ได้เวลา‘เวอร์ชวลแบงก์’ธนาคารไร้สาขายุคดิจิทัล

ได้เวลา‘เวอร์ชวลแบงก์’ธนาคารไร้สาขายุคดิจิทัล

เรียกว่ากำลังมาแรงกับกระแสการจัดตั้งธุรกิจ “เวอร์ชวลแบงก์” หรือ “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศให้ผู้สนใจสามารถยื่นใบสมัครเข้าคัดเลือกทำธุรกิจดังกล่าวได้ช่วงไตรมาส 2/2566 ภายหลังจากออกหลักเกณฑ์แล้วเสร็จในไตรมาส 1/2566 คาดว่าคนไทยจะได้ใช้บริการพร้อมกันช่วงกลางปี 2568

ระหว่างปี 2566-2568 หรือภายใน 3 ปีนี้ ธปท.วางกรอบการดำเนินงานพิจารณาคุณสมบัติผู้ขอเข้าคัดเลือก 9 เดือน เริ่มจาก ธปท.จะตรวจสอบโดยใช้เวลา 6 เดือน และส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังทบทวนต่ออีก 3 เดือน จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกไตรมาส 2/2567 ให้เวลาผู้ผ่านคัดเลือก 1 ปี เตรียมความพร้อมเพื่อเปิดบริการ เบื้องต้นจะอนุญาตให้จัดตั้งเพียง 3 ราย อาจเปิดเพิ่มเติมในอนาคต ภายใต้การพิจารณาว่าเวอร์ชวลแบงก์สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้บริการเพียงพอหรือไม่

ภายหลัง ธปท.สื่อสารถึงการเตรียมกำหนดหลักเกณฑ์เวอร์ชวลแบงก์ก่อนจะประกาศไทม์ไลน์การดำเนินงานชัดเจนก็มีผู้สนใจเข้ามาเจรจาทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่มกับ ธปท.แล้วประมาณ 10 ราย มีผู้ประกอบการหลายรูปแบบ ทั้งสถาบันการเงินและไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ในจำนวนดังกล่าวเป็นต่างชาติ 3 ราย

“ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. ให้รายละเอียดว่า เวอร์ชวลแบงก์เป็นหนึ่งในเสาหลักภายใต้แผนภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (Financial Landscape) เป็นแนวทางที่ ธปท.ประกาศในปี 2565 มุ่งสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และการเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น

Advertisement

เวอร์ชวลแบงก์แตกต่างจากธนาคารปกติชัดเจน เพราะไม่มีตู้กดเงิน (เอทีเอ็ม) หรือตู้ฝากถอน (ซีดีเอ็ม) ส่งผลให้การทำงานหลุดจากการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม ใช้คนจำนวนมาก เยิ่นเย้อ ระบบงานเก่า อย่างไรก็ตาม การกำกับดูแลธุรกิจจะเป็นแบบเดียวกับการกำกับธุรกิจแบบธนาคารตามปกติ แต่จะเข้มงวดกับระบบงานไอทีห้ามล่มเกิน 8 ชั่วโมงต่อปี หากล่มต้องแก้ไขภายใน 2 ชั่วโมง

ดังนั้น เวอร์ชวลแบงก์จะเข้ามาตอบโจทย์ในการให้บริการคล่องตัวบนการให้บริการผ่านดิจิทัล

สำหรับประเด็นการให้บริการผ่านเวอร์ชวลแบงก์จะเปิดโอกาสให้มิจฉาชีพหลอกลวงผ่านออนไลน์ง่ายขึ้นหรือไม่นั้น ธาริฑธิ์เชื่อว่า “ไม่” เพราะการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวตนผ่านดิจิทัลอย่างรัดกุมและได้มาตรฐาน ดังนั้น การให้บริการจะมีมาตรฐานการป้องกันภัยการเงินได้เทียบเท่ากับธนาคารพาณิชย์

Advertisement

ด้าน “ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ฉายภาพช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางชาติโดยเฉพาะฝั่งเอเชีย ได้ทยอยออกเกณฑ์เพื่อให้ใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา เรียกว่าดิจิทัล โอนลี แบงกิ้ง ไลเซนส์ (ดิจิทัลแบงก์) อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน และฮ่องกง เป็นต้น ส่วนใหญ่สนับสนุนการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการทางการเงิน เปิดโอกาสให้ธุรกิจอื่นเข้ามาแข่งขันในตลาด

