การภาวนาฐานกาย

การภาวนาฐานกาย

ผมเป็นหลานศิษย์ของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ คือเป็นลูกศิษย์หลวงตาสุริยา มหาปัญฺโญ ประธานสงฆ์วัดป่าโสมพนัส จังหวัดสกลนคร ได้ไปฝึกการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวอยู่หลายปี โดยยึดคำสอนเรื่องสติปัฏฐานสี่เป็นสำคัญ บังเอิญเพิ่งได้หนังสือเรื่องนี้มาเล่มหนึ่ง เขียนโดยภันเตคุณะรัตนา มหาเถระ และแปลโดยนัยนา นาควัชระ ซึ่งมีคำอธิบายสติปัฏฐานสูตรโดยสังเขปดังนี้

1) มีสติระลึกรู้กาย : มีสติรู้ลมหายใจ, รู้อิริยาบถคือ เดิน ยืน นั่ง นอน, รู้สิ่งใดคือกิจของตน, พิจารณาร่างกายทั้งสามสิบสองส่วน, จำแนกแยกแยะธาตุทั้งสี่

2) มีสติระลึกรู้เวทนา : รู้ความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์, รู้ชัดถึงอาการปรากฏของความรู้สึกแต่ละอย่าง, รู้การเกิดขึ้นและดับไปของมัน

Advertisement

3) มีสติระลึกรู้จิต : พิจารณาว่าจิตนี้โลภ โกรธ หลง หรือไม่, หดหู่หรือฟุ้งซ่านหรือไม่, มีจิตอันยิ่งกว่า (หรือบรรลุ”สภาวะสูงสุด”) หรือไม่, รู้อาการปรากฏของสภาวะทางจิตแต่ละอย่าง, รู้การเกิดขึ้นและดับไปของมัน

4) มีสติระลึกรู้ธรรม : ระลึกรู้นิวรณ์ 5, รู้อุปาทานขันธ์ 5, รู้อายตนะภายในและภายนอกทั้ง 6 คู่, รู้โพชฌงค์ 7, รู้อริยสัจ 4, รู้มรรค 8

การปฏิบัติของผมไม่ต่อเนื่อง ประกอบกับมีอารมณ์แรงเกิดขึ้นระหว่างฝึก และเข้าใจผิดว่าอารมณ์เช่นนั้นเป็นอุปสรรคต่อการมีสมาธิหรือจิตตั้งมั่น ผมเลยพยายามฝึกดูลมหายใจหรืออาณาปาณสติโดยหวังให้จิตสงบลง พร้อมทั้งให้ความสนใจคำสอนของวัชรยานที่ให้สอนให้เปิดกว้างหรือเปิดรับทุกอาการของจิตที่ปรากฏขึ้น

Advertisement

หนังสือน่าสนใจที่ผมมีโอกาสอ่านได้แก่หนังสือหลายเล่มที่เขียนโดยวัชรยาจารย์เชอร์เกียม ตรุงปะ ซึ่งผมปวารณาตนเป็นเหลนศิษย์ และขอฝากตัวเป็นหลานศิษย์ทางอ้อมของภิกษุณีเพมา โชดรอน และขอ

เรจินัลด์ เรย์ ซึ่งทั้งสองคนเป็นลูกศิษย์โดยตรงของตรุงปะ ส่วนผมเป็นลูกศิษย์ของครูวิจักขณ์ พานิช ที่เป็นลูกศิษย์ของเรย์อีกทอดหนึ่ง เรย์เน้นการฝึกภาวนาที่เน้นฐานกาย (somatic meditation) เขาเขียนคำโปรยในหนังสือของเขาที่ชื่อ “The Awakening Body : Somatic Meditation for Discovering Our Deepest Life” (กายตื่นรู้ : การภาวนาฐานกายเพื่อค้นพบชีวิตที่ลุ่มลึกที่สุดของเรา”) ผมเลยตั้งคำถามเพราะความอยากรู้ว่า ระหว่างคำว่า “กาย” กับคำว่า “ที่เกี่ยวกับกาย” (somatic) นั้นเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร

