‘ทวี สอดส่อง’ ห่วงร่างกฎหมายส่งเสริมการเรียนรู้ ที่ระบุคำว่า ‘คนดี’ ถามเป็นคนดีของใคร?

‘ทวี สอดส่อง’ ห่วงร่างกฎหมายส่งเสริมการเรียนรู้ ที่ระบุคำว่า ‘คนดี’ ถามเป็นคนดีของใคร?

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของสมาชิกรัฐสภา พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. … ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) ได้อภิปรายว่า ได้สงวนคำแปรญัตติมาตรา 5 เนื่องจากเป็นเป้าประสงค์สุดท้ายของ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ต้องยอมรับว่าเรามีการเรียนรู้ในระบบ เป้าประสงค์ของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ไปครอบคนที่ทำหน้าที่อยู่แล้วหรือไม่ แย่งงานคนอื่นมาทำหรือไม่ หากเป้าประสงค์คลุมเครือ แอบแฝง เขียนให้กลายเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ที่บังคับใช้ ตีความ จะเป็นกฎหมายที่ไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ แต่สุดท้ายจะเป็นกฎหมายที่มีลักษณะอำนาจนิยม

พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ดังนั้น ในมาตรา 5 จึงอยากจะวางหลักการที่เป็นเป้าประสงค์ไว้ โดยจะเขียนว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิ และโอกาสเสมอกันในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะในช่วงหนึ่งของชีวิตจะมีการเรียนรู้ในภาคบังคับโดยระบบของรัฐอยู่แล้ว แต่การเรียนรู้ที่ได้อภิปรายไปนั้น คณะกรรมาธิการได้นำไปไว้ในมาตรา 6 ซึ่งไม่ได้เขียนว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตมันคืออะไร เมื่อเป็นกฎหมายนำไปใช้แล้วจะนำไปสู่ความสับสนวุ่นวาย เหมือนรวบอำนาจมาให้กรม ซึ่งอยู่ในส่วนกลาง ไม่มีประเทศไหนที่นำการศึกษามาไว้ที่ส่วนกลาง มีแต่กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การกำหนดหลักสูตรก็ได้กำหนดให้โรงเรียนแล้ว

พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า จึงได้เขียนไว้เพื่อให้คนทุกคนได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ยืดหยุ่น หลากหลาย ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความต้องการ และความแตกต่างของบุคคล เพื่อให้บุคคลมีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ส่งมา คือวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ เช่น อารมณ์ สังคม สติปัญญา และเป็นคนดี สังคม คนดี กับสังคม เป็นคนดี ต่างกัน

Advertisement

“การเป็นคนดีเผด็จการยึดอำนาจกดขี่ข่มเหงคนอื่นให้ได้มาซึ่งอำนาจ เมื่อได้อำนาจก็ใช้สังคมคนดี โดยอ้างตัวเองเป็นคนดี ผมคิดว่าบ้านเมืองเราที่เกิดวิกฤตทุกวันนี้เพราะการสร้างคนดี มันเป็นคนดีของใคร เป็นคนดีของคนกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ใช่เป็นคนดีของสังคมที่ดี ดังนั้น ผมจึงได้ตัดคำว่า ความเป็นคนดีออก เพราะในการเขียนของผมนั้นคือการพัฒนาคนให้มีบุคลิกภาพอย่างสมบูรณ์ ตามศักยภาพและความต้องการของตน มนุษย์เป็นคนที่มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี มีความสำคัญ เขาจะต้องมีจินตนาการตามความต้องการของตน ให้มีความสมบูรณ์ทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และความรู้อย่างเท่าเทียม มีคุณธรรม และยึดมั่นในความดี ดีกว่าเป็นคนดี ไม่เช่นนั้น เราจะเห็นว่าการเป็นคนดีของคนคนหนึ่ง ก็ทำให้บ้านเมืองเหลื่อมล้ำและยากจนจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น จึงขอสงวนคำแปรญัตติตามรายงานที่ได้เสนอไป” พ.ต.อ.ทวีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image