คนรุกป่าหรือป่ารุกคน? คำถามที่ต้องตอบ บทเรียนที่ต้องถอด จากนโยบาย‘ทวงคืนผืนป่า’

คนรุกป่าหรือป่ารุกคน? คำถามที่ต้องตอบ บทเรียนที่ต้องถอด
จากนโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’

เป็นอีกหนึ่งมหากาพย์ สำหรับ ‘คดีแสงเดือน’ นั่นคือกรณีของ แสงเดือน ตินยอด ชาวบ้านแม่กวัก อ.งาว จ.ลำปาง หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ ของรัฐในปี 2556 มีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่กลับคำตัดสินคำพิพากษาศาลชั้นต้น สั่งจำคุก 1 ปี เรียกค่าเสียหาย 4 แสนบาท

28 กันยายนที่จะถึงนี้ จะมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา

ก่อนถึงวันนั้นราว 1 สัปดาห์ ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ยื่นหนังสือที่สำนักงานศาลฎีกา สนามหลวง และคณะกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีจากนโยบายดังกล่าว

Advertisement

“จะทำให้เราลืมตาอ้าปากได้ แต่วันหนึ่งเหยียบเราจมดิน แบบชนิดที่หลั่งน้ำตายังหลั่งไม่ออก เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร …ลูกก็ไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะสิ่งที่เราวาดหวังไว้ว่า เมื่อยางโตแล้ว ส่วนนี้แหละที่เราจะส่งลูกไปโรงเรียน ให้มีความรู้ ไม่ให้เหมือนเราที่ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่พอจะลืมตาอ้าปากได้ก็มาจมยิ่งกว่าพ่อแม่อีก…” แสงเดือนเปิดใจในเวทีเสวนา “คดีทวงคืนผืนป่ากรณีแสงเดือน กับกระบวนการยุติธรรมไทย” ณ ห้องประชุมคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งพีมูฟ ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ภาคีsaveบางกลอย และเครือข่ายจัดขึ้น

แสงเดือนย้อนเล่าถึงความหวังเมื่อครั้งลงมือปลูกต้นยางบนที่ดิน ซึ่งคาดหวังให้มีผลผลิตสร้างชีวิตให้ดีขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่สนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกยาง ทว่า ต่อมากลับถูกดำเนินคดีเมื่อมีนโยบายทวงคืนผืนป่า

“เคยได้ยินว่านโยบายนี้ออกมาเพื่อใช้กับนายทุน ไม่ใช่กับประชาชน แต่ผลออกมาคือ มากระทบกับประชาชน” แสงเดือนกล่าว

Advertisement

ในเวทีเดียวกัน นักวิชาการ นักการเมือง และเอ็นจีโอ ผลัดเปลี่ยนแสดงความเห็นในหลากแง่มุม

อย่าดูแค่แผนที่แล้ว “ตีเส้น” คนอยู่มาก่อน ต้องได้สิทธิ

รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า ปัญหาเรื่องป่าไม้ที่ดินเรื้อรังมานาน เป็นเรื่องของการประกาศพื้นที่เป็นเขตป่าสงวนบ้าง เขตอุทยานแห่งชาติบ้าง เขตอนุรักษ์ในชื่อต่างๆ บ้าง โดยที่ไม่ได้ดูว่าตรงนั้นมีประชาชนอยู่มาก่อนหรือไม่ เป็นการประกาศพื้นที่โดยอาศัยแค่แผนที่ และตีเส้น แล้วประกาศเป็นกฎกระทรวงออกมาว่าตรงไหนเป็นพื้นที่ป่า พื้นที่อนุรักษ์ หรือพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

