คินเซนทริค เปิดตัวโครงการค้นหาสุดยอดนายจ้างดีเด่น ประจำปี 2565 เผยเคล็ดดึงคนเก่งยังร่วมงานยุคที่โลกเปลี่ยน

ดร. อดิศักดิ์ จันทรประภาเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คินเซนทริคประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประกวดสุดยอดองค์กรนายจ้างดีเด่น ครั้งที่ 22 ปี 2565 หรือ Kincentric Best Employer Thailand 2022 โดยเทรนด์การบริหารทรัพยากรบุคคลในปี 2565 มี 9 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่ 1.การดูแลการบริหารจัดการคนเก่ง 2. การกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อคัดกรองคนเก่งให้เข้าทำงาน 3.ทบทวนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ 4.หลายองค์กรเริ่มลดช่องว่างและประสานความร่วมมือระหว่างสายงาน และให้ผู้บริหารเข้ามามีส่วนร่วมกับพนักงาน เพื่อขับเคลื่อนผลิตผลให้มากขึ้น 5.หาเทคโนโลยีมาจัดการเพื่อรับฟังพนักงานให้มากขึ้น 6.วางแผนผู้สืบทอดตำแหน่งให้ลึกขึ้น 7.วางแผนเส้นทางอาชีพรองรับโอกาสการเติบโตของพนักงาน 8.ลงทุน Diversity Equity และ Inclusion และ 9.เพิ่มส่วนงาน HR โดยใช้เทคโนโลยีในการ Transform

สำหรับการประกวดสุดยอดองค์การนายจ้างดีเด่น ปี 2564 มีประเด็นน่าสนใจ คือ หลายองค์กรได้ออกแบบ Business Model ใหม่ๆ ให้สามารถแข่งขันในธุรกิจได้ มีการจัดสรรกำลังคนที่เหมาะสม และเน้นนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้เพื่อลดช่องว่างและประสานความร่วมมือระหว่างสายงาน ทั้งนี้ โดยรวมสามารถสร้างความผูกพันกับพนักงานถือว่าทำได้ดีมาก มีการสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงาน และการสร้างวัฒนธรรมในองค์กร ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ที่สำคัญรวมถึงการลงทุนในการสร้างการเรียนรู้และสร้างการเติบโต

นอกจากนี้ ยังพบว่าองค์กรที่เป็น The Best Employers มี 5 แนวทางในการปฏิบัติ ประกอบด้วย 1.การสื่อสารที่โปร่งใสเพื่อให้พนักงานมีความเข้าใจตรงกัน 2.องค์กรมีการพัฒนาและหาประสบการณ์ความเป็นเลิศ 3.องค์กรพยายามมองหายุทธศาสตร์เพื่อปรับตัว 4. Flexible Workplace เพื่อตอบโจทย์ Hybrid Workplace และ 5. วางแผนอัตรากำลังคนทั้งระยะกลางและระยะยาว

ดร.ชัยพงษ์ พงษ์พานิช รองผู้อำนวยการ ด้านวิชาการ คินเซนทริคประเทศไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงยืดเยื้อและยาวนาน เสมือนเป็นสนามทดลองที่ใหญ่ที่สุดในโลกในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคน จากที่ไม่เคยใช้โปรแกรมประชุมออนไลน์ ก็ต้องเรียนรู้ที่จะใช้ เพื่อให้องค์กรทำงานต่อไปได้ ขณะเดียวกัน Mindset ของคนเปลี่ยนแปลงไปด้วย ส่งผลต่อวัฒนธรรมองค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน ทำให้องค์กรจะใช้วิธีการเดิม ๆ มาบริหารจัดการคนไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ต้องมีกลไกในการทำงานบนโลกออนไลน์ที่แตกต่างกว่าเดิม เช่น เรื่องของ Metaverse สำหรับการทำงานในอนาคต

