เดินหน้าชน : ‘ทางแยก’สำคัญ

เดินหน้าชน : ‘ทางแยก’สำคัญ

ศบค.เคาะแผนบริหารจัดการสถานการณ์โควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น ออกสตาร์ตกันแล้ว ระยะแรก เป็นระยะต่อสู้ (Combatting) 12 มีนาคม-ต้นเมษายน 2565 ต้องออกแรงกดตัวเลขไม่ให้สูงกว่านี้ เพื่อลดการระบาด ลดความรุนแรงลงต่อด้วยระยะที่ 2 การคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น (Plateau) เมษายน-พฤษภาคม 2565 ส่วนระยะที่ 3 การลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ 1,000-2,000 คน (Declining) ปลายพฤษภาคม-30 มิถุนายน 2565 และระยะที่ 4 ออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่นเดือนกรกฎาคม 2565 (Post pandemic)

เป็นความหวังว่าจะได้เห็นในประเทศไทยเข้าสู่โรคประจำถิ่นเสียที ถ้าคนในประเทศไม่ร่วมจำกัดการแพร่ระบาดผู้ติดเชื้อโควิด หรือไม่เข้าเป้า แผนทุกอย่างก็จะขยับออกไปอีก

นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. ปักธงไปที่เทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ ว่าเป็น “ทางแยก” ที่สำคัญ

Advertisement

“ขณะนี้เรามาถึงทางแยกว่าจะให้การแพร่ระบาดโควิด-19 สิ้นสุดกลางปี 2565 ตามที่ทำนายไว้หรือไม่ แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือเทศกาลสงกรานต์ หากเรากดตัวเลขไว้ไม่อยู่จนขึ้นไปสูง ก็จะลากยาวถึงสิ้นปี ทำให้การใช้ชีวิตลำบากและเศรษฐกิจไม่เดินหน้า ดังนั้น ประชาชนต้องให้ความร่วมมือ”

แต่หลายวันติดต่อกันที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันตกวันละ 2 หมื่นกว่าๆ ผู้เสียชีวิตเกินครึ่งร้อยตลอด

นพ.อุดมบอกว่า “ต้องการจะกดตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ให้เพิ่ม ตามการคาดการณ์กลางปีนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลงมาหลักพันต้นๆ แต่ตัวเลขจะไม่มีทางเป็นศูนย์ ประชาชนต้องช่วยกัน เพราะกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาลทำเต็มที่แล้ว ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้คือ ประมาณ 3 หมื่นรายต่อวัน และไม่อยากให้ยอดผู้เสียชีวิตขึ้นเลข 3 หลักเพราะจะถือว่าเยอะเกินไป”

Advertisement

ขณะเดียวกัน การให้ประชาชนเดินทางข้ามจังหวัดไปพบปะญาติพี่น้อง การร่วมรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ หรือการไปทำบุญที่วัด ต่างๆ เหล่านี้ เหมือนกับสงกรานต์ปีที่แล้ว จะต่างตรงที่ประชาชนส่วนใหญ่ในปีนี้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม กับ 3 เข็ม เป็นจำนวนมาก ประกอบมีโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ที่แพร่เชื้อง่ายขึ้น แต่อาการของโรคไม่แรงเท่ากับสายพันธุ์เดลต้าก่อนหน้านี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขก็ย้ำหนักว่า ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มักเป็นฝ่ายตั้งรับและลูกหลานที่ไปพบปะเยี่ยมเยียนอาจจะเป็นตัวนำเชื้อไปให้ สมควรที่ลูกหลานควรพาไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นกันให้มากไว้ก่อน

ย้อนไปช่วงเดือนเมษายน 2564 หรือปีที่แล้ว การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบ 3 จากคลัสเตอร์สถานบันเทิงทองหล่อ ส่งผลกระทบหนักต่อการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ เกิดการยกเลิกการเดินทางและจองห้องพักมาขึ้น ในสถานที่ท่องเที่ยวหลายจังหวัด ทั้งโบราณสถานไปจนถึงชายทะเล หลายคนตัดสินใจเลื่อนการเดินทางออกไป เพราะไม่อยากเสี่ยง ยังมีการเลิกจัดงานประเพณีสงกรานต์ ทั้งในภาคกลางและภาคอีสาน บางพื้นที่เหลือแค่กิจกรรมสรงน้ำพระตามวัดสำคัญเท่านั้น

สำหรับในปีนี้งานประเพณีกลับมาเริ่มอีกครั้ง จึงมีการย้ำว่า ทุกคนที่ออกเดินทาง นอกจากไปหาความสุข ความสำราญ การไปท่องเที่ยวแล้ว ต้องตั้งการ์ดให้แน่นเข้าไว้ อย่าคิดแค่ว่าอาการโอมิครอนไม่หนัก

หากสงกรานต์ปีนี้มีการแพร่เชื้อที่ยังไม่ลดลง แผนเข้าสู่โรคประจำถิ่นก็อาจต้องเลื่อน และจะกลับไปสู่ลูปเดิม การเรียนของเด็กนักเรียนและนักศึกษาในเทอมการศึกษาหน้า จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก เหมือนกับที่เกิดขึ้นในปีนี้ แทบตลอดปีการศึกษา 2564 นักเรียนหลายโรงเรียนต้องเรียนออนไลน์กันทั้งหมด

จึงขอย้ำว่า ประชาชนต้องร่วมมือกัน นอกจากช่วยตัวเราเอง คนรอบข้างปลอดโรคโควิดแล้ว ยังช่วยประเทศได้กลับมาหายใจอย่างปลอดโปร่งอีกครั้ง การดำเนินชีวิตตามปกติจะเริ่มกลับมา การค้าการขายของกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยก็จะเริ่มฟื้นกลับมาอย่างคึกคักอีกครั้ง

เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image