เอคอมเมิร์ซ ผนึก DKSH ลุยตลาดอีคอมเมิร์ซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายวีระพงษ์ (พอล) ศรีวรกุล ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ aCommerce กล่าวว่า บริษัทฯได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ DKSH เพิ่มเติมจากที่เป็นพันธมิตรกันมาตั้งแต่ปี 2558 โดยข้อตกลงใหม่นี้ DKSH จะร่วมมือเป็นพาร์ทเนอร์กับ aCommerce เพียงรายเดียว สำหรับการให้บริการธุรกิจ online แบบ B2C ทั้งหมดในประเทศที่ aCommerce ดำเนินการ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดย DKSH จะโอนและแนะนำแบรนด์ที่ต้องการขยายธุรกิจ online B2C ในประเทศดังกล่าวมาให้กับ aCommerce ทั้งหมด

ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 แบรนด์ที่ใช้บริการของเราแบบ end-to-end เพิ่มขึ้นจาก 120 แบรนด์ เป็น 168 แบรนด์ ส่วนใหญ่รับโอนมาจาก DKSH โดยเฉพาะลูกค้าในมาเลเซีย และสิงคโปร์ ทำให้มีโอกาสได้ให้บริการแก่แบรนด์ใหม่ๆ หลายรายจาก DKSH

นอจากนี้ ได้วางแผนที่จะเร่งขยายธุรกิจไปยังเวียดนามหลังจากที่เสนอขายหุ้น IPO เพื่อสนับสนุน DKSH และแบรนด์ในระดับโลกและภูมิภาคที่เป็นลูกค้าของเราในปัจจุบัน ที่ต้องการให้เราให้บริการในประเทศเวียดนาม

นับจากเริ่มดำเนินธุรกิจปี 2556 บริษัทฯ เชื่อมต่อแบรนด์กับผู้บริโภคปลายทางแล้วกว่า 12 ล้านราย โดย ณ สิ้นปี 2564 บริษัทฯ มีแบรนด์สินค้าในไทยและระดับโลกที่ใช้บริการถึง 168 ราย ซึ่งมาจากหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ 3เอ็ม, ยูนิลีเวอร์, ควิกซิลเวอร์, นารายา ฯลฯ บริหารจัดการสินค้ากว่า 39,221 รายการ และบริหารจัดการีคำสั่งสั่งซื้อถึง 8.02 ล้านรายการ ขณะที่มูลค่าคำสั่งซื้อสินค้าเฉลี่ยใน 5 ประเทศที่ให้บริการ ณ ไตรมาส 4/2564 อยู่ที่ 1,331.2 บาทต่อออเดอร์ เทียบกับไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 1,059 บาทต่อออเดอร์ และเป็นไตรมาสที่บริษัทฯ เริ่มมีกำไรสุทธิอยู่ที่กว่า 45.9 ล้านบาท

Advertisement

สำหรับภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคอาเซียน นายวีระพงษ์ กล่าวว่า มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทวิจัยการตลาดชั้นนำ Euromonitor คาดการณ์ว่าภาพรวมการทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์) จะมีมูลค่าตลาดรวมเพิ่มขึ้นจาก 52,302 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 เป็น 129,152 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 หรือเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 19.8 ต่อปี จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 การเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตอย่างครอบคลุมและการพัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับภาพรวมตลาดผู้ให้บริการสนับสนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดรวมเพิ่มขึ้นจาก 2,331 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 เป็น 10,740 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 จากการปรับตัวของแบรนด์สินค้าที่ต้องการจำหน่ายสินค้าแบบหลากหลายช่องทาง (Omnichannel)

บริษัทฯ จึงวางกลยุทธ์ขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1.มุ่งพัฒนาความสัมพันธ์ในฐานะพันธมิตรกับกลุ่มผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรระดับโลกของบริษัทฯ เพื่อเพิ่มจำนวนแบรนด์และรายการสินค้า 2.ลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการ 3.ขยายพื้นที่ให้บริการไปยังประเทศเวียดนามและยกระดับการดำเนินธุรกิจในมาเลเซียเพื่อสร้างการเติบโตที่ดี 4.ขยายฐานผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรรายใหม่และกลุ่มสินค้าใหม่ๆ ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ 5.มุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ EcommerceIQ SaaS ทั้งในด้านคุณสมบัติการใช้งานและความปลอดภัยในการรักษาข้อมูลเพื่อขยายฐานผู้ใช้บริการรายใหม่เพิ่มขึ้น และ 6. พิจารณาเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีและขยายตลาดในประเทศใหม่ๆ

ทั้งนี้ โอกาสในการควบรวมกิจการมีอยู่เป็นจำนวนมากสำหรับผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด ecommerce enabler ที่มีความ fragmented ตัวอย่างเช่น ผู้เล่นอันดับ 1-5 ในประเทศเวียดนามมีมูลค่าสินค้าที่บริหารจัดการรวมกันทั้งหมดน้อยกว่า GMV ของ aCommerce ในปี 2563 ทำให้ aCommerce มีโอกาสเข้าซื้อกิจการหรือเข้าร่วมทุนและพัฒนาศักยภาพของของกิจการร่วมทุนในอนาคตให้เติบโต

Advertisement

นางสาวเพ็ญสิริ เสถียรวงศ์นุษา ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประจำประเทศไทย (CEO) บริษัท เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมาเติบโตอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีมูลค่าตลาดรวมเพิ่มขึ้นจาก 1,705 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2559 เป็น 8,520 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 หรืออัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 49.5 จากข้อมูลของ Euromonitor ซึ่งคาดการณ์ว่า ในปี 2563 – 2568 จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 20.6 โดยจะมีมูลค่าตลาดรวมเพิ่มขึ้นจาก 10,140 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564 เป็น 21,712 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 เนื่องจากรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาระบบจัดส่งสินค้าและการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่คาดว่าจะสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ต่อไป ถึงแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในอนาคตจะคลี่คลาย โดยบริษัทฯมีส่วนแบ่งตลาดไทยในปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 39.1 ของส่วนแบ่งทางการตลาดของยอดขายสินค้าจากต้นทางไปยังปลายทาง (EMV) ในประเทศไทยที่ 192.8 ล้านเหรียญสหรัฐ จากข้อมูลของ Euromonitor

“บริษัทฯ วางแผนขยายฐานลูกค้าผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรอย่างต่อเนื่อง ทั้งผู้ใช้บริการรายใหม่และผู้ใช้บริการที่เป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นในแต่ละประเทศ โดยจะขยายพื้นที่ให้บริการไปยังประเทศใหม่ๆ และขยายฐานผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซกลุ่มสินค้าประเภทอื่นๆ ที่มีศักยภาพการเติบโต สามารถสร้างอัตรากำไรและกระแสเงินสดสูง เช่น กลุ่มของเล่น สินค้าตกแต่งบ้านและสวน” นางสาวเพ็ญสิริ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image