‘เศรษฐพงค์’ หนุน’มทร.อีสาน-สมาคมดาวเทียมฯ’ ตั้งสถาบันเทคโนโลยีอวกาศ

‘เศรษฐพงค์’ หนุน’มทร.อีสาน-สมาคมดาวเทียมฯ’ ตั้งสถาบันเทคโนโลยีอวกาศ พร้อมดันโครงการพัฒนาดาวเทียม Earth Observation ส่งเสริมนโยบาย climate change มั่นใจศักยภาพงานวิจัย-บุคคลากร หวังขับเคลื่อนกิจการอวกาศต่อยอดสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ จ.นครราชสีมา คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(กมธ.ดีอีเอส) ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน สำนักงาน กสทช. ได้จัดการสัมมนาเรื่อ “เทรนด์เปลี่ยนโลกในทศวรรษหน้า 2030 (GLOBAL MEGA TRENDS TO 2030) โดย พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะ รองประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า ในการสัมมนาดังกล่าวนอกจากจะมีการบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิในด้านเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร การบิน ดาวเทียม กิจการอวกาศแล้ว ยังได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU ระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กับ สมาคมดาวเทียมสื่อสารเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TSAT) เพื่อก่อตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการบูรณาการเทคโนโลยีอวกาศ อากาศ และภาคพื้นดิน (Institute of Integrated Space-Air-Ground Technology: I-SAT) โดยมีภารกิจทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น การใช้เทคโนโลยีที่เกิดใหม่ในอุตสาหกรรมอวกาศเพื่อการเชื่อมโยงกับภาคอากาศยานและภาคพื้นดิน ทั้งเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมในยุค 5G/6G การใช้ระบบ ดาวเทียมขั้นสูง การเชื่อมโยงระบบ Internet of Things (IoTs) ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) การประมวลผลภาพและข้อมูล รวมถึงปัญญาประดิษฐ์และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการยกระดับขนาดของการปฏิบัติการในอวกาศกับภาคอากาศยานและภาคพื้นดิน

รศ.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า การตั้งสถาบันดังกล่าวตรงกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) การสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก และการพัฒนาก่อตั้งสถานีดาวเทียมภาคพื้นดินเพื่อการวิจัย ในพื้นที่กากับดูแลเป็นการเฉพาะ (Sandbox) ส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์และการบินของพลเรือนในพื้นที่ กำกับดูแลเป็นการเฉพาะ(Sandbox) โดยผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เพื่อนำมาใช้ ให้เกิดประโยชน์กับสังคมเมือง เกษตรกรรมและเทคโนโลยีชีวภาค อุตสาหกรรม สาธารณสุข การศึกษา การท่องเที่ยว เช่น การนำภาพถ่ายดาวเทียม Earth Observation มาวิเคราะห์ในรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (climate change) การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน การบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ ความปลอดภัยในการใช้ชีวิต การเก็บข้อมูลรับส่งข้อมูล ในระบบเกษตรอัจฉริยะฟาร์มอัจฉริยะ การควบคุมหุ่นยนต์ แขนกล และระบบขนส่งในโรงงานด้วยการบูรณาการระบบ 5G และ IoT ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับเป้าหมายของทางมหาวิทยาลัย

Advertisement

ผศ.ศตคุณ เดชพันธ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีอวกาศ อากาศและภาคพื้นดิน ของทางมหาวิทยาลัยอย่างก้าวกระโดดเพราะโลกในยุคปัจจุบันมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หลายภาคส่วนล้วนแต่ใช้เทคโนโลยีต่างๆที่ทันสมัยมาช่วยงาน ทั้งภาคอุตสาหกรรม สาธารณสุข เกษตรกรรม รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันของเราทุกคน หากเรามีการวิจัยและพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ทันก็จะเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งจะสามารถสร้างงานและรายได้ให้กับคนในประเทศได้อีกมา ซึ่งตนก็เชื่อว่าหลายภาคส่วน ทั้งรัฐบาล กสทช. ภาคเอกชน รวมทั้งกมธ.ดีอีเอส พร้อมที่จะสนับสนุนโครงการดังกล่าวนี้ เพื่อขับเคลื่อนต่อยอดไปสู่การพัฒนาประเทศได้ในอนาคต การพัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีต่างๆเป็นเรื่องที่สำคัญมากในปัจจุบัน เพราะหลายประเทศชั้นนำมีการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านอวกาศและแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งในเมกะเทรนด์สำคัญในอนาคต”

นายณัฎฐพัฒน์ ธีรนันทวาณิช และ น.ส.แคทลียา เดลแมร์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ความเห็นว่า การวิจัยและพัฒนาของสถาบัน I-SAT เป็นสถาบันที่ตั้งขึ้นที่สอดคล้องกับนโยบายสากลตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงส่งผลกระทบต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ส่งผลกระทบโดยรวมต่อทุกประเทศทั่วโลก ทั้งผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ทั้งธรณีพิบัติภัย อุทกภัย วาตภัย และไฟป่า ผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลาย ทางชีวภาพ ซึ่งถือได้ว่าทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานมีวิสัยทัศน์ในระดับสากลที่น่าชื่นชม ซึ่งหากเราสามารถพัฒนาและวิจัยจนเป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศได้ เราจะสามารถสู้กับนานาประเทศและประเทศที่พัฒนาแล้วได้ทัน และก้าวสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคได้อย่างรวดเร็ว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image