 33.61 5% อินเดีย 48.17 ญี่ปุ่น 8.46% เกาหลีใต้ 38.30 % นิวซีแลนด์ 49.26% และ เปรู 143.17% สินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ ยานยนต์ ผลไม้ อาหารแช่แข็ง/อาหารปรุงแต่ง เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ ตู้เย็น และ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น โดยตลาดที่มีมูลค่าสูงสุด ได้แก่ อันดับแรก อาเซียน อันดับแรกไป เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ อาทิ ยานยนต์สำหรับขนส่งของที่น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน รถยนต์สำหรับขนส่งบุคคล น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส เครื่องปรับอากาศ ผลไม้สด ฝรั่ง มะม่วง มังคุดสดหรือแห้ง เป็นต้น ตามด้วยจีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย จึงทำให้การใช้สิทธิปี 2564 ที่มีมูลค่า 76,312.79 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่ามีมูลค่าสูงสุดในรอบ 6 ปี นับจากปี 2558 สัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอ เทียบมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์เอฟทีเอ กับมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษในการลดภาษีภายใต้เอฟทีเอ 5 อันดับแรก คือ ไทย-เปรู อาเซียน-จีน ไทย-ชิลี ไทย-ญี่ปุ่น และ 5 อาเซียน-เกาหลี

นายพิทักษ์ กล่าวว่า ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ทั้ง 4 ระบบที่ไทยได้รับสิทธิพิเศษอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ สหรัฐ สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ปี 2564 มีมูลค่า 3,612.68 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.14% เทียบกับปี 2563 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 61.94% โดยไทยยังคงใช้สิทธิส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 31.65% และใช้สิทธิส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชเพิ่มขึ้น 25.27% ขณะที่การใช้สิทธิส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์ลดลง 2.01% และ 16.12% ตามลำดับ
ทั้งนี้ การส่งออกของไทยขอใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกไปยังตลาดสหรัฐมากที่สุด สัดส่วน 91.82% ของการส่งออกโดยใช้สิทธิจีเอสพีทั้ง 4 ระบบของไทยในปี 2564 มีมูลค่าส่งออกโดยใช้สิทธิสูงถึง 3,317.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีสินค้าส่งออกสำคัญ คือ ถุงมือยาง ขยายตัวสูง 45.83% ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ ขยายตัวสูงถึง 44.27% กรดมะนาวหรือกรดซิทริก ขยายตัว 89.21% ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ขยายตัว 37.03% และหลอดหรือท่อทำด้วยทองแดงบริสุทธิ์ ขยายตัว202.45%

” สำหรับการต่ออายุโครงการจีเอสพี ของสหรัฐ ที่สิ้นสุดโครงการ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 นั้น ยังอยู่ระหว่างที่ทางรัฐสภาสหรัฐ พิจารณาผ่านร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่ออายุโครงการ โดยคาดว่าจะได้รับการผ่านความเห็นชอบในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ ในการต่ออายุโครงการจีเอสพีครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐฯ จะปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการพิจารณาประเทศที่จะได้รับสิทธิจีเอสพี ให้สะท้อนกับประเด็นที่รัฐบาลสหรัฐ ให้ความสำคัญ อาทิ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านแรงงาน ด้านสิทธิสตรี เป็นต้น ให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ” นายพิทักษ์ กล่าว

นายพิทักษ์ กล่าวต่อว่า การขอใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการนำเข้าสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ปี 2564 มีมูลค่า44,871.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 25.63% ของมูลค่าการนำเข้าภายใต้เอฟทีเอ สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าสูง ได้แก่ เหล็ก จากญี่ปุ่น จีน เกาหลี ผักและผลไม้จากจีน อาเซียน โดย 3 ตลาดที่มีมูลค่าการนำเข้าใช้สิทธิเอฟทีเอสูงสุด ได้แก่ ตลาดจีน ในสินค้าเหล็ก สิ่งก่อสร้าง แอปเปิ้ล ล้อและส่วนประกอบ และหลอดหรือท่อ ทำด้วยทองแดง
ตลาดอาเซียน เช่น อาหารปรุงแต่ง ข้าวโพด มันสำปะหลัง เครื่องรับสำหรับโทรทัศน์ และลวดทำด้วยทองแดงบริสุทธิ์ เป็นต้น ตลาด ญี่ปุ่น เช่น เหล็กและตัวก่อปฏิกิริยา พวงมาลัย แกนพวงมาลัย และกระปุกเกียร์ เป็นต้น

Advertisement

นายพิทักษ์ กล่าวอีกว่า ปี 2564 กรมออกหนังสือสำคัญการส่งออก-นำเข้าสินค้า 1,172,027 ฉบับ มูลค่าการค้า 96,615.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.72 %จากปีก่อน ปัจจัยช่วยให้กรมสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องและไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ กรมได้นำนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก และลดขั้นตอน ลดระยะเวลา และลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการไทย ในส่วนของการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) กว่า 92 ของปริมาณการออกหนังสือสำคัญทั้งหมด กรมผลักดันการใช้ระบบการลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสะดวกและช่วยลดการใช้กระดาษไปได้กว่า 4.4 ล้านแผ่นต่อปี และช่วยลดการใช้งบประมาณรัฐกว่า 790,000 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image