‘บิ๊กตู่’ ชัดไปต่อ ‘รทสช.’ การเมืองเข้าโหมดร้อน ชิงตัว ส.ส.-ตัดเกมคู่แข่ง

‘บิ๊กตู่’ ชัดไปต่อ ‘รทสช.’ การเมืองเข้าโหมดร้อน ชิงตัว ส.ส.-ตัดเกมคู่แข่ง

 

‘บิ๊กตู่’ ชัดไปต่อ ‘รทสช.’

การเมืองเข้าโหมดร้อน

ชิงตัว ส.ส.-ตัดเกมคู่แข่ง

Advertisement

การเมืองช่วงปลายปีมีความชัดเจนทั้งกลุ่มอำนาจเก่า อย่าง “กลุ่ม 3 ป.” ที่หนึ่งในพี่น้อง 3 ป. เครือข่ายอำนาจเดิมตัดสินใจจะไปต่อในทางการเมืองกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศความชัดเจนทางการเมืองของตัวเองเมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยระบุเหตุผลไว้อย่างชัดเจนว่า “หลายพรรคการเมืองก็ออกมาเคลื่อนไหวกันเยอะแยะไปหมดและก็เห็นว่าทุกคนอยากทราบว่านายกรัฐมนตรีจะไปอย่างไรต่อไป วันนี้จากสถานการณ์ ที่ได้ติดตามมาตลอดเวลาที่ผ่านมาและเห็นถึงความเคลื่อนไหวของหลายพรรคการเมืองมีการเสนอชื่อผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรค

ที่ผ่านมานายกฯพยายามพิจารณาในเรื่องต่างๆ ด้วยหลักการและเหตุผลต่างๆ มากมายหลายประการ วันนี้พรรครวมไทยสร้างชาติก็ได้เสนอมาแล้วว่ายินดีสนับสนุนนายกฯ คือผม ให้เป็นนายกฯในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ผมจึงจำเป็นต้องทำให้เกิดความชัดเจนเกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันไปให้เกิดความเสียหาย หลายอย่างด้วยกัน

Advertisement

ผมเคยบอกแล้วว่าในช่วงที่ผ่านมา ผมได้รับการสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แต่วันนี้พรรคพลังประชารัฐได้ตกลงใจที่จะเสนอชื่อหัวหน้าพรรค คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นแคนดิเดตนายกฯไปแล้ว เพราะฉะนั้นผมจึงได้ตัดสินใจวันนี้ก็แล้วกัน ความจริงได้เตรียมการมาพอสมควรแล้วว่าจะไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ จะได้สบายใจกัน

สุดแล้วแต่ประชาชนก็แล้วกันว่าจะให้การสนับสนุนหรือไม่อย่างไร สิ่งที่ผมต้องตัดสินใจแบบนี้ เพราะว่าเพราะหลายๆ อย่างที่ผมได้ทำไว้มาอย่างต่อเนื่องหลายปี ที่ผ่านมานั้นก็น่าจะได้มีการสานต่อ ถ้าหากว่าผมสามารถอยู่ได้ในระยะเวลาตามที่กำหนด ในระหว่างนั้นก็จะได้สานต่อในสิ่งที่ยังค้างคา ยังไม่สำเร็จและยังมีปัญหาอยู่เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น”

ความชัดเจนดังกล่าวสืบเนื่องมาจากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้ง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นั่งเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ “นายกฯน้อย” จัดทัพทั้งบุคลากร งบประมาณ และอำนาจรัฐเพื่อไปต่อในทางการเมือง

