คลื่นร้อน ขัดแย้ง โควิด เศรษฐกิจเปราะบาง ความระทมไร้พรมแดนของมนุษยชาติ 2021-2022

คลื่นร้อน ขัดแย้ง โควิด เศรษฐกิจเปราะบาง ความระทมไร้พรมแดนของมนุษยชาติ 2021-2022

คลื่นร้อน ขัดแย้ง โควิด เศรษฐกิจเปราะบาง

ความระทมไร้พรมแดนของมนุษยชาติ 2021-2022

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจวบจนวันนี้ สถานการณ์โลกผันผวน มนุษยชาติเดินเข้าสู่ความโกลาหลวุ่นวาย

ล่าสุด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จัดงานแถลงข่าวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2564/65 ซึ่งแน่นอนว่าภาพรวมของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในปีที่ผ่านมา ประชากรโลกยังคงได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งของสงคราม สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่เพียงเท่านั้น แทนที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน นโยบายของรัฐบาลหลายประเทศกลับยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้เกิดความเหลื่อมล้ำและเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

Advertisement

สถานการณ์โลก 2564/65 ขัดแย้ง โรคระบาด อากาศเปลี่ยน

เอร์วิน วาน เดอ บอร์ก รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ฉายภาพสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากผู้นำทางการเมืองและบรรษัทยักษ์ใหญ่ต่างเล็งเห็นผลกำไรและอำนาจของตนสำคัญกว่าประชาชน

“พวกเขาไม่รักษาคำมั่นสัญญาที่จะฟื้นฟูอย่างเป็นธรรมภายหลังการระบาดใหญ่ แม้บริษัทยาขนาดใหญ่จะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐหลายพันล้านเหรียญ แต่พวกเขายังคงให้ความสำคัญกับความโลภของตนเองมากกว่าความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชน”

Advertisement

นอกจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 เอร์วินยังระบุว่า ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ปี 2564 ไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดหวัง รัฐต่างๆ ไม่สามารถตกลงกันได้ด้วยซ้ำเกี่ยวกับพันธกิจที่จะรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกินกว่า 1.5 องศา ซึ่งจะส่งผลให้ประชากรโลกกว่าครึ่งพันล้านคน ที่ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศซีกโลกฝ่ายใต้ ต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ และอีกหลายพันล้านคนต้องได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนที่รุนแรง

“ความขัดแย้งใหม่และความขัดแย้งที่เรื้อรัง ปะทุขึ้นมาทั่วโลก ส่งผลให้พลเรือนได้รับความเสียหาย ทั้งการพลัดถิ่นฐาน ถูกสังหาร ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ และทำให้ระบบสุขภาพและเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้ว ต้องอยู่ในภาวะใกล้ล่มสลาย” เอร์วินกล่าว

ความล้มเหลวระดับโลกในการแก้ไขความขัดแย้งที่ทวีคูณมากขึ้น เร่งให้เกิดความไร้เสถียรภาพและการทำลายล้างในวงกว้าง ความไร้ประสิทธิภาพของมาตรการรับมือระดับโลกต่อวิกฤตเหล่านี้ เห็นได้ชัดเจนมากสุดจากภาวะอัมพาตของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาความทารุณโหดร้ายในเมียนมา การละเมิดสิทธิมนุษยชนในอัฟกานิสถาน และอาชญากรรมสงครามในซีเรียได้

ในขณะที่ความเห็นที่เป็นอิสระเป็นสิ่งจำเป็นมากสุด กลับเกิดแนวโน้มที่มุ่งปราบปรามความเห็นต่างมากขึ้น โดยรัฐบาลได้ใช้เครื่องมือและยุทธวิธีเพื่อปราบปรามอย่างกว้างขวาง

“นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เอ็นจีโอ หน่วยงานด้านสื่อและผู้นำฝ่ายค้าน ต่างตกเป็นเป้าหมายการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การทรมานและการบังคับให้สูญหาย โดยหลายกรณีเกิดขึ้นด้วยการอ้างเหตุผลเกี่ยวกับโรคระบาด” เอร์วินกล่าว