เมื่อเปิด Google ดู คำที่ได้ก่อนคำอื่น ๆ คือระบบประสาทโซมาติก (Somatic Nervous System SNS) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทของเรา (ดู https://il.mahidol.ac.th/e-media/nervous/ch1/chapter1/part_4.htm) ซึ่งอธิบายว่า SNS เป็นประสาทรอบนอก (ไม่ใช่ส่วนที่รวมศูนย์) ได้แก่ส่วนสั่งการแบบไม่อัตโนมัติ หมายความว่าจิตพอควบคุมได้ โดยมีแผนผังดังนี้

คำที่ค้นพบคำที่สองคือ psychosomatic ที่ราชบัณฑิตยสภาบัญญัติศัพท์ตรงตัวว่า – กายเหตุจิต ดังนั้นคำว่า psychosomatic disorder น่าจะแปลว่า ความผิดปกติทางกายเหตุจิต นายแพทย์ปราโมทย์ สุดคนิชย์อธิบายว่า โรคทางกายเหตุจิตที่พบบ่อยได้แก่ การปวดศีรษะ เช่น ไมเกรน, โรคภูมิคุ้มกัน, ปวดหลัง, รูมาตอยด์, ระบบหัวใจและหลอดเลือด, ระบบทางเดินอาหาร, ระบบทางเดินหายใจ พยาธิสภาพทางกายในกรณีเช่นนี้มักหาสาเหตุทางกายไม่พบ เพราะเป็นเรื่องทางกายเหตุจิต ดังนั้น การใช้ยารักษาอาการทางกายโดยไม่สนใจสภาพจิตใจจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาด้อยลงหรือไม่หายสักที ผู้ป่วยยิ่งหงุดหงิดอาการยิ่งเรื้อรัง จึงควรใช้การรักษาทางจิตสังคม และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเพื่อลดความเครียดควบคู่ไปด้วย (ดู http://medinfo2.psu.ac.th/cancer/db/news_ca.php?newsID=113&typeID=21&form=8)

แต่การแก้เมื่อป่วยแล้วถึงอย่างไรก็สู้การป้องกันความผิดปกติทางกายเหตุจิตไม่ได้ ในการนี้ เรจินัลด์ เรย์เขียนไว้ในหนังสือของเขาว่า การภาวนาฐานกายจะช่วยให้จิตตั้งมั่นและสงบลง นำพาพลังงานชีวิตให้แล่นผ่านไปทั่วกาย เชื่อมต่อกายเข้ากับดินที่มีศักยภาพในการเยียวยา ช่วยให้ค้นพบความสามารถในการรับรู้, การหยั่งรู้, และปัญญาญาณที่ซ่อนอยู่ในร่างกาย วิธีการฝึกภาวนาที่เรย์นำเสนอมาจากคำสอนดั้งเดิมของทิเบต รวมถึงการฝึกลมปราณ, การตระหนักรู้ร่างกาย, การหายใจทางท้อง, การฝึกภาวนาฐานดิน

อันที่จริง การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวของหลวงพ่อเทียนเป็นการภาวนาฐานกายที่ง่ายและตรง แต่ก็ควรฝึกโดยมีครูช่วยกำกับแนะนำเช่นเดียวกับการฝึกสติปัฏฐานที่เน้นฐานอื่น ๆ ผลที่ได้จากการภาวนาอาจไปไม่ถึง “การรู้แจ้ง” แต่ก็ช่วยให้รับรู้ตัวเอง, ผู้อื่น, และสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อลดความทุกข์และการเบียดเบียนกันนั่นเอง แต่ถึงอย่างไร ผมยังติดอยู่ในนิวรณ์ โดยเฉพาะข้อชอบสงสัย แม้คำสอนจะบอกให้ฝึกภาวนาไป ไม่ต้องคิดมากมาย แล้วจะรับรู้เอง หรือรับรู้มากขึ้นเองตามลำดับ

ผมเคยถามหลวงตาสุริยาว่า รับรู้อย่างไร อาจารย์ตอบว่า รับรู้ว่ามีสติอยู่กับตัว เมื่อความคิดฟุ้งซ่านลดลงในระหว่างการภาวนาจะรู้สึกโล่ง มีความคิดผุดขึ้นมาเป็นธรรมดา แต่ความถี่ที่คิดลดลง หรือถ้าจะคิดทำอะไรหรือวางแผนในกิจกรรมใด จะมีความแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) มากขึ้น เอาละ จงเพียรฝึกต่อไป