ที่สำคัญเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินในเงื่อนไขดีกว่าเดิม จะเห็นผลดีต่อกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี หรือกลุ่มลูกค้ารายย่อยไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐานจากสถาบันทางการเงินแบบดั้งเดิมได้ ขณะเดียวกันหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินในแต่ละประเทศมีนโยบายกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงเกินไปจนส่งผลกระทบต่อระบบการเงินในประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีโมเดลธนาคารไร้สาขาในต่างประเทศ แต่สำหรับไทยอาจต้องคำนึงถึงโครงสร้างของสังคมค่อนข้างแตกต่างกับประเทศอื่น อาทิ 1.ไทยยังคงเป็นสังคมเกษตร ปัจจุบันมีจำนวนครัวเรือนเกษตรกรอยู่ราว 8.1 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 36% ของจำนวนครัวเรือนไทยทั้งหมด นับว่าเป็นสัดส่วนค่อนข้างมาก 2.ไทยมีแรงงานนอกระบบเป็นจำนวนมาก คิดเป็น 53.7% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด และ 3.ไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุราว 10.3 ล้านคน คิดเป็น 15.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

ทั้งนี้ กลุ่มประชากรตามโครงสร้างทางสังคมไทยส่วนใหญ่มักมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างอินเตอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเข้าถึงบริการธนาคารไร้สาขา รวมถึงมีข้อจำกัดเข้าถึงบริการทางการเงินของสถาบันการเงินในระบบ โดยเฉพาะบริการด้านสินเชื่อ เป็นโจทย์ที่ทางการไทยพยายามแก้ไขมาโดยตลอดคือ 1.เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของภาคประชาชน และ 2.ลดต้นทุนของการใช้บริการผ่านตัวกลางทางการเงินในระบบ

ดังนั้น หากทางการไทยต้องการผลักดันให้เกิดธนาคารไร้สาขา เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินของกลุ่มลูกค้าระดับล่างอย่างแท้จริง คาดว่า ธปท.อาจกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาต ผู้เล่นจะต้องแสดงโมเดลให้เห็นว่าจะสามารถเข้าถึงลูกค้าระดับล่างได้จริง ภายใต้ผลที่ไม่ขาดทุน รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้ผู้เล่นในตลาดเข้าไปเจาะกลุ่มตลาดล่างได้มากขึ้น อาทิ เพดานราคายืดหยุ่น หรือแม้แต่การกำหนดระดับรายได้หรืออาชีพ เป็นต้น

ขณะที่ “อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่าสถานการณ์ของสถาบันการเงินดั้งเดิมอย่างธนาคารพาณิชย์ หรือแม้แต่สถาบันการเงินเฉพาะกิจภาครัฐยังคงสามารถดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง แต่ต้องพยายามปรับตัว ที่ผ่านมาธนาคารเพิ่มการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะโมบายแบงกิ้ง และลดการให้บริการผ่านสาขาลงอย่างต่อเนื่อง น่าจะทำให้ต้นทุนการบริการลดลงในระยะยาว อีกทั้งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีเป้าหมายทำตลาดสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าระดับล่างอยู่แล้ว ทั้งผ่านช่องทางโมบายแบงกิ้งของตัวเอง หรือผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของพันธมิตรธุรกิจ

แม้การเพิ่มธนาคารไร้สาขาเข้ามายังคงเป็นธุรกิจเกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงิน ยังคงเป็นบริการเสริมหลากหลายมากขึ้นของระบบธนาคาร สามารถสนับสนุนให้กลุ่มผู้เข้าไม่ถึงสินเชื่อ เช่น กลุ่มไม่ได้ทำงานประจำมีโอกาสเข้ามาในระบบการเงิน เนื่องจากผู้ให้สินเชื่อจะพิจารณาจากข้อมูลพฤติกรรมผู้ขอสินเชื่อ ประเมินความสามารถการชำระหนี้ เช่น การชำระค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า ว่าจ่ายตรงเวลาหรือไม่ เป็นการวิเคราะห์และผู้บริการจะปล่อยสินเชื่อให้อย่างเหมาะสมตามผลิตภัณฑ์ของธนาคารเอื้อต่อกลุ่มคนกลุ่มนี้

“ดังนั้น กลุ่มคนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจะเข้าถึงได้มากขึ้น เป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ เพื่อลดการเกิดปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงิน และการกู้หนี้นอกระบบที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพง” อมรเทพกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image