จากการบันทึกข้อมูลของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พบว่า มีอย่างน้อย 67 ประเทศที่ประกาศใช้กฎหมายใหม่ในปี 2564 เพื่อจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบและการสมาคม ขณะที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกควบคุมตัวโดยพลการในอย่างน้อย 84 จาก 154 ประเทศ จากการบันทึกข้อมูลของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

“เราจะต้องพัฒนาต่อยอดแรงต่อต้านที่มีอยู่ของขบวนการประชาชนและกลุ่มอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ เพื่อต่อสู้กับการทรยศของรัฐบาล และต่อสู้กับความพยายามใดๆ ที่จะปราบปรามการแสดงความเห็น ในกว่า 80 ประเทศ ประชาชนได้รวมตัวชุมนุมประท้วงเป็นจำนวนมาก” เอร์วินกล่าว ก่อนย้ำว่า แอมเนสตี้จะเปิดตัวโครงการรณรงค์ระดับโลก เพื่อเรียกร้องให้มีการเคารพสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก และเพื่อทวงคืนพื้นที่ของภาคประชาสังคมกลับคืนมา

เอเชียแปซิฟิก ‘ขาดเสรีภาพ’ ปัญหาดั้งเดิมที่ถูกซ้ำเติมด้วยความขัดแย้ง

ขยับมาใกล้ตัวอีกนิด ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึง สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ว่าการไม่มีเสรีภาพการแสดงออกเป็นปัญหาดั้งเดิมของภูมิภาคเอเชีย เเต่เมื่อมีสถานการณ์โรคระบาดและความขัดแย้งด้วยอาวุธในประเทศเมียนมาและอัฟกานิสถานก็ทำให้ภาพรวมด้านสิทธิมนุษยชนของภูมิภาคเอเชียย่ำแย่ลงอย่างมาก

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล

“เราเห็นพัฒนาการเชิงบวกในหลายเรื่อง ความพยายามจะทำให้การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นเรื่องผิดกฎหมายอาญา รวมไปถึงกฎหมายการทำแท้งที่สอดคล้องกับพัฒนาการทางการแพทย์ ทำให้เราเห็นพัฒนาการเชิงบวกในหลายประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีกฎหมายในลักษณะนี้แล้ว สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะได้รับการคุ้มครอง เราต้องจับตาต่อไป”

สำหรับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ฐิติรัตน์กล่าวว่า ความขัดแย้งและความรุนแรงจากการใช้อาวุธปราบปรามประชาชนในประเทศเมียนมาและอัฟกานิสถาน ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนแทบทุนด้าน และผลกระทบไม่ได้เกิดเฉพาะประชากรในประเทศที่เกิดความขัดแย้ง หากแต่ส่งผลในลักษณะข้ามพรมแดน

“ความรุนแรงไม่ได้เกิดเพียงในขอบเขตประเทศเมียนมา แต่รวมถึงผู้ลี้ภัยที่ออกมาจากประเทศเมียนมาด้วย สื่อมวลชนได้รับผลกระทบ มีการโจมตีพลเรือน บังคับให้โยกย้ายถิ่นฐาน มีการปฏิเสธการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ซึ่งทำให้การคุ้มครองเสรีภาพลดลงอย่างมาก การคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพก็ย้ำแย่ไปด้วย รวมไปถึงสิทธิในด้านการศึกษา การนำโทษประหารมาใช้ในความขัดแย้งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่มากขึ้น” ฐิติรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ ในการใช้กฎหมายเพื่อปิดกั้นเสรีภาพของสื่อและประชาชน มีทั้งการใช้เครื่องมือดั้งเดิมคือกฎหมายหมิ่นประมาทและการใช้กฎหมายในลักษระใหม่ๆ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์

ผลของความขัดแย้งดังกล่าวนำไปสู่การปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชนทั้งในสถานการณ์ความขัดแย้งและการบริหารจัดการโรคระบาดที่รัฐต้องการควบคุมการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสาธารณสุข ซึ่งกระทบต่อสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน

“สถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพในการชุมชนและการวมกลุ่มก็ถูกปิดกั้น มิหนำซ้ำการทำงานของภาคประชาสังคมในหลายประเทศก็ได้รับแรงกดดันจากรัฐบาล โดยเฉพาะในกรณีฮ่องกง และอินเดีย องค์กรเอ็นจีโอหลายแห่งในอินเดียถูกบีบบังคับให้หยุดการทำงานและถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

การสร้างแรงกดดันและข้อจำกัดในการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมก็ทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกเล่นงานไปโดยปริยาย พวกเขาถูกบังคับให้สูญหายและถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

แอมเนสตี้ฯพยายามจะเรียกร้องให้เกิดการคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ เพราะการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเท่ากับเป็นการคุ้มครองประชาชนทั้งหมดด้วย”

การบริหารจัดการสถานการณ์ในภาวะการระบาดของโควิด-19 การที่รัฐพยายามกำจัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและควบคุมข่าวสาร ส่งผลกระทบต่อสิทธิในสุขภาพของประชาชน รวมถึงการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่ไม่สมเหตุผลส่งผลต่อสิทธิในการเข้าถึงอาหารในหลายประเทศ

ผลกระทบของการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดยังส่งผลต่อสิทธิในการทำงาน ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการทำงานในระดับเดียวกันกับที่เคยเป็นก่อนหน้าการระบาด มาตรการการช่วยเหลือที่ไม่ทั่วถึงและมีลักษณะเลือกปฏิบัติระหว่างคนในชาติและแรงงานต่างชาติ ยังคงเป็นแนวโน้มที่ปรากฏให้เห็นตลอดทั้งปี 2564

“ความขัดแย้งในบางประเทศของเอเชียแปซิฟิกส่งผลให้เกิดการลี้ภัยและหนีภัยสงครามมากขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียมีปัญหาเรื่องนี้ค่อนข้างมาก กลายเป็นว่าความขัดแย้งและโรคระบาดก็ตอกย้ำให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิของผู้ลี้ภัย” ฐิติรัตน์ระบุ

สิทธิมนุษยชนไทยใน ‘ถุงดำ’

ครั้นโฟกัสบรรยากาศในไทย ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เล่าว่า รัฐบาลเพิ่มความพยายามเพื่อจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุม ทางการใช้กฎหมายโดยพลการในการคุกคามและควบคุมตัวผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตยและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ร่างกฎหมายว่าด้วยการทรมานและการบังคับให้สูญหายที่เสนอเข้าสู่รัฐสภาเพื่อพิจารณา ยังมีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยในด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ปิยนุช โคตรสาร

ตลอดทั้งปี 2564 มีการชุมนุมทั้งสิ้น 1,545 ครั้ง ครอบคลุมตั้งแต่การเมืองไปถึงเรื่องโรคระบาด สิทธิชุมชน และชีวิตความเป็นอยู่ ในจำนวนการชุมนุมตลอดทั้งปี มีเยาวชนต่ำกว่า 18 โดนคดี 270 คน

ในปี 2565 ประเทศไทยเข้าสู่ห้วงเวลาครบรอบ 2 ปีที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หลังจากการระบาดของโควิด-19 ขณะที่กฎหมายที่มีลักษณะจำกัดเสรีภาพของประชาชน เช่น 112, 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็ยังถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง

จำนวนของผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากกฎหมายที่มีลักษณะดังกล่าว 1,460 คน ซึ่งในจำนวนมากมายเหล่านั้นมีนิสิตนักศึกษาถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็น

“ในการเข้าร่วมชุมนุมของอาสาสมัครที่เข้าไปสังเกตการณ์การชุมนุมจะต้องสวมเสื้อที่บ่งบอกสถานะและอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ เช่น แว่นกันแก๊สน้ำตา หน้ากากกันแก๊สน้ำตา หมวกกันน็อก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าร่วมการชุมนุมจะเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันตัวเช่นนี้