แต่ด้วยพื้นเพการเล่าเรียนมาในทางวิทยาศาสตร์ ผมก็อดถามไม่ได้ว่า พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์สัมพันธ์กันอย่างไร ถ้าคำสอนขัดกับข้อมูลเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์จะคิดอย่างไร ทำให้นึกถึงกาลามสูตรที่อาจนำมาพิจารณาในกรณีที่คิดว่ามีความขัดกันดังกล่าวได้ กล่าวคือ คำสอนพุทธศาสนามิใช่สอนให้เชื่อหรือให้ศรัทธาเรื่อยไป แต่สอนให้เชื่อและศรัทธาต่อเมื่อตระหนักต่อตนเองในเรื่องนั้น ๆ แล้วใช่ไหม จึงขอยกกาลามสูตรมาเตือนใจ เพื่อเทียบเคียงกับหลักวิทยาศาสตร์ ดังนี้

1. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตาม ๆ กันมา

2. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบ ๆ กันมา

3. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ

4. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์

5. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรกะ

6. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน

7. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล

8. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว

9. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้

10. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา

ในเรื่องพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ ขออ้างถึงข้อเขียนขององค์ทะไลลามะในหนังสือชื่อ “ข้ามพ้นศาสนา : จริยธรรมเพื่อคนทั้งโลก” ที่แปลโดย นัยนา นาควัชระ ดังนี้

ในระหว่างการเดินทางไปพุทธคยา องค์ทะไลลามะเกิดอาการปวดท้องรุนแรงมาก แต่เมื่อมองออกไปนอกหน้าต่างรถ เห็นเด็กขาดอาหารตัวเปล่าเปลือยอยู่กับดิน เห็นชายชราแก่มาก ๆ นอนอยู่ในเพิงข้างถนน ดูเหมือนอยู่คนเดียวไม่มีคนดูแล ขณะที่รถแล่นไปนั้น จึงครุ่นคิดถึงความยากลำเค็ญและความทุกข์ของมนุษย์ ต่อมาภายหลังจึงสังเกตเห็นว่า เวลาที่ความคิดถอนจากความเจ็บปวดของตนเอง ไปคิดเรื่องความทุกข์ยากของผู้อื่น ความเจ็บปวดของตนเองกลับลดลง

“มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่า ความรัก ความกรุณา ความไว้เนื้อเชื่อใจ ฯลฯ ไม่เพียงแต่มีผลดีต่อจิตใจเท่านั้น แต่ยังดีต่อสุขภาพกายอย่างเห็นได้ชัด งานวิจัยชิ้นหนึ่งค้นพบว่า การจงใจปลูกฝังความรัก ความกรุณา ส่งผลต่อ “ดีเอ็นเอ” ส่วนที่เรียกว่า เทโลเมียร ซึ่งวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า เกี่ยวข้องกับกระบวนการเสื่อมสภาพตามอายุ”

“ผลงานวิจัยยังแสดงด้วยว่า อารมณ์เชิงลบ เช่น ความวิตกกังวล ความโกรธ และความเศร้าหมอง มีผลทำให้ศักยภาพในการต้านทานโรคและการติดเชื้อลดลง … ระบบภูมิคุ้มกันเสื่อมประสิทธิภาพลงเรื่อย ๆ” หลายปีมาแล้ว องค์ทะไลลามะไปฟังการเสนอผลงานวิจัยที่นิวยอร์ก นักวิทยาศาสตร์การแพทย์คนหนึ่งกล่าวว่า “ผู้ที่ชอบใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งว่า “ฉัน” “ตัวฉัน” หรือ “ของฉัน” บ่อยเกินควร มีแนวโน้มที่จะหัวใจวายมากกว่าคนที่ไม่มีนิสัยแบบนั้น”

