1,825 วัน ดอกความคิดถึงจงเบ่งบาน รำลึก 5 ปี วิสามัญ‘ชัยภูมิ ป่าแส’

1,825 วัน ดอกความคิดถึงจงเบ่งบาน รำลึก 5 ปี วิสามัญ‘ชัยภูมิ ป่าแส’

ผ่านไปแล้ว 5 ปี กรณีวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวลาหู่ที่ต้องจบชีวิตในวัยเพียง 17 ปี ที่ด่านบ้านรินหลวง จังหวัดเชียงใหม่

ทหารอ้างว่า จากการตรวจค้นรถยนต์ที่ชัยภูมิกับเพื่อนเดินทางมา พบยาเสพติดจำนวนมาก โดยผู้ตายพยายามหลบหนีและปาระเบิดใส่ จึงต้องยิงเพื่อป้องกันตัว ทว่า ปรากฏภาพนิ่งที่สวนทางกัน นั่นคือการยืนให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้นรถอย่างสงบ

ส่วนกล้องวงจรปิดที่บันทึกเหตุการณ์อันตรธานหายไป ยังไม่มีใครต้องรับผิดชอบกับโศกนาฏกรรม

Advertisement

17 มีนาคมที่ผ่านมา ณ บ้านกองผักปิ้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดงานรำลึกครบรอบ 5 ปี ของการเสียชีวิต

Daw naw ve aw ve Ve la pi-o ด้อ น้อ เว อ่อ เวะ เวะ ลา ปิโอ๊

ดอกความคิดถึง จงเบ่งบาน

Advertisement

กระหึ่มในงานที่มีการแสดงดนตรี การเต้นแจโก่ การจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายและเรื่องราวการต่อสู้

นาปอย ป่าแส ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในฐานะ ‘แม่’ ของลูกชายชื่อชัยภูมิ ร่วมขับร้องบทเพลงข้างต้นหน้าหลุมศพ ร่ำไห้อย่างน่าเศร้า

ครอบครัว ญาติมิตร ผู้เคยร่วมงานเดินเท้าร่วมวาง ดอกอ่อเวะ พร้อมกล่าวถ้อยคำรำลึกถึง ในวันที่ครอบครัวยังคงรอคอยความเป็นธรรม

ความยุติธรรมราคาแพง คำขอโทษที่ไม่เคยได้รับ

“ไม่มีอะไรเหมือนเดิมหลังการตายของชัยภูมิ”

คือความในใจของ รัตนาภรณ์ เจือแก้ว จากกลุ่ม ‘ดีจัง Young Team’ ที่รู้จักชัยภูมิตั้งแต่ยังเด็ก รวมระยะเวลายาวนานกว่า 10 ปี

“เขาเติบโตงดงามเห็นคุณค่าในตนเองและส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ นี่ไม่ใช่แค่ความสูญเสียของครอบครัว เพื่อน ชาวลาหู่และสังคม แต่คือความสูญเสียของโลก ชีวิตคนหนุ่มที่เป็นกำลังสำคัญของโลกใบนี้ถูกปลิด ชัยภูมิกำลังสร้างโลกแบบที่เขาฝัน อยากเห็น และอยากให้เป็น กระสุนนัดนั้นพรากโลกที่กำลังจะดีขึ้นด้วยการลงมือทำของเขา แต่เรายังเชื่อว่าเวลาจะอยู่ข้างเรา ความยุติธรรมก็เช่นกัน

1,825 วัน ความยุติธรรมราคาแพง ถูกจ่ายด้วยวันเวลาที่ผ่านไปอย่างเชื่องช้าและเจ็บปวดของทุกคนที่รักชัยภูมิ แต่ถึงแม้จะจ่ายแพงขนาดไหนเราก็ยังไม่เคยได้รับความยุติธรรมอยู่ดี คนผิดไม่เคยถูกลงโทษ ชัยภูมิยังไม่เคยได้รับคำขอโทษจากใครเลยสักครั้ง ขอให้เราได้พบกันใหม่ในโลกที่เห็นคนเท่ากัน” รัตนาภรณ์กล่าว