ในเดือนสิงหาคม 2564 วาริช ถมน้อย เยาวชนที่ไปร่วมชุมนุมทางการเมือง เสียชีวิตจากกระสุนปืนในที่ชุมนุม จนบัดนี้คดียังไม่มีความคืบหน้า

สำหรับประเด็นการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย คลิปการทรมานโดยใช้ถุงพลาสติกดำครอบศีรษะจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ ผู้ต้องหาคดียาเสพติดภายในสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ก็แสดงให้เห็นอย่างโจ่งเเจ้งว่าการทรมานมีอยู่จริงในสังคมไทย

สำหรับข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลและประชาชนผู้ร่วมปกป้องสิทธิเสรีภาพ แอมเนสตี้เรียกร้องให้มีการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งที่ 3/2558 และคำสั่งที่ 13/2559 รวมถึงกฎอัยการศึกที่บังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะขอให้การใช้กฎหมายมีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกรณีที่มีสนธิสัญญาว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพิจารณาความเห็นทั่วไปที่ 35 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยสิทธิที่จะมีอิสรภาพ

“คีย์เวิร์ดก็คือต้องมีการใช้กฎหมายที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับข้อกำหนดและขอให้ใช้อย่างจำเป็นและได้สัดส่วน ให้มีกลไกตรวจสอบที่เป็นอิสระ และมีการติดตามทำรายงานในมาตรการที่นำมาใช้ ขออย่าใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน” ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าว

สำหรับกระแสขับไล่องค์กรอย่างแอมเนสตี้ ประเทศไทย ปิยนุชยืนยันว่า แอมเนสตี้ อยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชน 61 ปีแล้ว โดยเริ่มจากเครือข่ายอาสาสมัครเล็กๆ ตอนนี้มีผู้สนับสนุนทั่วโลกกว่า 10 ล้านคน ใน 150 ประเทศทั่วโลก

“เงินสนับสนุนของเรามาจากคนทั่วไป เราอยู่ได้ด้วยเงินสนับสนุนของผู้บริจาค แต่ลองนึกถึงองค์กรอื่นที่ได้รับเงินสนับสนุนจากแหล่งทุนใหญ่แหล่งทุนเดียว พวกเขาจะได้รับผลกระทบมหาศาล ถึงแม้ไม่มีแอมเนสตี้ในไทย แต่ยังมีขบวนการของแอมเนสตี้อยู่ทั่วโลก

ดังนั้น คุณต้องเคารพเสียงของประชาชน คุณต้องเชื่อในเยาวชนที่เขาออกมาเรียกร้อง อย่าไปบอกว่าเขาโดนหลอก เขามีปากมีเสียงของเขา เราไม่ไปแตะเรื่องข้อเรียกร้องของเขา แต่เราต้องการให้พวกเขาได้ใช้สิทธิในการแสดงออก คุณควรจะดีใจเสียด้วยซ้ำที่เยาวชนลุกขึ้นมาใช้สิทธิ นี่คือความก้าวหน้า เราต้องให้โอกาส ให้อิสระ ให้เขาใช้สิทธิโดยไม่มีความหวาดกลัว เราต่างคนต่างทำหน้าที่บนหลักการความโปร่งใสและสิทธิมนุษยชน” ปิยนุชทิ้งท้าย

ร่าง พ.ร.บ.คุมการรวมกลุ่ม ‘ข้ออ้าง’ บนความหวาดระแวง

อีกประเด็นทิ้งไม่ได้ คือ ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. … ที่สร้างความวิตกกังวลให้ภาคประชาสังคม

อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า สิทธิในการรวมกลุ่มของประชาชนไม่ใช่เรื่องเฉพาะองค์กรใดองค์หนึ่ง การสร้างข้อจำกัดแก่การรวมกลุ่มสมาคมจึงส่งผลวงกว้างต่อประชาชนทุกคน เพราะการรวมกลุ่มนำไปสู่การปกป้องสิทธิด้านต่างๆ

