ร้อยคำสอน ‘หลวงพ่อจรัญ’

พระเดชพระคุณ “พระธรรมสิงหบุราจารย์” (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม) เป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย มีปฏิปทาจริยาวัตรที่งดงามเป็นพระสุปฏิปันโนหาได้ยากยิ่ง ได้สร้างความดีไว้มากมายเป็น “แบบอย่างที่ดี” ของศิษยานุศิษย์ทุกหมู่เหล่า

“หลักธรรมคำสอน” ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อเป็น “แนวทาง” ให้ลูกศิษย์นำไปประพฤติปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริงตามมรรคธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นทางสายเอกที่จะทำให้ “ผู้ปฏิบัติตาม” พ้นจากความทุกข์ได้

คำสอนที่รวบรวมนี้เป็นคำสอนที่สั้นๆ ของหลวงพ่อ มีใจความชัดเจนให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องนั้นๆ ได้อย่างพอเพียงแก่การนำไปปฏิบัติ มีพระพุทธพจน์บทหนึ่งใจความว่า…

“คาถาบทเดียวที่บุคคลฟังแล้วสงบระงับได้ ย่อมประเสริฐกว่าคาถาแม้ตั้งพัน แต่ไม่มีบทอันเป็นประโยชน์เลย”

Advertisement

แม้ว่าวันนี้หลวงพ่อละสังขารเข้าสู่พระนิพพานแล้ว ด้วยวัย 87 ปี แต่ด้วยศิษยานุศิษย์ทั้งหลายและผู้เขียนได้ดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้น เป็นประจำทุกอาทิตย์ 10 กว่าปี ต่างยังคงพากเพียรปฏิบัติตามคำสอนเจริญรอยตามครูบาอาจารย์ พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม) ตราบที่สุดแห่งธรรม

1.พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความเพียรพยายาม ผลทุกอย่างต้องขึ้นมาจากการสร้างเหตุทำให้เกิดผลที่ ตนต้องการด้วยความเพียรพยายามอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ไม่มีการสูญเสียใดๆ ที่น่าเสียใจเท่ากับการเสียเวลา เสียเวลาเพียงหนึ่งวินาทีก็เท่ากับสูญเสียส่วนหนึ่งของชีวิต อายุที่เราได้นั้นคือ ชีวิตที่เราสูญเสียไป

2.เวลาเป็นสิ่งเดียวในโลก ที่ทุกคนได้รับเสมอกัน ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันเลยแม้แต่คนเดียว แต่ใครจะใช้เวลาแต่ละวินาที อย่างมีค่าและคุ้มค่ากว่ากัน นี่แหละเป็นเรื่องน่าคิด

Advertisement

3.พระพุทธองค์ทรงเป็นเพียงผู้ชี้ทางแห่งความดีให้เท่านั้น เราไม่ประกอบกรรมดีด้วยตัวเราเองแล้ว จะไปสวดมนต์อ้อนวอน หรือบูชาท่านด้วยอามิสที่มีค่าเพียงใด ท่านก็ไม่อาจเป็นที่พึ่งแห่งเราได้ เพียงแต่นับถือ แต่ไม่ปฏิบัติ จะได้อะไรหรือ?

4.ขอท่านจงถามตัวเองว่า มีสักวันหนึ่งไหมในชีวิตของท่านที่ได้ใช้ไปด้วยการตามระวังรักษาจิต และประคองจิตของท่านให้น้อมไปแต่ในทางที่เป็นกุศลตลอดวัน มีสักชั่วโมงหนึ่งไหมที่ท่านได้ใช้สติเฝ้าดูการดำเนินของจิต เฝ้าดูปฏิกิริยาอันสับสนของจิตที่มีต่ออารมณ์ภายนอกตลอดหนึ่งชั่วโมง หากท่านไม่เคยทำดังนี้เลย ไม่นึกเสียดายหรือว่าตลอดเวลานานปีในชีวิตของท่าน ท่านจะใช้เวลาเหล่านั้นไปได้สารพัดอย่าง ไม่เลือกว่าจะเป็นไปในทางที่เป็นสาระหรือไม่เป็นสาระ แต่ท่านมิได้ยอมใช้เวลาแม้แต่สักวันหนึ่งหรือเพียงชั่วโมงหนึ่ง เพื่อพิสูจน์สัจธรรมของพระพุทธเจ้า