“ผลคือไม่ใช่เรื่องของคนบุกรุกป่า แต่ป่าต่างหากที่ไปบุกรุกคน ไม่ใช่เรื่องของคนบุกรุกอุทยาน แต่เป็นอุทยานแห่งชาติต่างหากที่บุกรุกคน การเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศไทยก็เป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะพื้นที่ป่าของเราในปัจจุบันจากตัวเลขของกรมป่าไม้ คือ 31% ของพื้นที่ ซึ่งก็ถือว่าน้อยเกินไป การที่จะมาทวงคืนผืนป่าก็ฟังดูมีประโยชน์ แต่ต้องไม่ไปทวงคืนผืนป่ากับคนที่เขาอยู่มาก่อนจะเป็นป่า

ดังนั้น เรื่องนี้ทางการต้องแยกแยะระหว่างคนที่อยู่มาก่อน กับคนที่มาทีหลัง ซึ่งเรื่องนี้หลักฐานข้อเท็จจริงดูได้จากภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลังได้หมด ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 หรือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 การประกาศเขตต่างๆ ซึ่งทยอยประกาศตั้งแต่ปี 2523-2524 นั้น มีแผนที่ดูได้ทั้งหมดว่าตรงไหนเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่ป่าแล้ว แม้จะอยู่ในพื้นที่ที่รอบๆ เป็นป่า แต่เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่มาก่อน ดังนั้น ถ้าเป็นเรื่องของคนที่อยู่มาก่อนก็ต้องใช้คอนเซ็ปต์ของคนกับป่าต้องอยู่ร่วมกัน โดยสิ่งที่ควรจะทำคือ ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านกับป่าอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งปกติทั่วไปก็เป็นเช่นนั้น ทั้งเรื่องของที่ดินทำกินและเรื่องของป่าชุมชน”

นักวิชาการท่านนี้ย้ำด้วยว่า เรื่องอาญานั้นต้องดูที่เจตนาเป็นหลัก จริงๆ ศาลชั้นต้นพิพากษาไปแล้ว ถ้าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ไปอุทธรณ์ ก็จบ จะอุทธรณ์ทำไมในเมื่อแนวทางดีอยู่แล้ว

“เรื่องคดีอาญา อย่าไปเน้นที่การเอาประชาชนเข้าคุกเลย และรวมถึงการไปเรียกค่าปรับในราคาซึ่งไม่มีชาวบ้านที่ไหนจะมีปัญญาจ่ายได้หรอก 400,000 บาท ถ้าปรับต้องเหมาะสมกับรายได้ด้วย นี่เป็นข้อที่ผมคิดว่าในเรื่องคดีก็อีกเรื่องหนึ่ง เรื่องที่ทำกินก็เรื่องหนึ่ง ก็ต้องแก้ไขกันโดยที่ต้องเน้นที่ว่าถ้าใครอยู่มาก่อน ส่วนในการแก้ปัญหาคนไม่มีที่ทำกินที่ไม่ได้อยู่มาก่อน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คนที่อยู่มาก่อนเราต้องให้เขาได้สิทธิในที่ทำกิน” รศ.ดร.ปริญญากล่าว

จี้จุดอ่อนทวงผืนป่า ทัศนคติพิมพ์นิยม เปิดช่องใช้ดุลพินิจ “เกินขอบเขต”

ด้าน สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล่าว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้รับคำร้องเรียนหลายพันเรื่อง และในจำนวนนั้นก็เกี่ยวกับผลพวงนโยบายทวงคืนผืนป่าเป็นจำนวนถึง 1 ใน 3

“สิ่งที่ กมธ.พบคือ เวลาที่เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุยในการแก้ปัญหา ทัศนคติของฝ่ายราชการซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย เป็นแบบพิมพ์นิยมที่ถอดแบบกันมาเลย ใน กมธ.ได้ตั้งโจทย์ว่าจะไปแก้ปัญหาชาวบ้านทีละเรื่อง แล้วก็แก้ไม่ได้ หลายเรื่องถูกฟ้อง และเจ้าหน้าที่สภาก็จะบอกว่า กมธ.ไปก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ ในขณะที่ฝ่ายนโยบายที่เกี่ยวข้องไม่เคยเข้ามาร่วมประชุมกับ กมธ.เลย”