“การรวมกลุ่มจะทำให้เสียงของเราได้รับการรับฟัง มีส่วนในการกำหนดอนาคตของตนเอง สิทธิในการรวมกลุ่มมักถูกจำกัดโดยเฉพาะรัฐบาล ซึ่งพยายามทำให้มีผลทางกฎหมาย มองว่านี่คือการสร้างข้ออ้างด้านความมั่นคงบนความหวาดระแวง โดยรัฐอ้างเรื่องศีลธรรมอันดีงามมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน”

อังคณา ระบุว่า นักปกป้องสิทธิที่ถูกคุกคามไปจนถึงถูกฆ่าถูกอุ้มหายส่วนมากแล้วคือ ชาวบ้าน และพวกเขาเผชิญกับการคุกคามเพียงลำพัง

“เรื่องเหล่านี้ไม่เคยมีใครได้รับความผิดตามกฎหมาย ชาวบ้านจึงเรียนรู้การทำงานด้วยการรวมกลุ่ม เพื่อปกป้องคุ้มครองกันเอง สร้างความเข้มแข็งให้ตนเอง เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อแก่อำนาจไม่ชอบธรรม แต่รูปโฉมของภัยคุกคามมันได้เปลี่ยนแปลงพัฒนาไป จำนวนผู้ที่ถูกอุ้มฆ่าน้อยลง แต่มีการคุกคามด้านกฎหมายมากขึ้น ตัวเองยังถูกฟ้องร้องถึง 2 คดี ปัญหาสำคัญคือ รัฐหวาดระแวงและไม่เคยวางใจประชาชน

อังคณา ย้ำว่า ความสงบของรัฐต้องเป็นความสงบที่ราบคาบ ไม่มีเสียงคัดค้าน แต่รัฐควรตระหนักให้มากในความเปลี่ยนแปลงที่ประเทศพัฒนามาถึงวันนี้ ล้วนมาจากเสียงของเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยได้รับเสียงชื่นชมจากเวทีโลกอย่างการปรับปรุงกฎหมายธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งก็มาจากการถูกเอารัดเอาเปรียบของประชาชนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับการซ้อมทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายก็ล้วนมาจากเหยื่อที่ถูกกระทำ

ด้าน จีรนุช เปรมชัยพร กรรมการมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน มองว่า ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. … เป็นส่วนหนึ่งของการทำลายภาคประชาชน ไม่ได้มุ่งจำกัดองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นความต่อเนื่องของกระบวนการปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน

จีรนุช เปรมชัยพร

“ในนามของมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน นี่คือการปิดพื้นที่สื่อ เพราะหลังกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยของเยาวชนไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ออกมาใช้ข้อกล่าวหาเพื่อดิสเครดิตโดยใช้เฟคนิวส์ มีการทำเอกสารอย่างเป็นทางการกล่าวหาองค์กรสื่อ 6 แห่ง ที่ทำหน้าที่รายงานข่าวการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน หนึ่งในนั้น คือ ประชาไท 5-6 องค์กรข่าวรวมตัวกันร้องเรียนต่อสู้จนเรื่องนี้ถูกถอนออกไป แต่อะไรเป็นเหตุให้เกิดการโจมตีองค์กรที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน

6 องค์กรนี้ทำหน้าที่รายงายข่าวการเรียกร้องประชาธิปไตย ขณะที่รัฐพยายามจะทำให้การรายงานข่าวการชุมนุมเป็นเรื่องผิดกฎหมายด้วยซ้ำ แต่สื่อมองว่านี่คือเรื่องสำคัญที่สาธารณชนต้องรู้ นำไปสู่การถูกกล่าวหา” จีรนุชกล่าว

เหล่านี้คือปมปัญหาหลากหลายที่ต้องเร่งแก้ไขทั้งในไทยแลนด์และทั่วโลก เมื่อคำว่าสิทธิเสรีภาพและสันติคือความสุขอันเป็นสากล

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image