ความสัมพันธ์ที่แยกไม่ออกระหว่างสภาวะทางจิตและทางอารมณ์ กับความผาสุกและสุขภาพ บอกว่าองค์ประกอบทางกายของเรา มีส่วนทำให้เราโน้มเอียงเข้าหาอารมณ์เชิงบวก ความยินดีที่ได้รับความรัก ความอาทร ดูเหมือนจะมีอยู่แล้วในสายเลือดของเรา เวลาที่เราทำตามความอยาก ข้อสำคัญคือเราควร “เห็นแก่ตัวอย่างฉลาด” แทนที่จะ “เห็นแก่ตัวอย่างโง่เขลา” คำว่าเห็นแก่ตัวอย่างโง่เขลาหมายถึงการตอบสนองความต้องการอย่างใจคับแคบและไม่มองการณ์ไกล ความเห็นแก่ตัวอย่างฉลาด คือการที่เรามีวิสัยทัศน์กว้างไกล และมองเห็นว่าประโยชน์ระยะยาวของตัวเราเองขึ้นอยู่กับความผาสุกของผู้อื่น คำว่า “เห็นแก่ตัวอย่างฉลาด” หมายถึงการมีความกรุณานั่นเอง

มีหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เสนอเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกายกับใจในแง่มุมของปัญหาความขัดแย้ง หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “ความขัดแย้งที่ฝังอยู่ในกาย (embodied conflict) : เข้าใจตนเองในสถานการณ์ความขัดแย้ง” เขียนโดย ทอม ฮิกส์ เขาเสนอว่า สมองทำงานแบบองค์รวม ไม่แยกเป็นส่วนเหตุผลหรือตรรกะ, ส่วนอารมณ์, หรือส่วนแรงกระตุ้นเพื่ออยู่รอด ส่วนต่าง ๆ ของสมองทำงานสอดคล้องกัน แม้จะมีสิ่งเร้าให้เกิดการรับรู้, เกิดอารมณ์, เกิดแรงกระตุ้นที่มีพิสัยแตกต่างที่กว้างมาก แต่ในขณะหนึ่งขณะใดเราจะมีทัศนะต่อตัวตน และต่อโลกเพียงทัศนะเดียว โดยทัศนะนี้มีพลวัตหรือเปลี่ยนแปลงไปได้ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน แต่ก็มีแรงเฉื่อยหรือแรงต้านจากเซลล์สมองที่จะนำข่าวสารข้อมูลใหม่มาแทนที่หรือดัดแปลงสิ่งที่เรียนรู้แล้ว กล่าวคือระบบเซลล์สมองต้องการทั้งเสถียรภาพและการปรับรูปได้ (plasticity)

เมื่อบันทึกประสบการณ์ต่าง ๆ ไว้ในสมองแล้ว เรามีความคาดหวังว่าเหตุการณ์ใหม่จะมายืนยันประสบการณ์ต่อโลกที่เรามีมา เราพยายามทำนายอนาคต, เราวางแผน, เราสร้างจินตภาพของอนาคต แล้วก็ยึดมั่นในภาพนั้น ทั้ง ๆ ที่เป็นเพียงมายาคติแห่งจิตสำนึก ความคาดหมายเป็นเพียงข้อสมมุติเกี่ยวกับอนาคต แต่มากำหนดการกระทำของเราในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอน เช่นสถานการณ์ความขัดแย้ง ในฐานะอัตตาที่มีความเป็นมา (historical self) เราไม่ค่อยตระหนักรู้ถึงโลกตามที่มันเป็น หากตระหนักรู้ตามที่เราหวังให้เป็น หรือตามที่เรากลัวว่ามันจะเป็น โดยเฉพาะเมื่อเรามีประสบการณ์ที่เป็นบาดแผลทางใจ เช่นจากความขัดแย้งในอดีต