5.พระพุทธเจ้าสอนให้คนขยันหมั่นเพียร บางคนชอบแต่พักผ่อน อย่าลืมว่า มีดยิ่งลับยิ่งคม สมองยิ่งใช้ยิ่งคล่อง ส่วนการพักนั้น ยิ่งพักยิ่งจะทำให้ปัญญาทึบ คนยิ่งทำงานยิ่งจะอายุยืน งานที่ทำจะยิ่งทำให้สติปัญญาแตกฉาน หลักที่ควรจำคือ ขยันเอาการงานสะอาด ฉลาดรอบคอบ ชอบระวัง ตั้งใจตรง ทรงศีลธรรม นำถูกทาง ปลูกสติ ดำริชอบกอปรกุศล ผลอนันต์ ถ้าทำได้ทั้งเก้าข้อนี้ จะก้าวไปสู่ความเจริญ จะประสบผลสำเร็จ จะได้งานได้การเป็นกำไรของชีวิต

6.พระพุทธเจ้าสอนให้เราดูตัวเอง ให้ใช้ปัญญาพิจารณาทุกข์ ที่เรามาปฏิบัตินี้ก็เพื่อมาดูตัวเอง เพื่อพัฒนากาย พัฒนาจิต ตั้งสติอารมณ์ การปฏิบัติต้องผ่านความยากลำบาก เพื่อที่จะได้รู้ว่าทุกข์ของเราเป็นเช่นนี้แหละหนอ คนอื่นก็มีทุกข์เหมือนกับเรา คนที่ไม่เคยปฏิบัติกรรมฐาน จะไม่เห็นว่าทุกข์เป็นอย่างไร

7.คนมีธรรมะเป็นคนขยัน คนปฏิบัติธรรมมีแต่ความขยันหมั่นเพียรไม่มีขี้เกียจเลย คนมีคุณธรรมมีค่าสูงมาก ถ้าจิตใจมีคุณธรรม มีคุณค่าของจิต ผลงานก็ตามขึ้นมา ชีวิตมีค่า เวลาก็มีประโยชน์เกิดขึ้น เรามาปฏิบัติธรรมกันต้องให้ถึงธรรมะ อย่าลดละภาวนาได้ตลอดรายการ มีสติสัมปชัญญะ สวยน่ารักจริงๆ จะเดิน จะยืน จะนั่ง จะนอน จะเหลียวซ้าย

แลขวา จะคู้เหยียด เหยียดขา มีระบบมีระเบียบ เพียบด้วยวินัย มันจะออกมาชัด จะควบคุมตัวเอง

8.คนเราตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย เหตุที่ชักนำให้เกิดความทุกข์นั้นได้แก่ตัณหา เมื่อดับตัณหาซึ่งเป็นเหตุเสียแล้ว ทุกข์ซึ่งเป็นผลย่อมดับไปตาม เพราะว่าตัณหาเป็นเหตุของอุปาทาน คือ ความเข้าไปยึดถือเบญจขันธ์ ว่าเป็นตัวตนอันเป็นจุดอุบัติของทุกข์ทั้งปวงดังนั้น เมื่อตัณหาดับ อุปาทานก็ดับไปตาม เมื่อความเข้าใจยืดถือเบญจขันธ์ 5 ในขณะเดียวกัน เบญจขันธ์ก็เป็นอันถูกถอนไปด้วยในขณะเดียวกัน เบญจขันธ์ที่ดำรงอยู่ก็จะเป็นแต่สักว่าเบญจขันธ์ที่แปรเปลี่ยน จะเสื่อมจะแตกทำลายไปอย่างไร ก็ไม่ก่อความทุกข์ให้แก่ใคร เพราะไม่มีใครเข้าไปยึดถือมันเสียแล้ว

9.คนที่มีสติสัมปชัญญะ จะเป็นมนุษย์บริสุทธิ์เหมือนทองคำธรรมชาติ เหมือนเจ้าเงาะป่า ปากมันไม่พูด จิตไม่คิด ทำสมาธิภาวนา ข้างในมันมีปัญญาเรียกว่า พระสังข์ทอง ถ้าเราทำได้เช่นสัมผัสแล้วมีสติ เราจะยิ้มแย้มแจ่มใส จิตใจก็ร่มเย็นเป็นสุข จิตมีสติ มีความสุข จิตใจสงบไม่วุ่นวาย เพราะสำรวมสังวรแล้ว ระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น ไม่ให้ความประมาทเกิดขึ้น เท่านี้ก็มีความสุขแล้ว “นัตถิสันติปะรัง สุขัง” สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี

