‘ชัชชาติ’นั่งผู้ว่าฯกทม. ความต่างชัดภาวะผู้นำ ลุ้นวาระร้อนศึกซักฟอก

‘ชัชชาติ’นั่งผู้ว่าฯกทม. ความต่างชัดภาวะผู้นำ ลุ้นวาระร้อนศึกซักฟอก

 

‘ชัชชาติ’นั่งผู้ว่าฯกทม.

ความต่างชัดภาวะผู้นำ

ลุ้นวาระร้อนศึกซักฟอก

Advertisement

ชัยชนะในผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” แบบแลนด์สไลด์ ด้วยคะแนน 1,386,215 คะแนน ถือว่าส่งผลสะเทือนต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่รู้ผลว่าชนะและได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม. คนที่ 17 ในคืนวันที่ 22 พฤษภาคม

ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวกรุงเทพฯ ต่างเฝ้ารอ จนถึงการรับรองผลการเลือกตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าจะรับรอง นายชัชชาติ เป็นผู้ว่าฯกทม. อย่างเป็นทางการเมื่อใด ภายหลังมีข้อร้องเรียน 2 เรื่อง ต่อนายชัชชาติ คือ

1.ป้ายไวนิลหาเสียง และ 2.การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของระบบราชการ ว่าจะมีผลต่อการรับรองผลการเลือกตั้งหรือไม่
หลัง กกต.ระบุว่า มีกรอบเวลาการตรวจสอบข้อร้องเรียนหลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ภายใน 30 วัน ให้เกิดความรอบคอบ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

Advertisement

แต่จากข้อร้องเรียน 2 เรื่องของนายชัชชาติ นำมาซึ่งข้อถกเถียง ทั้งในข้อกฎหมาย และบทบาทการทำหน้าที่ของ กกต.ว่าถูกต้องครบถ้วนตามอำนาจหน้าที่หรือไม่

ส่งผลถึงแรงกดดันที่สังคมมีต่อ กกต. ด้วยการโทรศัพท์เข้าไปสอบถามการทำหน้าที่ของ กกต.ผ่านสายด่วน 1444 กันเป็นจำนวนมาก ถึงเหตุผลในการรับรองผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

กระทั่งผ่านการเลือกตั้งไป 9 วัน ในวันที่ 31 พฤษภาคม กกต.จึงประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ให้นายชัชชาติ เป็นผู้ว่าฯกทม. อย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมกับยกคำร้องทั้ง 2 เรื่องร้องเรียนว่ามีไม่มูลความผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น

ทำให้นายชัชชาติ สามารถปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าฯกทม. นับจากนี้เป็นต้นไปได้อย่างราบรื่น

การเข้ามาทำหน้าที่ผู้ว่าฯกทม. อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา การแสดงบทบาท และวิสัยทัศน์ของผู้ว่าฯกทม. ต่อข้าราชการ กทม.ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าฯกทม. ถือว่า เป็นนิมิตหมายใหม่ของผู้นำ ในตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ที่พร้อมสร้างความเชื่อมั่นและความร่วมมือกับข้าราชการ กทม. ให้ร่วมกันทำงานตามนโยบายทั้ง 214 ข้อ ผ่านการสื่อสารที่ถือว่าได้ใจข้าราชการ กทม.

ในการดึงความร่วมมือเพื่อร่วมกันพัฒนากรุงเทพฯให้ดีมากยิ่งขึ้นไป ด้วยการลบภาพการเป็นเจ้านายสั่งลูกน้อง ไม่ต้องยึดรูปแบบราชการที่ต้องฟังคำสั่งจากข้างบนลงด้านล่าง ซึ่งนายชัชชาติ ระบุว่า

ตอนนี้ดีใจที่มีเพื่อนร่วมเดินทางกับเราคือข้าราชการ ลูกจ้าง กทม.ทั้งหมด ซึ่งตนไม่ใช่นาย ขอให้เรียกว่าอาจารย์ อยากจะให้เดินไปด้วยกัน มีอะไรคุยกันได้ และตนก็เป็นคนใหม่ของ กทม.

