ชัชชาติ ถกผู้บริหาร กทม.นัดแรก หารือ 4 ประเด็น ยันชง ศบค.เปิดแมสก์ในที่โล่ง

ชัชชาติ ถกผู้บริหาร กทม.นัดแรก หารือ 4 ประเด็น ยันชง ศบค.เปิดแมสก์ในที่โล่ง

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 6 มิถุนายน ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม. (ดินแดง) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหาร กทม.ครั้งที่ 7 ประจำปี 2565 และเป็นครั้งแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. โดยมีคณะผู้บริหารทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำเข้าร่วมครบองค์ อาทิ นายจักกพันธุ์ ผิวงาม นายวิศณุ ทรัพย์สมพล ผศ.ทวิดา กมลเวชช นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. ทั้งนี้ การหารือใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ

จากนั้น นายชัชชาติแถลงว่า ที่ประชุมมีวาระการประชุม 4 เรื่อง เรื่องแรก โรคโควิด-19 ซึ่งจากการดูตัวเลขจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อ อัตราการครองเตียงพบว่าสถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งคิดว่าใกล้ถึงเวลาแล้ว จึงได้หารือเรื่องการถอดหน้ากาก แต่ต้องรอหารือในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เพื่อพิจารณาก่อนเสนอไปยัง ศบค.ชุดใหญ่ เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

“นอกจากนี้ ยังมีเรื่องโรคฝีดาษลิง ซึ่งเป็นโรคติดต่อ แต่ยังไม่มีตัวเลขผู้ป่วยในเมืองไทย จากกรณีวานนี้ (5 มิ.ย.) ที่มีการรวมตัวกัน มีหลายคนกังวลกับการติดต่อ ยืนยันว่าการติดต่อคนละรูปแบบกัน อย่างไรก็ตาม ยังยึดมาตรการการป้องกันทั้งหมดอย่างเข้มข้นต่อไป” นายชัชชาติกล่าว

Advertisement

ผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า 2.เรื่องงบประมาณ ได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้จัดทำงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2566 ให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยนโยบาย 214 ข้อ ส่วนใหญ่ มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ที่กำหนดอยู่ในยุทธศาสตร์แต่ละด้าน ดังนั้น จึงจะปรับแนวทางการทำงานให้ชัดเจนขึ้น

3.เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานไปทำการสำรวจจุดอ่อนและช่องโหว่ ของการ ทุจริตคอร์รัปชั่น พร้อมเสนอแนวทางป้องกัน ก่อนรวบรวมเพื่อจัดทำเป็นแผนต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ภายใน 1 สัปดาห์ ตามนโยบายงบประมาณฐานศูนย์ Zero-Based Budgeting

“โดยได้เชิญอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาร่วมประชุมด้วย ขณะเดียวกันจะทบทวนโครงการขนาดใหญ่ ที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก หรือบางโครงการที่เร่งรัดในการเบิกจ่ายงบประมาณ แต่ผลงานที่ทำได้นั้น กลับไม่มีความคืบหน้า เช่น การปรับปรุงสวนลุมพินี ปรับปรุงภูมิทัศน์สวนคลองช่องนนทรี ว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งโครงการดังกล่าว แบ่งการก่อสร้างออกเป็นหลายเฟส ดังนั้น เฟสใดที่ดำเนินการไปแล้ว ก็จะเร่งรัดให้แล้วเสร็จ ส่วนเฟสที่เหลือ จะต้องไปทบทวนความคุ้มค่าและความเหมาะสมกับการใช้งบประมาณอีกครั้ง” นายชัชชาติกล่าว และว่า 4.เรื่องการบำบัดน้ำเสีย พบว่ามีหลายชุมชนปล่อยน้ำเสียลงคลอง ดังนั้น จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปสำรวจ เพื่อจัดทำแผนบำบัดน้ำเสียในชุมชน ซึ่งสามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องรอโครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียให้แล้วเสร็จถึง 11 ปี และใช้งบหลายหมื่นล้านบาท ปัจจุบันมีการดำเนินการแล้วที่คลองลาดพร้าว ดังนั้น จึงให้ไปทำแผนให้ชัดเจนที่คลองเปรมประชากรและคลองแสนแสบด้วยว่าจะทำกี่ชุมชนและกี่จุด เพื่อสรุปอีกครั้ง

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image