ความจำระยะสั้นช่วยให้เราดำรงการสนทนา, คิดในเรื่องใดให้ตลอด, วางแผน, แก้ไขปัญหา…เรื่องที่จำเพื่อใช้งานในบางเรื่องจะขยับเลื่อนสู่ความจำระยะยาว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งเร้านั้นโดดเด่นเป็นสำคัญต่อเหตุจูงใจเพื่อการอยู่รอดและมีประโยชน์เพียงใด เราจดจำเรื่องราวไว้มากมาย ส่วนใหญ่จะอยู่นอกจิตสำนึกที่สามารถจะเรียกเรื่องที่จำไว้ขึ้นมาได้ แต่แล้วบางความจำก็โผล่ขึ้นมาเองอย่างห้ามไม่ได้ในเวลาที่ไม่คาดฝัน หรือไม่รู้ตัว และมากำหนดพฤติกรรมตอนนั้น ความจำไม่ได้วิวัฒนาการเพื่อบันทึกสิ่งที่เป็นจริง หากบันทึกสิ่งที่สามารถทำนายอนาคตได้ดีกว่า เพื่อการตอบสนองได้ดีกว่าหากสถานการณ์คล้ายอดีตจะเกิดขึ้นอีก

ในปรากฏการณ์แรกประทับ (priming) ตัวเร้าการรับรู้จะไปกระตุ้นให้เกิดเส้นทางเชื่อมต่อทางสมอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ที่พฤติกรรมที่ตามมาจะเดินรอยตามการแรกประทับ เมื่อสังเกตเห็นใครคนหนึ่ง ยิ้ม หรือขี่จักรยาน หรือร้องเพลง ฯลฯ การรับรู้ประสบการณ์นี้จะกระตุ้นโครงร่างเซลล์สมองเอาไว้ ซึ่งจะถูกเรียกมาใช้ หากฉันจะมีพฤติกรรมเดียวกัน เราเรียกเซลล์สมองชุดนี้ว่า เซลล์สมองกระจกเงา (mirror neurons) ในบริบทความขัดแย้ง ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นกับภาคีหนึ่งอาจไปกระตุ้นโครงร่างเซลล์สมองของภาคีอื่นให้ประสบความตึงเครียดเช่นกัน ประสบการณ์นี้เรียกว่าการแพร่กระจายอารมณ์ (affect contagion)

เมื่อทำงานกับความขัดแย้ง เราต้องการเปลี่ยนแปลง เช่น เปลี่ยนความคิด, เปลี่ยนจิตใจ, เปลี่ยนความเข้าใจ, เปลี่ยนมุมมอง, เปลี่ยนความสัมพันธ์, เปลี่ยนจุดยืน, เปลี่ยนวัตถุประสงค์ ฯลฯ เราต้องตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นยาก แต่มิใช่เป็นไปไม่ได้ ความเชื่อของเราทำให้มีแรงต้านความเชื่อที่แย้งกับเรา ยิ่งฝ่ายแย้งมีพลัง, มีความเข้มแข็ง, มีความก้าวร้าว แรงต้านของเราก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของเราพึงมาจากการบ่มเพาะด้วยความนุ่มนวล โอกาสความสำเร็จที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองจะมีมากขึ้น ถ้ามีการแสดงออกถึงความใส่ใจ, ความมีน้ำใจ, และความรักต่อผู้ที่ขัดแย้งกับเรา ด้วยความนุ่มนวลนี้ โอกาสที่จะทำให้ผู้ที่ขัดแย้งกับเรามีการเปลี่ยนแปลงก็เพิ่มขึ้นด้วย

หนังสือเรื่องความขัดแย้งที่ฝังอยู่ในกายเล่มนี้ มาเสริมให้เห็นความสำคัญของการภาวนาฐานกาย ที่จะเพิ่มโอกาสการมองโลกให้ตรงความจริง ทั้งนี้ เพื่อความสงบสุขในกายและใจของเราและของผู้อื่นในสังคม รวมไปถึงผู้อื่นในโลกใบนี้ ผ่านการบ่มเพาะความกรุณานั่นเอง

บทความนี้พยายามนำเสนอว่า กายกับใจนั้นแยกกันไม่ได้ การป่วยทางใจก็ทำให้ป่วยทางกายได้ สุขภาพจิตดีช่วยทำให้สุขภาพกายดีได้ด้วย การภาวนาฐานกายนอกจากจะช่วยให้จิตเข้มแข็งแล้ว ยังช่วยให้กายแก่ชราลงอย่างสมแก่วัยด้วย

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image