10.ถ้าเราเอาน้ำสกปรกไปล้างถ้วยชามสกปรก จะหายสกปรกหรือ ต้องเอาน้ำสะอาดไปล้างมันถึงจะสะอาดหมดจด เหมือนเราบำบัดน้ำเสียออกจากหัวใจ นั่งภาวนาพองหนอยุบหนอ เป็นต้น ก็เหมือนขจัดน้ำเสียออกไป ทำให้จิตใจดี อารมณ์ดีหายใจเข้ายาวๆ หายใจออกยาวๆ แล้วกำจัดน้ำเสียที่อารมณ์นั้นออกไปทีละหยดทีละหยด แล้วน้ำที่เหลืออยู่ก็จะใส นั่นแหละท่านจะรู้ตัวท่านเองว่าท่านมีกรรมอะไร ท่านมีอะไรเป็นโรคประจำตัวบ้าง แยกแยะออกถ้าน้ำใสจะเห็นก้นแก้ว น้ำขุ่นจะมองไม่เห็น ไม่งั้นจะกลายเป็นเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นความชั่วเป็นความดี เลยไม่รู้ตัวว่าตัวเองชั่ว กลับมีทิฐิ ใครเตือนไม่ได้โกรธทันที

11.ศีลนี้ ไม่ได้หมายความว่า ต้องไปรับกับพระวัดโน้นวัดนี้แต่ประการใด ท่านมีสติไหม หนึ่งนาที หรือห้านาทีของท่าน ท่านมีสติควบคุมจิตไหม มีสัมปชัญญะ รู้ตัว รู้นอก รู้ใน รู้จิต รู้ใจ รู้สิ่งที่มีประโยชน์ รู้กาลเทศะกิจจะลักษณะ รู้บาป รู้บุญ รู้คุณ รู้โทษ รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์หรือไม่ประการใด ตรงนี้คือ ศีลฯ

12.วันหยุดควรเข้าวัดปฏิบัติธรรม บางพวกชอบไปทัวร์บุญไปชมบารมีครูอาจารย์ แต่น่าจะคิดมุมกลับว่าควรทัวร์อารมณ์ตัวเองบ้าง ชมบารมีตัวเองบ้าง ถามว่าบารมีคืออะไร ก็ตอบไม่ได้ บารมีชั้นประถม คือ ความเพียร บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร บารมีชั้นมัธยม ก็คือ ตั้งใจทำงาน อย่าทิ้งงานในหน้าที่รับผิดชอบ บารมีชั้นมหาวิทยาลัย คือ ความอดทนสร้างความดีไม่ต้องกลัวใครมานินทาอาจหาญในธรรมสัมมาปฏิบัติ ไม่ต้องกลัวใครนินทา โยมไปชมเขาว่า (เปรียบได้กับชมบารมีครูบาอาจารย์) แล้วโยมเคยปลูกมะม่วง สักต้นหนึ่งไหมเคยปลูกทุเรียนไหม คิดได้ไหมนี่

13.ญาติโยมอย่าประมาทการเจริญกรรมฐานเป็นการแสวงหาความสุขความสงบพยายามตั้งสติอารมณ์สร้างความเพียร สร้างบารมีตั้งใจเจริญพระกรรมฐาน มีสติทุกลมหายใจเข้าออก ต้องนึกอยู่เสมอว่าเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ร่างกายเสื่อมไปเราต้องแก่ไปทุกๆ วินาที จงเร่งสร้างความดีอย่าประมาทความตายจะมาถึงเราเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ได้ รีบทำความดีเสียเดี๋ยวนี้ อย่าผัดวันประกันพรุ่ง บางคนไม่ทันแก่ก็ต้องมาตาย บางคนหลงคิดผิดว่าการมีเงินทองเป็นความดี ไม่เคยสร้างความดีหาความสุขในจิตใจไม่ได้

14.ใครจะไปเหนือมาใต้ ก็ตั้งสติไว้ ไม่ต้องกังวลสนเท่ห์แต่ประการใด ใครจะอย่างไร เราก็ไม่รู้สึกอะไร จะได้อะไรเสียอะไรเฉย ตั้งสติไว้จะสบาย ไม่สบายอย่างไร ก็ธรรมดา ไม่อยากรักใคร ไม่อยากเกลียดใคร ไม่มุ่งหวังสิ่งใด ไม่มุ่งหมายอะไรจากใคร ก็รู้สึกว่า ไม่มีเรื่องต้องวุ่นวายไม่มีปัญหา ซึ่งเป็นสัญญาณแห่งการไม่มีภัยอดและทน

15.ผู้หวังความเจริญก้าวหน้า ควรเพิ่มพูนทั้งความอดและความทน เริ่มด้วยอดใจ โดยไม่ปล่อยให้เป็นทาสของความอยาก ขันติ “ความอดทน” สำคัญที่สุดเปรียบเหมือนเสาบ้านทีเดียว บ้านเรือนถ้าขาดเสาก็จะกลายเป็นไม้เราดีๆ นี่เอง ถ้าขาดความอดทนความดีอื่นก็ไม่เจริญ อด คือ อดต่อสิ่งที่ชอบ ทน คือ ทนต่อสิ่งที่ชัง ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image