สาทิตย์กล่าวว่า แปลกใจเรื่องนโยบายทวงคืนผืนป่าตั้งแต่ต้น หากไปดูคำสั่ง คสช.เมื่อตอนปี 2557 ออกมา 178 คำสั่ง หนึ่งในนั้นมี 2 คำสั่งที่กำหนดวิธีปฏิบัติชัด คือคำสั่ง คสช.ที่ 64 กับ 66 เรื่องทวงคืนผืนป่าเป็นประเด็นที่กำหนดแนวปฏิบัติไว้ชัด เดิมเรื่องป่ากับเขตอนุรักษ์เป็นเรื่องของกรมป่าไม้และกรมอุทยาน แต่ในคำสั่ง คสช.ที่ 64 ไปเพิ่มอำนาจฝ่ายความมั่นคง คือทหาร กอ.รมน. และเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นในเรื่องการทวงคืนผืนป่าไปด้วย

“ประเด็นปัญหาและจุดอ่อนของนโยบายทวงคืนผืนป่า คือการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจ คิดว่ามีโอกาสที่เจ้าหน้าที่จะใช้ดุลพินิจเกินขอบเขตหน้าที่ และมีโอกาสละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน พอมีการออกคำสั่ง คสช.ที่ 66 ก็มีการเพิ่มดุลพินิจให้แก่เจ้าหน้าที่มากขึ้น เช่น พื้นที่ตรงนี้เป็นของนายทุนเลยไม่มีการยึดคืน จึงเกิดปัญหาความไม่เป็นธรรม ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่านโยบายนี้มีปัญหาในเรื่องของการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ และนำไปสู่ปัญหาการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่” สาทิตย์กล่าว พร้อมชี้ช่องว่า เรื่องนี้มีทางออกอยู่ 2 ทาง ได้แก่ 1.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทบทวนโดยการพูดคุยกับสำนักอัยการสูงสุดเรื่องการชะลอการฟ้อง หรือการสั่งไม่ฟ้อง 2.การนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวข้องกับนโยบายทวงคืนผืนป่า เพราะต้องยอมรับว่าการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ของคำสั่ง คสช.นำไปสู่การปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ทั้งละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และเกินขอบเขตอำนาจ

“ถ้าไม่สามารถทำในรัฐบาล หรือสภาชุดนี้ได้ก็มีความเสี่ยงต่อคดีอยู่พอสมควร เดาไม่ถูกอีกเช่นกันว่าสมัยหน้าใครจะเป็นรัฐบาล และจะดำเนินการเรื่องนี้ต่ออย่างไร มิเช่นนั้นทาง กมธ.ก็จะต้องทำเป็นข้อเสนอทิ้งไว้ให้แก่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

เปิดตัวเลข (ทวงได้) 5 หมื่นไร่ คุ้มหรือไม่ รัฐต้องทุ่มเคลียร์คดีอื้อ

สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาอาวุโสมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า การที่คนยากคนจน หรือคนชายขอบถูกดำเนินคดี ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะกรณี แต่เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เห็นได้ชัดเจนว่ามีความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมอย่างมาก ในขณะที่คนจำนวนน้อยส่วนหนึ่งร่ำรวยมหาศาล แต่คนจำนวนมากยังไม่มีอาหารที่จะกินให้รอดพ้นไปในแต่ละวัน

“โครงสร้างในลักษณะเช่นนี้ถูกทำให้เข้มแข็งขึ้นเมื่อมีการกระทำรัฐประหาร ดังนั้น พวกเราต้องสำเหนียก ต้องตระหนักว่าเราต้องไม่สนับสนุนการรัฐประหาร ซึ่งแต่ละครั้งก็ออกกฎหมายเป็นคำสั่ง โดยที่ไม่ได้รับฟังหรือมีส่วนร่วมในการตรากฎหมายของพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ โครงสร้างในเรื่องป่าไม้มีความสับสนมาก รวมทั้งปัญหาโครงสร้างในทางที่ดิน”

