จับสัญญาณพรรคร่วม ถึง ‘บิ๊กตู่’ พร้อมปรับ ครม. กุมความได้เปรียบเลือกตั้ง

จับสัญญาณพรรคร่วม ถึง ‘บิ๊กตู่’ พร้อมปรับ ครม. กุมความได้เปรียบเลือกตั้ง

 

จับสัญญาณพรรคร่วม

ถึง ‘บิ๊กตู่’ พร้อมปรับ ครม.

กุมความได้เปรียบเลือกตั้ง

Advertisement

อำนาจในฐานะฝ่ายบริหารของรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่งเป็นเบอร์หนึ่งกลับมามี เพาเวอร์ฟูลอีกครั้ง

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ได้ทำหน้าที่ต่อในฐานะนายกฯ ภายหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่สิ้นสุดลง เนื่องจากยังดำรงตำแหน่งนายกฯไม่ครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ที่ต้องจับตาหลังจากนี้ นอกจากการเดินหน้าบริหารราชการแผ่นดิน ในช่วงปลายสมัยของรัฐบาล ซึ่งจะครบวาระเทอม 4 ปี ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 พล.อ.ประยุทธ์จะใช้กลยุทธ์และยุทธศาสตร์ใดในการฟื้นความเชื่อมั่นและเรตติ้งของรัฐบาลให้ตีตื้นกลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้นได้หรือไม่

สิ่งที่หลายฝ่ายจับตา คือ การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) แทนตำแหน่งที่ว่างลงทั้งในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในเบื้องต้น คือ 3 เก้าอี้ แบ่งเป็น เป็นโควต้าของพรรค พปชร. 2 เก้าอี้ คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน สัดส่วนของพรรค ปชป. 1 ที่นั่ง คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ “นิพนธ์ บุญญามณี” ยื่นลาออกไป

Advertisement

รวมทั้งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ของ “กนกวรรณ วิลาวัลย์” ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นโควต้าของพรรค ภท. ซึ่งแกนนำพรรค แม้จะรอสัญญาณการปรับ ครม.จาก พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ

แต่มีบางพรรคอย่างพรรค ปชป. ที่ส่งสัญญาณถึงความพร้อมในการปรับ ครม.ไปยังนายกฯ โดยท่าทีของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยืนยันว่า จะถือโอกาสหารือกับนายกฯเรื่องการปรับ ครม.ว่าจะมีความเห็นอย่างไร เนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจในการปรับ ครม. ส่วนของพรรค ปชป.ประสงค์ให้มีบุคคลในนามพรรคทำหน้าที่แทน นายนิพนธ์ บุญญามณี ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ลาออกไปแล้ว ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการของพรรค ไม่มีปัญหาอะไร สำหรับพรรค ปชป.คงจะไม่มีแรงกระเพื่อมภายในพรรคมากนัก ในการคัดสรรบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เนื่องจากจะยึดตามธรรมเนียมและข้อบังคับพรรคที่ระบุไว้ชัดเจน จะยึดหลัก การเป็น ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 5 สมัย โดยมีชื่อ “นริศ ขำนุรักษ์” ส.ส.พัทลุง หลายสมัย และมีอาวุโสในพรรค รวมทั้งมีชื่อของ “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” ส.ส.นครศรีธรรมราช หลายสมัย และเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีคุณสมบัติพร้อมในการนั่งเป็นรัฐมนตรี ซึ่งคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) จะนัดประชุมเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในวันที่ 12 ตุลาคมนี้

ขณะที่พรรค ภท. จากท่าทีของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. ระบุว่า นายกฯยังไม่ได้ส่งสัญญาณอะไรมา ขอรอสัญญาณก่อนค่อยว่ากัน ส่วนจะปรับหรือไม่ปรับต้องดูสถานการณ์แล้วค่อยว่ากัน ในส่วนของพรรคจะประชุมผู้บริหาร ดูเหตุผลสมควรว่าจะปรับหรือไม่ปรับอย่างไร

โชคดีหน่อยที่นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงไม่ได้มีผลกระทบอะไรมาก ไม่ได้ทำให้เสียงาน ตำแหน่งไม่ได้โบ๋ ก็ยังเป็นรัฐมนตรีอยู่เพียงแต่หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งศาลเท่านั้น หากนายกฯส่งสัญญาณมา ส่วนจะเป็นสัดส่วนโควต้า ส.ส.ปราจีนบุรี หรือไม่นั้น ของบางอย่างการเป็นหัวหน้าพรรคก็ต้องเก็บอะไร ไม่ให้ใครรู้มาก

สำหรับพรรค พปชร.ความต้องการปรับ ครม. ของกลุ่ม ส.ส.ภายในพรรคที่ยังไม่มีตัวแทนเข้าไปเป็นรัฐมนตรี ย่อมต้องพยายามให้เกิดขึ้น ทั้งกลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ ที่ต้องออกแรงสนับสนุนส่ง ส.ส.โควต้าภาคใต้ เข้าไปนั่งเป็นรัฐมนตรี เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าให้กับพรรค พปชร. ขณะที่กลุ่ม ส.ส.ปากน้ำต้องสนับสนุน ส.ส.ในกลุ่มของตัวเองเข้าไปเป็นรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน ย่อมจะเกิดแรงกระเพื่อมอีกครั้งภายในพรรค พปชร.จึงอยู่ที่ พล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร.จะจัดสรรดุลอำนาจภายในพรรค พปชร.ให้สงบได้หรือไม่

เพราะหากมีสัญญาณปรับ ครม.จากนายกฯ พรรคร่วมรัฐบาลย่อมไม่ทิ้งโอกาสและความได้เปรียบในการส่งบุคคลเข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรี ควบคุมกลไกอำนาจรัฐ ที่จะช่วยสร้างความได้เปรียบในทางการเมืองให้กับพรรคตัวเองโดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้ายของการนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งทั่วไป ภายหลังที่รัฐบาลปฏิบัติหน้าที่ครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566

หากยึดตามปฏิทินของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คือ วันที่ 7 พฤษภาคม 2566

ที่ต้องจับตา หากจะต้องมีการปรับ ครม.เกิดขึ้นจริง พล.อ.ประยุทธ์จะเลือกกลยุทธ์การปรับ ครม. เพื่อสร้างความได้เปรียบทั้งต่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลได้มากแค่ไหน

กับเดิมพันสูงในทางการเมืองครั้งหน้า คือ ต้องชนะเลือกตั้ง ส.ส. และสามารถรวมเสียงพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันกลับมาจัดตั้งรัฐบาลได้อีกครั้ง

ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญอีกครั้งว่า อำนาจทางการเมืองของ “กลุ่ม 3 ป.” จะได้ไปต่อ หรือหยุดแต่เพียงเท่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image