Advertisement

เอย่า เสวนสัน ที่ปรึกษาอาวุโสและผู้จัดการสายงานด้านการประเมินและพัฒนาผู้นำองค์กร คินเซนทริคประเทศไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีการลาออกของพนักงานจำนวนมาก หลายคนจากที่เคยเป็นนายจ้างต้องมาเป็นลูกจ้างแทน ขณะที่บางองค์กรไม่มีการจ้างพนักงานมาทดแทนใหม่ อย่างไรก็ตาม ในโลกของการทำงานในปัจจุบันที่ความคิดของคนเปลี่ยนไป ทำให้องค์กรต้องตั้งคำถามถึงคุณค่าและความสำคัญของคนทำงานว่ามีคุณภาพชีวิตเป็นอย่างไร เช่น การมีเวลาให้กับครอบครัว มีเวลาในการทำสิ่งที่ชอบ

โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีทางเลือกในการทำงานมากขึ้น บางคนสามารถหารายได้จาก E-Commerce หรือแม้แต่การเล่นเกมเพื่อหารายได้ การลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี สิ่งต่างๆ เหล่านี้ มาเติมเต็มความสุข และปัจจุบันดูเหมือนว่าพนักงานจะถือไผ่ที่เหนือกว่า เพราะหลายคนเหนื่อยล้ามาร่วม 2 ปี อาจจะทบทวนตัวเองใหม่ ทำให้ผู้บริหารองค์กรต้องปรับตัวเพื่อสรรหาคนใหม่มาทดแทน หรือไม่อาจจะต้องมีความยืดหยุ่น หากพนักงานไม่กลับมาทำงาน เช่น อาจจะให้มีการทำงานที่บ้านต่อไปเพื่อเป็นทางเลือก เพราะมีประสิทธิภาพเหมือนกัน

นลิน เตชะสกุลสิน ที่ปรึกษา คินเซนทริคประเทศไทย กล่าวว่า จากการประกวดสุดยอดองค์กรนายจ้างดีเด่นในปีที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มองค์กรที่ได้เป็นสุดยอดนายจ้างดีเด่น มีคะแนนความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรร้อยละ 87 โดยเฉลี่ย ซึ่งมากกว่าองค์กรทั่วไปที่มีผลคะแนนความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรอยู่ที่ร้อยละ 70 โดยเฉลี่ย ซึ่งองค์กรสุดยอดนายจ้างดีเด่นมีการสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่พนักงานในมิติต่างๆ ที่เป็นเลิศกว่าองค์กรทั่วไป ทั้งในมิติด้านความคล่องตัวขององค์กร (Agility) มิติด้านผู้นำองค์กร (Engaging Leader) และมิติด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล (Talent Focus)

Advertisement

บุปผาวดี โอวรารินท์ Chief People and Brand & Communications Officer, Krungthai-AXA Life Insurance PCL กล่าวว่า ในช่วงวิกฤตโควิด-19 บางองค์กรต้องปิดตัว แต่กรุงศรีมองว่าคนยังเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนให้กับองค์กร โดยสิ่งแรกที่ให้ความสำคัญคือความรู้สึกของพนักงาน ให้มีความปลอดภัยในการทำงาน ทั้งการจัดหาโรงพยาบาลและการจัดหาวัคซีน รวมทั้งให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ กำหนดให้เป็นนโยบาย Smart Working คนไหนที่เครื่องมือไม่พอ ก็มีการจัดหาคอมพิวเตอร์ไปติดตั้งที่บ้านของพนักงาน เพื่อให้ทำงานได้ทันที หรือแม้แต่ระบบ Call Center เพื่อให้พนักงาน Work from home 100 % รวมทั้ง เรื่องของการตรวจสุขภาพของพนักงานประจำปี ให้มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เช่น การทดสอบพฤติกรรมการนอน การรับประทานอาหารของพนักงาน เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างครอบครัวและตัวพนักงาน การปรับเปลี่ยนดังกล่าว ทำให้กรุงไทยมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก

อครินทร์ ภูรีสิทธิ์ Head of People Group and Acting Digital Transformation ในเครือเซ็นทรัลพัฒนา กล่าวว่า ธุรกิจช้อปปิ้งเซ็นเตอร์แบบเดิมไม่ตอบโจทย์ลูกค้าแล้วในปัจจุบัน เรามองเห็นเทรนด์นี้มาแล้วหลายปี และได้ปรับตัวตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว โดยวางธุรกิจตัวเองเป็น Center of Live ให้บริการทั้งท่องเที่ยว โรงแรม และศูนย์ประชุม แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 จึงมองเห็นพลังของคนในประเทศที่ร่วมกันเพื่อให้ประเทศอยู่รอด แต่เป็นพลังในทางลบ การขับเคลื่อนองค์กรในปัจจุบัน ก็ต้องมาคิดใหม่ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้คนอยากกลับมาทำงาน ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน หรือคู่ค้า และร้านค้าที่เคยอยู่กับเรา เป้าหมายทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตไปด้วยกัน

ทั้งนี้ เพราะเทรนด์หนึ่งที่มองเห็นคือ คนไม่ต้องการทำงานหาเงินอย่างเดียว มุมหนึ่งชีวิตคนทำงานต้องมีความสมดุล จึงต้องมีกลไกความร่วมมือและการเป็นพันธมิตร ร้านค้าที่อยู่ในห้างสามารถที่จะรับข้อมูลข่าวสารโดยตรง จากผู้บริหาร ห้างเองก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารกับคนในองค์กรมีการเปิดโอกาสได้สอบถาม และปัจจุบันทางเซ็นทรัลมีการพัฒนา Connect Live เพื่อสื่อสารกับพนักงาน ในสัดส่วน 50-60% ถือว่ามีส่วนทำให้วัฒนธรรมองค์กรเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมาก

อภิรักษ์ วาราชนนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 มีผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากโรงหนังเป็นธุรกิจแรกที่โดนปิดกิจการยาวถึง 6 เดือน และเป็นธุรกิจที่อยู่ในอันดับสุดท้ายที่รัฐบาลให้เปิดกิจการ ด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ต้องดำเนินการหลายอย่างทั้งเรื่องของการบริหารต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย บริหารสภาพคล่อง, จัดการคน และมองหาช่องทางใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นนำข้าวโพดคั่ว (Popcorn) ขึ้นไปขายบนออนไลน์ ทั้งบนลาซาด้าและ Shopee และช่องทางโมเดิร์นเทรด ทำให้เริ่มมีรายได้เข้ามา รวมทั้งการจัดตั้งค่ายหนังของตัวเอง โดยตั้งเป้าผลิตภาพยนต์ปีละ 20 เรื่อง เพราะหนังฮอลลีวู้ดถูกเลือนตารางหมด เมเจอร์ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เพื่อเข้าสู่โลกดิจิทัลเพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้อนาคต เพราะมิเช่นนั้นเมเจอร์จะถูกดิสทรัปชั่นไปด้วย

ปอลิน ปอแก้ว ผู้จัดการโครงการประกวดสุดยอดองค์กรนายจ้างดีเด่น ประจำปี 2565 กล่าวว่า การประกวดสุดยอดนายจ้างดีเด่น เป็นการสำรวจผ่านเครื่องมือและกระบวนการสำรวจมาตรฐานของคินเซนทริคที่ใช้เหมือนกันทุกบริษัทที่เข้าร่วมโครงการทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยเป็นการเก็บข้อมูลเชิงลึกจากองค์กรผ่าน 3 แหล่งข้อมูล คือ 1) การสำรวจความคิดเห็นของพนักงานผ่าน 4 มิติหลัก ได้แก่ ความผูกพันของพนักงาน (Employee Opinion Survey) ความคล่องตัวขององค์กร (Agility) ผู้นำองค์กร (Engaging Leader) และการบริหารทรัพยากรบุคคล (Talent Focus) 2) การประเมินประสิทธิภาพของงานทรัพยากรบุคคลผ่านเครื่องมือ People Practices Index โดยใช้ Maturity Model และ 3) การสำรวจมุมมองของผู้บริหารสูงสุดขององค์กรด้านกลยุทธ์องค์กร รวมถึงกลยุทธ์และแนวทางการบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อขับเคลื่อนองค์กร

สำหรับโครงการสุดยอดนายจ้างดีเด่นประจำปี 2565 ได้เปิดให้องค์กรที่สนใจลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม โดยจะมีการเก็บข้อมูลจนถึงวันที่ 26 สิงหาคมนี้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image