เฉลิมพระเกียรติ พระพันปีหลวง 90 พรรษา สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงเป็นประธานงานกาล่าดินเนอร์ “สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565” ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยมี คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจ และวิชาชีพ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ หรือ สสธวท พร้อมคณะกรรมการ ในฐานะผู้จัดงาน เฝ้าฯ รับเสด็จ

ในโอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชกรณียกิจอันเกี่ยวเนื่องกับผ้าไทย และการแสดงแบบเสื้อชุดผ้าไทย “สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์ ผ้าไทยร่วมสมัย ไทยนิยม” โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ผ้าไทย ให้มีความร่วมสมัย สามารถสวมใส่ได้ในทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส และคงไว้ซึ่งเสน่ห์ความเป็นไทยได้อย่างสง่างาม สร้างความนิยมและความภาคภูมิใจในการสวมใส่ผ้าไทยได้จริงในชีวิตประจำวัน และสร้างให้เกิดกระแสนิยมในการแต่งกายด้วยผ้าไทย
รวมทั้ง เพื่อต่อยอดให้ผ้าไทย เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทย และเผยแพร่สู่สากล โดยผ่านเครือข่ายองค์กรสมาชิกนานาประเทศ การแสดงแบบเสื้อในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้เป็นต้นแบบผ้าไทยกิตติมศักดิ์จากแวดวงต่าง เป็นผู้แสดงแบบเสื้อกว่า 70 คน อาทิ สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย, กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร, จรรย์สมร วัธนเวคิน, สมชาย แก้วทอง หรือ ไข่ บูติค, พอฤทัย ณรงค์เดช, พัชรพิมล ยังประภากร, แพรี่พาย-อมตา จิตตะเสนีย์, มีชัย แต้สุริยาล, ฐิตินันทน์ วัธนเวคิน, ศิริชัย ทหรานนท์ เป็นต้น





ทั้งนี้ สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจ และวิชาชีพ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดงานดังกล่าว ภายใต้แนวคิด “ไทยนิยม” เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการพัฒนาส่งเสริมงานหัตถศิลป์ไทย ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของไทยให้เป็นที่แพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยนําเสนออัตลักษณ์ของผ้าทอท้องถิ่น เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหมไทย ซึ่งเป็นมรดกอันล้ำค่าแห่งภูมิปัญญาของไทย
ความภาคภูมิในอัตลักษณ์และการส่งเสริมวัฒนธรรมไทย