ความชัดเจนดังกล่าวเป็นตามยุทธศาสตร์แยกกันเดินรวมกันตีของกลุ่ม 3 ป. ที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นหัวหน้าพรรค พปชร. ผ่านความชัดเจนและสัญญาณล่าสุดของสมาชิกพรรค พปชร.ว่าจะร่วมแรง รวมพลังกันขับเคลื่อนใจบันดาลแรงหนุนให้ “พล.อ.ประวิตร” ในฐานะแคนดิเดตนายกฯของพรรค ขึ้นเป็นนายกฯคนที่ 30 ภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ขณะนี้ “พล.อ.ประยุทธ์” ชัดเจนว่า พร้อมรับเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรค รทสช. ที่มี “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” นั่งเป็นหัวหน้าพรรคจัดเตรียมความพร้อมทั้งผู้สมัคร ส.ส. นโยบาย และผู้สนับสนุนพรรค ส่วน “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะ “พี่รอง” ของกลุ่ม 3 ป. แม้จะยังไม่ประกาศชัดว่าจะไปต่อในการเมืองหรือไม่ แต่ด้วยสถานะไม่ร่วมเป็นสมาชิกพรรค พปชร.ตั้งแต่แรกเช่นเดียวกับ “พล.อ.ประยุทธ์” หากจำเป็นจะต้องไปต่อ ย่อมอาจจะเลือกแนวทางที่จะเป็นแนวร่วมช่วย พล.อ.ประยุทธ์

เนื่องจากไม่ต้องการออกมาเป็นผู้เล่นนำในฉากหน้าทางการเมือง

ขณะเดียวกันการเมืองนับจากนี้ไปจนถึงหลังปี 2566 แม้รัฐบาลจะครบวาระการทำหน้าที่ 4 ปี ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ซึ่งไพ่เด็ดในมือที่ “พล.อ.ประยุทธ์” กุมความได้เปรียบไว้ นั่นคือ การยุบสภา จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า รัฐบาลมีเวลาการทำงานนับจากนี้อีก 3 เดือน แต่จากสัญญาณล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยืนยันว่าจะนำพารัฐบาลให้เดินหน้าไปจนครบเทอมหรือไม่ โดย พล.อ.ประยุทธ์ยกเหตุผลว่า ขณะนี้มีหลายปัญหาที่ยังต้องดำเนินการอยู่ เพราะฉะนั้นก็ต้องดูจากเวลาก็แล้วกันแต่อย่างไรก็เป็นไปตามกฎหมาย กกต. การย้ายพรรคอะไรต่างๆ ต้องดูไม่ให้มีปัญหา ต้องหารือกันกับฝ่ายการเมืองกับพรรคใหม่อะไรด้วย และความพร้อมของพรรครัฐบาลด้วย

จากเหตุผลที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุล่าสุด เงื่อนไขที่รัฐบาลจะอยู่ครบวาระ หรือยุบสภา ต้องตัดสินใจอยู่ในพื้นที่ฐานทางการเมืองเป็นหลัก โดยเฉพาะความพร้อมของพรรคใหม่ และพรรคร่วมรัฐบาลในการจัดทัพ ส.ส. รวมทั้งผู้สมัคร ส.ส.ย้ายเข้า-ออกกันให้เรียบร้อย ทั้งพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่มี ส.ส.ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านย้ายร่วมงาน 37 คน

ขณะที่พรรค พปชร.เปิดตัวผู้สมัคร ทั้งจาก ส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และอดีตหัวหน้าพรรค ศท. รวมทั้งอดีตผู้บริหารท้องถิ่น และนักธุรกิจ รวม 55 ชีวิต กระจายลงรับสมัคร ส.ส.ทั่วทุกภาค

เพราะเป้าหมายของการจัดทัพ ทั้งดึง ดูด ส.ส.ของแต่ละพรรค นอกจากจะลดเสียง ตัดคะแนนไม่ให้พรรคคู่แข่งได้เสียงมากกว่า ซึ่งจะส่งผลต่อแผนการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลด้วย

แต่ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของแต่ละพรรคจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ “คณิตศาสตร์การเมือง” ภายหลังการเลือกตั้งจะเป็นตัวชี้วัดว่าพรรคใดจะได้ไปต่อ หรือจอดป้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image