‘ชัยภูมิ’ ยังอยู่ที่นี่ ขอสังคมอย่าหยุดส่งเสียง

ด้าน วัชรพล นาคเกษม สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมสังคม (SYSI) กล่าวว่า ในฐานะเพื่อนที่ทำงานทางสังคมเหมือนกัน มีเรื่องราวมากมายที่จะพูดถึงชัยภูมิในความหมายของนักสร้างการเปลี่ยนแปลง

“ถ้าวันนี้ชัยภูมิยังมีลมหายใจอยู่เราคงได้เห็นความสามารถมากมาย เป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างแท้จริง นายชัยภูมิคือคนทำงานสร้างสรรค์ เป็นศิลปิน เป็นคนที่เรียกได้ว่าเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวอย่างแท้จริง แม้ว่าจะผ่านไปแล้ว 5 ปีกับการที่นายชัยภูมิไม่ได้อยู่สร้างความฝันให้เป็นจริง แต่ความคิด ความฝัน ความเชื่อของนายชัยภูมิยังอยู่และถูกส่งต่อการเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่ในปี 2563 ซึ่งได้เรียกร้องความเท่าเทียมของกลุ่มชาติพันธุ์ ของคนทุกคน เป็นสิ่งที่นายชัยภูมิคิด เชื่อ ถูกส่งผ่านไปยังขบวนการทางสังคมกลุ่มอื่นและคนรุ่นใหม่ในสังคมด้วย ซึ่งจะเบ่งบานในหัวใจผู้คนไปอีกนาน” วัชรพลกล่าว

วิไลลักษณ์ เยอเบาะ สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) เอ่ยถ้อยคำสะเทือใจว่า ยังรู้สึกว่าชัยภูมิยังอยู่ที่นี่ และเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้คนรอบข้างและชุมชนตื่นรู้แม้เสียชีวิตไปแล้ว สิ่งที่ชัยภูมิได้รับสามารถเกิดขึ้นกับทุกคน สิ่งที่เราทำได้คือต้องไม่หยุดส่งเสียงเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศนี้ คือกระบวนการยุติธรรมที่จะทำให้เกิดความสงบสุขในประเทศไทยได้

“เรารู้สึกว่าชัยภูมิเหมือนอยู่ในทะเลทราย เหมือนดอกหญ้าที่พยายามมีชีวิตรอด และพยายามทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก เขาสามารถเป็นต้นแบบในเรื่องการทำงานเพื่อสังคมและจิตอาสา เสียดายคนที่เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีของสังคม แต่พ่ายแพ้กับกระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้ และกรณีของชัยภูมิกับ พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ เป็นผู้ที่ทำงานเพื่อสังคมแต่ไม่มีความมั่นคงในชีวิต” วิไลลักษณ์กล่าว

จิตวิญญาณ ‘ไม่ยอมแพ้’ ไม่ใช่แค่ความคิดถึง

ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์กร Protection international กล่าวว่า ชัยภูมิเป็นเยาวชนที่มีความมหัศจรรย์มาก แม้จะเสียชีวิตไปแล้วจากการวิสามัญฆาตกรรมของเจ้าหน้าที่ แต่ทุกคนยังจดจำความดีที่เขาพยายามจะเปลี่ยนแปลง ถ้าถามว่าเราคิดถึงอะไร หรือรู้สึกอะไร ใน 1,825 วัน เราคิดถึงความไม่ย่อท้อ ทั้งของแม่ กลุ่มด้วยใจรักและทุกคนที่พยายามตามหาความยุติธรรม มีคำถามที่น่าสนใจจากสื่อมวลชนว่าเกิดอะไรขึ้นกับทหารที่วิสามัญ ได้รับผิดทางอาญาหรือไม่ คำตอบที่เราให้คือไม่มีใครต้องรับผิด ซึ่งในสามัญสำนึกของมนุษย์ทุกคนไม่มีใครสามารถมาพรากชีวิตไปจากคนอื่นได้ เรื่องนี้จึงย้อนแย้งกับสามัญสำนึกของผู้คน ความแข็งกระด้างของกฎหมาย ไม่ใช่ความยุติธรรมและเป็นการปฏิเสธความยุติธรรม

