สะพานเชื่อมสมุย-ขนอม เสียงจากคนสองฟากฝั่ง

สะพานเชื่อมสมุย-ขนอม
เสียงจากคนสองฟากฝั่ง

สะพานเชื่อมเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี กับ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ระยะทาง 17 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 25,000 ล้านบาท เป็นอีกหนึ่งโครงการยักษ์ที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางไปมาหาสู่กัน การขนส่งสินค้า และกระตุ้นการท่องเที่ยว

เป็น 1 ใน 5 โครงการที่เมื่อเร็วๆ นี้ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการบูรณาการ การพัฒนานวัตกรรม และโครงข่ายทางถนนร่วมกัน ระหว่างกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กพท.) รวม 5 โครงการ วงเงินกว่า 233,799 ล้านบาท ซึ่งอีก 4 โครงการ ได้แก่

1.โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จ.ภูเก็ต หรือทางด่วนเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 30 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 30,456 ล้านบาท 2.โครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 305 (ปทุมธานี-รังสิต-องครักษ์) ระยะทาง 20 กิโลเมตร เป็นทางด่วนสายอุดรรัถยา-ปทุมธานี มูลค่าโครงการ 38,557 ล้านบาท 3.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายทางยกระดับศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 18 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 43,185 ล้านบาท

4.โครงข่ายทางสนับสนุนการเชื่อมต่อระบบขนส่งหลักของประเทศ ช่วงสมุทรสาคร-สมุทรปราการ (สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ และถนนเชื่อมต่อ) ระยะทาง 72 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 96,600 ล้านบาท

Advertisement

ทั้งนี้ เกาะสมุย มีแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังไปทั่วโลก มีการให้ฉายาเป็น สวรรค์กลางอ่าวไทย ปัจจุบันการเดินทางมีอยู่ 2 ทางคือ ทางเรือเฟอร์รี่ และทางเครื่องบิน ถือเป็นข้อจำกัดหนึ่งในการกระตุ้นท่องเที่ยวเกาะสมุย จึงมีแนวคิดผลักดันให้สร้างสะพานข้ามเกาะสมุยขึ้นมา เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทางไปยังเกาะสมุย โดยมีการเรียกร้องไปยังรัฐบาลเพื่อขอสร้าง สะพานเกาะสมุย ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับการท่องเที่ยว การขนส่ง และประชาชนในพื้นที่

วิรัช พงศ์ฉบับนภา หรือ โกฉุย เจ้าของโรงแรมพาวิลเลี่ยน สมุย วิลล่า แอนด์ รีสอร์ท ผู้เคยออกแบบสะพานข้ามเกาะสมุย เผยว่า ผมออกแบบสะพานเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา เพราะมองว่าในอนาคตหากเกาะสมุยไม่เตรียมความพร้อมการเดินทางเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวแล้ว อาจทำให้เกาะสมุยไม่ได้เป็นจุดหมายปลายทางการเดินทางของนักท่องเที่ยวได้จากปัญหาการเดินทางโดยเรือเฟอร์รี่ที่ล่าช้า ส่วนการเดินทางด้วยเครื่องบินก็มีขีดจำกัดและค่าโดยสารก็แพง

“การออกแบบสะพานของผมคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย โดยมีช่องทางรถยนต์ และเลนสำหรับรถจักรยานยนต์ที่แยกส่วนเพื่อความปลอดภัย ส่วนบริเวณกึ่งกลางสะพานออกแบบเป็นจุดชมวิว มีที่จอดรถเพื่อชมความงามของทะเลอ่าวไทยและถ่ายรูป นอกจากนี้ ด้านล่างมีพื้นที่ช้อปปิ้งมอลล์ และลานสำหรับทำกิจกรรม การออกแบบนี้เป็นเพียงแนวความคิดของผม แต่หากรัฐทำจริงก็อยากให้มีรูปแบบอย่างที่ผมคิดไว้

Advertisement

ผมในฐานะคนเกาะสมุย ขอขอบคุณนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เห็นความสำคัญโครงการสะพานข้ามเกาะสมุยเป็น 1 ใน 5 โครงการยักษ์ ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมการท่องเที่ยวของไทย และสร้างอนาคตให้กับลูกหลาน” โกฉุยสนับสนุนและขอบคุณ รมว.คมนาคม

ด้าน รัชชพร พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย เสริมว่า สะพานเกาะสมุย ที่ชาวบ้านร่วมผลักดัน และล่าสุดกระทรวงคมนาคมไฟเขียวแล้ว ถ้ามีสะพานนี้เกิดขึ้นจะมีช่องทางการเดินทางที่สะดวกขึ้น รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งลดลง จะทำให้สินค้าต่างๆ ลดลงตามไปด้วย

