อนาคตตลาดผู้สูงวัย ก้าวกระโดดทั่วโลก สนค.แนะเร่งพัฒนาสินค้าและบริการ

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยถึงตลาดสินค้าสำหรับผู้สูงวัยมีอนาคตสดใส เมื่อสังคมผู้สูงวัยเป็นอีกหนึ่งเมกะเทรนด์โลก ในศตวรรษที่ 21 จากแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) คาดไว้ว่าปี 2573 จะมีประชากรสูงอายุมากถึงประมาณ 1.4 พันล้านคน และเพิ่มเป็น 2 พันล้านคนในปี 2593

นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ปี 2562-2593 ทวีปเอเชียจะมีประชากรสูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมากที่สุดในโลก โดยประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงวัยเฉลี่ยต่อประชากรทั้งประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวเท่ากับ 17.2% เป็นอันดับ ที่ 5 ของเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ รองจากเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน และมาเก๊า ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุปี 2564 ประเทศไทยมีผู้สูงวัย 13.8 ล้านคน สัดส่วน 20%ของประชากร และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ปี 2565 คาดปี 2583 สัดส่วนเพิ่มเป็น 31.3%

ส่วนสินค้าและบริการผู้สูงวัย มีความต้องการสินค้าและบริการครอบคลุมในหลายกลุ่ม และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากการวิเคราะห์การเพิ่มขึ้นของจำนวนจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ของธุจกิจดูแลผู้สูงอายุ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2562 ขยายตัว 48.6% ส่วนปี 2563 แม้เผชิญโควิด-19 จำนวนจดทะเบียนยังขยายตัว 3.5% และ 3 เดือนปี 2564 ขยายตัว 79.3% ปัจจัยหลักที่ผู้สูงวัยต้องการคือการดูแลสุขภาพ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย โภชนาการ และการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น

ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคตทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ 1.สินค้าอัจฉริยะ ที่ตอบโจทย์ของผู้สูงวัย ทั้งทางด้านการใช้งานและมีภาพลักษณ์สวยงาม เช่น บ้านอัจฉริยะ ที่สั่งการด้วยเสียง รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ หุ่นยนต์อัจฉริยะ 2.อุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ดูแลผู้สูงอายุ มูลค่าการส่งออกที่ไทยส่งออกไปตลาดโลก ระหว่างปี 2562-64 ขยายตัวต่อเนื่องในอัตรา 0.7% 5.4% และ 18.1% ตามลำดับ สะท้อนถึงความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ สนค.ประเมินปี 2565 การส่งออกเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ คาดสูงถึง 19.2% สร้างรายได้กว่า 32,000 ล้านบาท

Advertisement

3.ธุรกิจบริการทางการแพทย์และบริการสุขภาพ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร อาทิ ธุรกิจ Digital Healthcare ธุรกิจ Medical Information Technology ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใหม่สำหรับประเทศไทยแต่นับเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มและจะเติบโตสูงในอนาคต รองรับการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคของไทย 4.ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ตลาดธุรกิจกลุ่มนี้เติบโตอย่างต่อเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกที่เพิ่มขึ้นจาก 2,400 ล้านเหรียญเหรียญสหรัฐ ในปี 2543 เป็น 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 ขยายตัว 358% ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวจากการที่ประชากรโลกมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น โดยไทยเป็นประเทศอันดับ 5 ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางและใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากที่สุด รองจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ตุรกี และเบลเยียม แม้ว่าสถานการณ์โควิดจะทำให้ธุรกิจนี้หยุดชะงัก  แต่แนวโน้มของสถานการณ์ที่รุนแรงน้อยลง คาดว่าธุรกิจจะกลับมาฟื้นตัวและไทยจะเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของต่างชาติอีกครั้ง 5.สินค้าอื่นๆ ได้แก่ เทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการสื่อสารที่เชื่อมต่อการสื่อสารของผู้สูงวัย สินค้าไลฟ์สไตล์ อุปกรณ์ตกแต่งภายในอาคาร อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ สินค้าเพื่อความงามเฉพาะด้าน เป็นต้น ซึ่งหากมีนวัตกรรมในการพัฒนาสินค้าทั้งด้านการใช้งานที่สะดวก ปลอดภัย เพิ่มคุณภาพชีวิต และรูปลักษณ์สวยงาม ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงวัย จะเป็นโอกาสในการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สินค้าสำหรับผู้สูงวัยของไทยที่มีศักยภาพในตลาดต่างประเทศ ได้แก่ 1.อุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ดูแลผู้สูงอายุ ได้แก่ รถเข็น ฟันปลอม เครื่องช่วยฟัง ข้อต่อเทียม โดยในปี 2564 ไทยส่งออกไปยังตลาดโลกมูลค่า 18.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 34.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ตลาดคู่ค้าสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ฮ่องกง ไต้หวัน ลาว เมียนมา 2. สินค้าสุขภัณฑ์และสุขอนามัย ปี 2564 ไทยส่งออกมูลค่า 0.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 65.9 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สินค้าที่สำคัญ ได้แก่ เก้าอี้นั่งสุขา ภาชนะรองรับการขับถ่ายบนเตียง ตลาดคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนค์ กัมพูชา และเมียนมา นอกจากนี้ สินค้านวัตกรรม ที่แม้ว่าในปัจจุบันมูลค่าการส่งออกจะยังไม่สูงมาก แต่มีแนวโน้มดีในอนาคต อาทิ ห้องน้ำพกพา ที่ใช้นวัตกรรม liquiddrop ตลาดส่งออก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง 3.อาหารเสริม ปี 2564 ส่งออกไปยังตลาดโลกมูลค่า 3 แสนเหรีญสหรัฐ ขยายตัว 65.6% เทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีตลาดคู่ค้า คือ ออสเตรเลีย บรูไน บาห์เรน แอลจีเรีย และบังคลาเทศ

“จากแนวโน้มการเติบโตของตลาดสินค้าผู้สูงวัย ถือเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ให้ต่อยอดจากธุรกิจการรักษาพยาบาล และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ประเทศไทยมีฐานเดิมที่แข็งแรงอยู่แล้ว ไปสู่การยกระดับการให้บริการคุณภาพสูง และการผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์สมัยใหม่ ตลอดจนอุปกรณ์ดูแลผู้สูงอายุ“ นายรณรงค์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image