สมชายยังยกตัวอย่างให้ขบคิดว่า มีคนหาเช้ากินค่ำไปเก็บขนุนริมคลองหลอดเอามาให้ลูกกิน แต่มีความผิด หากจะตัดสินให้ติดคุกก็สามารถทำได้ หากตัดสินว่าคนนี้เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ไปเก็บขนุนมาประทังชีวิต ให้ติดคุก 1 ปี หรือ 6 เดือน เป็นธรรมหรือไม่ ดังนั้น ความเป็นธรรมคือกฎหมายสูงสุด จะให้ความเป็นธรรมได้ต้องพิจารณาแต่ละกรณีด้วย จะพิจารณาตามนโยบายไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นเอาคอมพิวเตอร์มาตัดสินดีกว่า

ปิดท้ายที่ ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ซึ่งตั้งข้อสังเกตถึงประโยชน์ของนโยบายทวงคืนผืนป่าว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ โดยระบุว่า ตั้งแต่ปี 2557 มีพื้นที่ป่าโดยรวมประมาณ 102 ล้านไร่ แต่เมื่อสิ้นปี 2564 หากดูจำนวนพื้นที่ป่าหลังนโยบายทวงคืนก็พบว่ายังคงมีประมาณ 102 ล้านไร่ เพิ่มมาประมาณ 5-6 หมื่นไร่ ซึ่งไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก

“คุณลงทุนรังแกประชาชนทั้งประเทศ มีคดีความอีกมากมายตั้งกี่หมื่นคดี เรื่องเหล่านี้ยืดเยื้อเท่าไหร่ รัฐจะต้องทุ่มเงินจัดการคดีความอีกเท่าไหร่ พี่น้องประชาชนต้องเสียหายอีกเท่าไหร่ คำถามคือ มันคุ้มไหมกับนโยบายเหล่านี้ ไม่มีความคุ้มค่าใดๆ ที่จะตอบได้เลย ทั้งในทางเศรษฐศาสตร์และในทางสังคม”

จากนั้น ดร.กฤษฎายังหยิบยกเป้าหมายในภาพรวมของนโยบายการจัดการป่าไม้ทั่วโลกว่า

เป้าหมายแรก คือ ป่าไม้ต้องตอบโจทย์ประชาชน โดยเฉพาะคนทุกข์ยากทั้งมวล และในอีก 8 ปีข้างหน้า ความยากจนทั้งหลายต้องหายไปด้วยการจัดการป่าไม้ แต่สิ่งที่รัฐบาลไทยกำลังทำ คือการทำให้ประชาชนจนลงด้วยนโยบายป่าไม้ ถือว่าเป็นการสวนทางกระแสโลกอย่างรุนแรง

เป้าหมายที่ 2 คือการอยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ สังคม กลไกอำนาจรัฐ จะต้องถูกปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล

“แต่ประเทศไทยนั้น พื้นที่ป่ากลับลดลงจากการขยายตัวของกลุ่มทุนในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่านโยบายจัดการเรื่องป่าของประเทศไทยไม่ตอบโจทย์กับสิ่งเหล่านี้เลย แต่กลับปล่อยกลุ่มทุนมีเสรีในการใช้ทรัพยากร สนับสนุนการขยายที่ดิน ผมเสนอว่า พวกเราสามารถขยับเขยื้อน รวมทั้งต่อสู้ในทางนโยบายและทางกฎหมาย” ดร.กฤษดากล่าว ก่อนทิ้งท้ายว่า ในอีกทางหนึ่งก็คือ เราต้องมีเป้าหมายชัดเจนในการทวงคืนผืนป่าจากอำนาจนิยม

กลับมาสู่ประชาธิปไตยของการจัดการป่าที่ยั่งยืนและเป็นธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image