แต่ขณะเดียวกันมีสิ่งที่เราต้องมาศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวและจำนวนรถยนต์ที่จะเดินทางเข้ามามากขึ้น ทางเกาะสมุยจะรองรับนักท่องเที่ยวและรถยนต์ได้มากน้อยแค่ไหน เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน การบริหารจัดการขยะ ต้องมีการบริหารจัดการให้ดี

วันที่ 12 สิงหาคมนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะเดินทางมาประชุมร่วมกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวบนเกาะสมุย เพื่อรับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการต่างๆ และจะมีการหารือกันเรื่องสะพานเกาะสมุยด้วย รัชชพรตบท้าย

ข้ามไปฟังเสียงจากคนฝั่งขนอม จ.นครศรีธรรมราช บ้าง ปรีชากร โมลิกา ประธานเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อคนนคร บอกว่า เห็นด้วยกับโครงการสะพานข้ามเกาะสมุย แต่ต้องระดมความคิดเห็นจากประชาชน นักวิชาการ ผู้มีความรู้ ปราชญ์ท้องถิ่น จากคนทั้งสองฝั่งแล้วมาสรุปเสนอประชาชนอีกครั้งหนึ่งก่อนลงมือสร้าง สิ่งที่ห่วงคือความปลอดภัย และถ้าเป็นไปได้ไม่อยากให้สร้างแบบที่ต้องฝังตอม่อลงในทะเล เพราะจะทำให้ระบบนิเวศใต้ทะเลเสียหาย

แน่นอนว่าหากมีสะพานแห่งนี้ เศรษฐกิจทั้งฝั่งสมุยและขนอมจะดีขึ้น นักท่องเที่ยวระยะใกล้จะมีเวลาอยู่สมุยนานมากขึ้น มีโอกาสท่องเที่ยวที่ต่างๆ มากขึ้น เช่น เดินทางไหว้พระธาตุ วัดเจดีย์ ขอโชคลาภจากไอ้ไข่ พักที่ขนอม 1 คืน รุ่งเช้าข้ามฝั่งไปสมุย ย่นระยะเวลาเดินทางได้มาก

หรือจากสมุยมาเที่ยวที่ขนอม เพราะทะเลขนอม สิชล ก็สวยงามไม่แพ้กัน ประธานเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อคนนคร ก็สนับสนุนพร้อมคำแนะนำ

ขณะที่ แดนนี่ เฮช มาร์ ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยวใน อ.ขนอม มีความเห็นต่างว่า ผมอยู่ขนอมนานมากแล้ว มองว่าการสร้างสะพานจะทำให้อรรถรสการท่องเที่ยวหายไป อะไรที่ง่ายๆ จะไม่สนุก ปัจจุบันกว่าจะไปสมุยได้ต้องขึ้นเรือที่ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ใช้เวลา 2 ชั่วโมง มีเวลาดื่มด่ำกับทะเลนาน เมื่อขึ้นเกาะก็มีความสุขกับการท่องเที่ยว จะใช้เวลากี่วันก็ว่าไป นักท่องเที่ยวจึงวางแผนว่าอยู่เกาะสมุยกี่วันและเที่ยวที่ไหนบ้าง แต่หากมีสะพานเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น ผลที่ตามมาคือจะทำให้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติเค้าไม่ได้สนใจความสะดวกในการเดินทาง อยู่ที่เป้าหมายความเป็นธรรมชาติ ถ้ามีความสะดวกสบายจะไปที่ไหนก็ได้ เมื่อมีสะพานความสบายจึงตามมา

“ผมไม่คัดค้าน แต่ไม่เห็นด้วย เพราะทำให้ระบบนิเวศหายไป สัตว์ทะเลที่ชูการท่องเที่ยวขนอม สิชล จะหายไป ต้องบอกคนในพื้นที่ว่าระบบนิเวศจะอยู่อย่างไรด้วย นักท่องเที่ยวไปเที่ยวเกาะเต่า พะงัน (ที่ไม่ใช่ไปฟูลมูน) ก็เพราะทะเลและโลกใต้น้ำที่สวยงามติดอันดับโลก หากสร้างสะพานข้ามระบบนิเวศใต้ทะเลจะเสียหาย และไม่อยากเห็นสมุยเสื่อมโทรม เนื่องจากมีคนไปท่องเที่ยวมากขึ้น อยากให้เน้นคุณภาพการท่องเที่ยว จะได้อยู่นานๆ ดีกว่าเน้นปริมาณ การเข้าถึงง่ายๆ ทำให้มันเสื่อมเร็ว” แดนนี่ เฮช มาร์ ผู้ประกอบการชาวอเมริกันฝากเป็นข้อคิดตบท้าย

เป็นเสียงส่วนหนึ่งของผู้ประกอบการและชาวบ้านจากสมุยและขนอมที่มีต่อโครงการสะพานเชื่อม 2 ฝั่ง ที่รัฐต้องนำไปชั่งน้ำหนักประกอบการพิจารณาตัดสินใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนในท้องถิ่นและส่วนรวมของประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image