“อยากตอกย้ำว่าการมาระลึกถึงชัยภูมิ ไม่ใช่แค่ความคิดถึงที่เบ่งบาน แต่เป็นเจตนารมณ์ในการหาความยุติธรรมร่วมกัน ซึ่งเบ่งบานตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และตลอดไป เราต้องจำให้ได้ว่ามีผู้คนเท่าไรในสังคมที่เรียกร้องให้เปิดกล้องวงจรปิด เราต้องจำให้ได้ว่ากี่หมื่นกิโลเมตรที่ครอบครัวจะต้องเดินไปเรียกร้องความยุติธรรม แม้จะยังไม่ได้รับ เราต้องจำให้ได้ว่า 1 พันกว่าวัน มี 381 กว่าวันที่ นาหวะ ผู้เกี่ยวข้องกับชัยภูมิต้องใช้ชีวิตในคุก และศาลยกฟ้องคดียาเสพติด แต่ยังไม่ได้รับความยุติธรรมเหมือนกัน ดูเป็นเรื่องยากที่จะหาความเป็นธรรม แต่เขาก็ยังไม่ยอมแพ้ ถ้ายอมเราทุกคนก็คงไม่มาอยู่ที่นี่ และครอบครัวขอยื่นฎีกาในเรื่องเยียวยาความเสียหาย ดังนั้นขอให้จิตวิญญาณในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เคียงคู่ไปกับดอกไม้ที่กำลังเบ่งบานด้วยความคิดถึง” ปรานมกล่าว

ความตายที่ต้องไม่ปล่อยให้ ‘เงียบงัน’
เร่งผลักดันสังคมสู่ความเท่าเทียม

ยุพิน ซาจ๊ะ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่ม ‘ด้วยใจรัก’กล่าวว่า ขอเรียกร้องความยุติธรรมเพื่อให้ได้รับการขอโทษ เรียกร้องให้เปิดกล้องเพื่อพิสูจน์ความจริงที่เขากล่าวหา ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ระยะทางในการตามหาความยุติธรรมนั้นมันแสนลำบากเหลือเกิน ถูกกลั่นแกล้ง ได้รับการดูถูกเหยียดหยาม แต่ก็ไม่เคยหมดหวัง

“5 ปีที่จากกัน ความหวังที่ชัยภูมิได้ฝากไว้ คือต้องการนำเด็กๆ ที่ติดยาออกจากความเป็นทาสแห่งยาเสพติด ต้องการให้เด็กที่ไม่เรียนหนังสือมีการศึกษา และได้ทำกิจกรรมและมีพื้นที่สร้างสรรค์” ยุพินกล่าว

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ผ่านมา 5 ปี เรื่องที่เกิดขึ้นกับนายชัยภูมิเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับคนหนุ่มสาวที่มุ่งหวังจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แต่เมื่อมันเกิดขึ้น สิ่งที่พวกเราได้พยายามทำกันมาคือการเรียกร้องให้เกิดการรับผิด แม้ว่าคำตัดสินอาจจะดูเหมือนเราพ่ายแพ้ แต่การที่เราลุกขึ้นเรียกร้องและสู้ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เราไม่ได้ปล่อยให้นายชัยภูมิต้องจากไปอย่างเงียบงัน แต่พยายามจะทำให้เรื่องราวนี้ถูกพูดถึง

“เมื่อเราได้ลุกขึ้นพูดถึงเรื่องนี้และบอกว่ามันคือความไม่เป็นธรรม มันคือความอยุติธรรม นี่คือเสียงที่สำคัญ เป็นเสียงที่ร่วมสมัยกับความรู้สึกของคนจำนวนมากในสังคมนี้ ที่เราต้องการเห็นความเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ ศาสนา ผิวสี อย่างไร

ชัยภูมิจากไปแล้ว แต่พวกเรายังอยู่ เป็นภาระหน้าที่ เป็นงานของพวกเราที่จะต้องผลักดันสังคมนี้ ผมคิดว่าถ้าชัยภูมิยังอยู่เขาก็คงจะทำในสิ่งที่ทำให้โลกนี้เท่าเทียมกัน ทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น” รศ.สมชายกล่าว ก่อนปิดท้ายว่า

ถ้าเราคิดถึงชัยภูมิ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องร่วมกันผลักดันให้สังคมนี้เป็นสังคมที่น่าอยู่อย่างสันติสำหรับทุกคน

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image