‘อาคม’ เผยปัจจัยภายนอกฉุดบาทอ่อนค่า ยัน ธปท.ดูแลใกล้ชิด ส่วนเงินเฟ้อ ไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศค่อนข้างต่ำ

“อาคม” เผย ปัจจัยภายนอกฉุดบาทอ่อนค่า ยัน ธปท.ดูแลใกล้ชิด ส่วนเงินเฟ้อ ไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศค่อนข้างต่ำ รบ.ดูแลตลอด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนลงนั้น มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย โดยมีภาวะเศรษฐกิจภายนอกเป็นสำคัญ อาทิ ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้น ขณะเดียวกัน ค่าเงินหยวน ของประเทศจีนก็เริ่มแข็งขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาจจะทำให้มีการไหลออกของเงินทุนบ้าง

นายอาคม กล่าวว่า ทั้งนี้ ในตลาดตราสารหนี้ไทยก็มีผลกระทบเล็กน้อย แต่นักลงทุนจากต่างประเทศก็ยังคงให้เชื่อมั่นกับตราสารที่ออกโดยประเทศไทยอยู่ ขณะที่ตลาดทุน ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามตลาดของทั่วโลก โดยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด

นายอาคม กล่าวว่า สำหรับทิศทางเงินเฟ้อไทย ที่พุ่งขึ้นสูงถึง 7.66% ถือว่าสูงสุดในรอบ 13 ปีนั้น หากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยยังถือว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ ซึ่งในเรื่องเงินเฟ้อ ทางรัฐบาลยังมีมาตรการออกมาดูแล เฉพาะกลุ่ม ทั้งเรื่องราคาสินค้า และราคาพลังงาน นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังเตรียมการ หารือ กับกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการหามาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มอยู่

นายอาคม กล่าวถึงมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิต น้ำมันดีเซล ที่จะครบกำหนดในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ ว่า ยังคงมีเวลาพิจารณาอยู่ โดยราคาน้ำมันโลก ในขณะนี้ก็มีทั้งเพิ่มสูงและลดลง ซึ่งล่าสุดราคาน้ำมันดิบจากเวสต์เท็กซัส ลดลงถึง 10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ในส่วนของไทยราคาน้ำมันจะยังไม่ลดลง เพราะใช้ราคาอ้างอิงจากราคาน้ำมันดิบดูไบ ขณะเดียวกันก็ต้องดูอีกหลายปัจจัย เช่น ต้องดูภาระเรื่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย

Advertisement

นอกจากนี้ นายอาคม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาเปิดตัว “แผนที่การลงทุนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” (Launch of Thailand SDG Investor Map) ว่า งานนี้เป็นความร่วมมือโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNPD) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ก.ล.ต. และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเป็นการส่งเสริมการลงทุน หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโควิด ในช่วง 2 ปี ก็ว่างจากการลงทุนไปเยอะ ความร่วมมือนี้จึงจะเข้ามาเป็นสนับสนุนการลงทุนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม การจะสนับสนุน การลงทุนในเรื่องของ บีซีจี ซึ่งที่ผ่านมา เห็นบริษัทใน ตลาดหลักทรัพย์ ได้หันมาลงทุนด้านนี้แล้วหลายกลุ่ม อาทิ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ลงทุนที่อยู่อาศัย บ้านอัจฉริยะ และลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ ในส่วนของกระทรวงการคลัง ออกพันธบัตร (บอร์น) เพื่อยั่งยืน ที่ใช้ในการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และได้มีการเยียวยาผู้กระทบจากโควิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image