หลักการ คือ ถ้าตนทำอะไรไม่เหมาะก็ขอให้พูดกัน อย่าคิดว่าผมพูดอะไรไปต้องถูกเสมอ เรื่องอะไรเห็นด้วยไม่เห็นด้วย พูดแล้วจบ หาข้อยุติแล้วเดินหน้าทำงานให้ประชาชนต่อ ผมคิดว่ามันเป็นหลักการโปร่งใสในหน่วยงาน และสุดท้ายจะได้งานที่สามารถเดินไปด้วยกันได้ แต่ทุกคนต้องกล้าพูดนะ เพราะฉะนั้นผมไม่อยากเป็นนาย ถ้าเป็นเจ้านายจะมองว่าไม่กล้าพูด แต่ถ้ามองว่าเป็นเพื่อนร่วมงานจะสามารถพูดได้มากกว่า

เชื่อว่าหลายๆ เรื่องทุกคนเก่งกว่าผม ฉะนั้นต้องช่วยกัน เราเป็นทีมเดียวกัน ฝากไว้แค่นี้

การสื่อสารและรูปแบบการทำงานของนายชัชชาติ ผ่านตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ที่เน้นความเรียบง่าย มองทุกฝ่ายเป็นเพื่อนและปลุกใจให้ร่วมกันทำงาน ลงพื้นที่รับฟังปัญหาด้วยตัวเอง เพื่อนำมาสังเคราะห์หาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด ในความเป็นจริงต้องยอมรับปัญหามากมายหลายต่อหลายเรื่องใน กทม.ไม่สามารถ แก้ได้โดยผู้ว่าฯกทม. เพียงคนเดียว ในห้วงของวาระการทำหน้าที่ 4 ปี

แต่จากการสื่อสารผ่านบทบาทภาวะผู้นำ และความตั้งใจจริง ของนายชัชชาติ ในตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ พร้อมที่จะให้โอกาสและความร่วมมือในการร่วมกันทำงานกับนายชัชชาติ เพื่อหวังให้กรุงเทพฯเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

แม้นายชัชชาติ จะเป็นเพียงผู้ว่าฯกทม. ซึ่งเป็นผู้นำในระดับเมืองหลวง แต่ด้วยวิสัยทัศน์ในบทบาทของผู้นำต่อการบริหารงาน นำมาซึ่งการเปรียบเทียบถึงภาวะผู้นำและการบริหารงานกับผู้บริหารประเทศ อย่างนายกรัฐมนตรี ที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจน

ทั้งการสื่อสาร มุมมองต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนการสร้างความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้ร่วมกันมาทำงาน จนมีเสียงเชียร์ของประชาชนบางคน ส่งถึงนายชัชชาติว่า อยากจะให้เป็นนายกรัฐมนตรี

ปรากฏการณ์การที่นายชัชชาติ ชนะการเลือกตั้งจนถึงการเข้ามาทำหน้าที่ผู้ว่าฯกทม. จึงมีนัยยะที่ส่งผลต่อการเมืองในภาพใหญ่ ที่ทุกพรรคการเมืองจะต้องวิเคราะห์และถอดบทเรียนผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเลือกตั้งทั่วไป ในช่วงปี 2566

ขณะที่รัฐบาลต้องยอมว่ารับกระแสความนิยมอยู่ในช่วงคงที่และถดถอย ตามสภาพของรัฐบาลที่อยู่ในช่วงปีสุดท้ายก่อนครบวาระ แม้จะผ่านวาระร้อน เรื่องแรกจากการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในวาระรับหลักการ ไปด้วยคะแนนเสียง รับหลักการ 278 เสียง ไม่รับหลักการ 194 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง แต่ก็ผ่านพ้นด้วยเกมการเมือง ในเรื่องของการเจรจาต่อรองของผู้มีอำนาจในรัฐบาลกับแกนนำกลุ่มการเมืองที่ควบคุมเสียงชี้ผลการอยู่รอดของรัฐบาล

ทั้ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และรักษาการเลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) และกลุ่ม 16 ที่ประกาศจุดยืนทางการเมืองว่าจะสนับสนุนรัฐบาลเป็นเรื่องๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

ประเด็นร้อนที่สอง ที่จะเขย่าสถานะของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 15 มิถุนายนนี้

ซึ่งเมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติแล้ว ตามรัฐธรรมนูญนายกฯจะยุบสภาไม่ได้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในช่วงปีสุดท้ายของรัฐบาล แน่นอนพรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมทั้งกลุ่มการเมืองที่ยังมีเสียงสะวิงโหวต จะต้องเดินหน้าไปสู่เป้าหมายล้มรัฐบาล

ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์สำคัญถึงความเป็นเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เสียงโหวตอาจจะไม่จบอย่างราบรื่นและผ่านฉลุยเหมือนกับการลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2566 ในวาระแรก

กระบวนการต่อรองทางการเมืองในห้วงเวลาดังกล่าวจะยิ่งเข้มข้นเป็นอย่างมาก เนื่องด้วย ผลของการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นเป้าใหญ่ที่สุดของการอภิปรายในครั้งนี้

หากปฏิบัติการเขย่าเก้าอี้นายกฯ ในรอบที่สองเกิดสำเร็จ รัฐบาลก็มีอันเป็นไปอยู่ไม่ครบวาระได้เหมือนกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image