สูตรสกัดอย่างยั่งยืน แก้หนี้ครัวเรือนพุ่ง

แฟ้มภาพ

สูตรสกัดอย่างยั่งยืน แก้หนี้ครัวเรือนพุ่ง

หนี้ครัวเรือน เป็นปัญหาเรื้อรังที่ฝังรากลึกมานานจนกลายเป็นความเปราะบางที่ส่งผลต่อสังคมไทย อาจเป็น กับดัก ฉุดรั้งให้เศรษฐกิจไทยไม่โต สะท้อนข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุ หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาสะสมมานาน ซ้ำร้ายเผชิญวิกฤตโควิด ส่งผลให้ปี 2563 เร่งตัวขึ้นที่ 89.7% ต่อจีดีพี จากระดับ 59.3% ในปี 2553 นับเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดภายในเวลาเพียง 10 ปี!

ล่าสุด หนี้ครัวเรือนพุ่งทะลุระดับเฝ้าระวังที่ 80% ต่อจีดีพี ตามที่ธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (บีไอเอส) กำหนด โดยไตรมาส 3/2565 หนี้ครัวเรือนอยู่ระดับ 87% ต่อจีดีพี ปริมาณหนี้ 14.9 ล้านล้านบาท

เมื่อดูไส้ในสัดส่วนหนี้กระจุกตัวในสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนมากพบในกลุ่มคนวัยทำงาน อายุ 25-29 ปี มากกว่า 58% เป็นหนี้ และมากกว่า 25% เป็นหนี้เสีย รวมถึงอายุต่ำกว่า 25 ปี กลุ่มนักเรียน นักศึกษา เป็นหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่อีก 42% เป็นหนี้นอกระบบ เฉลี่ยคนละ 54,300 บาท

แนวโน้มดังกล่าว ธปท.จึงเร่งออกแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงิน (Financial Landscape) เพราะภาคครัวเรือนถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในภาคการเงิน หากประชาชนปลอดหนี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินระยะยาว

Advertisement

สำหรับมาตรการและแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนที่นอกจากจะดูแลการปล่อยหนี้ใหม่ให้มีคุณภาพ ธปท.เตรียมออก 2 หลักเกณฑ์

1.ออกเกณฑ์เพื่อให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (responsible lending) โดยนำร่างที่ผ่านการศึกษาเข้าสู่ระบบเปิดรับฟังความคิดเห็นภายในไตรมาส 2/2566 กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และคาดภายในไตรมาส 3/2566 จะสามารถออกหลักเกณฑ์และมีผลบังคับใช้ เบื้องต้นจะมีหลักเกณฑ์ อาทิ 1.ต้องไม่โฆษณากระตุ้นการกู้จนเป็นหนี้เกินตัว 2.ต้องให้ข้อมูลสำคัญครบถ้วนชัดเจนตลอดวงจรหนี้ 3.ต้องเสนอสินเชื่อที่เหมาะกับวัตถุประสงค์ของลูกหนี้ 4.กำหนดเงื่อนไขสัญญาที่เป็นธรรม และ 5.เมื่อลูกหนี้มีปัญหา เจ้าหนี้ต้องเสนอเงื่อนไขปรับหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง

2.เตรียมออกเกณฑ์การให้สินเชื่อเท่าที่ลูกหนี้สามารถจ่ายคืนได้ และมีเงินเหลือพอดำรงชีพ (Macroprudential Policy) เช่น ค่างวดแต่ละเดือนต้องไม่สูงเกินเมื่อเทียบกับรายได้ โดยกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและคาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 2 และใช้จริงในปลายปีนี้

Advertisement

นอกจากนี้ ธปท.จะออกเกณฑ์สร้างแรงจูงใจให้เจ้าหนี้สินเชื่อรายย่อยมีกลไกกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย เช่น ลูกหนี้ชำระหนี้ดีได้รับดอกเบี้ยลดลงตามความเสี่ยง โดยจะออกเอกสารรับฟังความคิดเห็น กลางปี 2566 และผลักดันให้เจ้าหนี้รายงานข้อมูลเครดิตลูกหนี้ เพื่อให้เจ้าหนี้อื่นเห็นข้อมูลและลูกหนี้รีไฟแนนซ์หนี้ได้ง่ายขึ้น

ขณะที่แวดวงภาคการเงิน กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยกลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยต่อจีดีพีอาจชะลอตัวลงมาอยู่ที่กรอบ 84-86.5% คาดว่าหนี้ครัวเรือนน่าจะปิดสิ้นปี 2565 ที่ระดับ 86.8% ต่อจีดีพี ซึ่งแม้จะลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 18 ปีที่ 90.8% ต่อจีดีพี แต่ก็ยังคงสูงกว่าระดับที่มีความยั่งยืนที่ 80%

หนี้ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค หรือหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล หากเปรียบเทียบไทยกับต่างประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจพบว่าโครงสร้างหนี้ครัวเรือนในหลายประเทศ

เช่น ประเทศนิวซีแลนด์ มีหนี้ครัวเรือน 95.2% สัดส่วนหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย 91.7% มาเลเซีย หนี้รวม 84.5% หนี้เพื่อที่อยู่อาศัย 70.2% จีน หนี้รวม 61.9% หนี้เพื่อที่อยู่อาศัย 45.1% และสิงคโปร์ หนี้รวม 57.4% หนี้เพื่อที่อยู่อาศัย 59.9% ต่างก็มีสัดส่วนของหนี้เพื่อที่อยู่อาศัยเกินครึ่งหนึ่งของหนี้โดยรวม ขณะที่หนี้เพื่อที่อยู่อาศัยของไทยมีสัดส่วนเพียง 34.7% ของหนี้ครัวเรือนโดยรวมเท่านั้น

กาญจนายังกล่าวว่า กลับกันหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคอื่นๆ ของไทยมีสัดส่วนประมาณ 24.5% เมื่อเทียบกับจีดีพี แบ่งเป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 7.4% และหนี้บริโภคอื่นๆ 17.1% ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับ นิวซีแลนด์ 3.6% มาเลเซีย 14.3% จีน 12.3% และสิงคโปร์ 2.0%

ดังนั้น โจทย์การดูแลหนี้ครัวเรือนไทยจะอยู่ที่การดูแลให้หนี้ครัวเรือนเกิดใหม่มีส่วนผสมของหนี้ที่มีคุณภาพ เพื่อทยอยปรับเปลี่ยนโครงสร้างหนี้ครัวเรือนในภาพใหญ่ให้มีส่วนผสมของหนี้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพ เช่น หนี้เพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยและหนี้เพื่อการประกอบธุรกิจ และไม่กระตุ้นการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคในส่วนที่เกินความจำเป็น เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กาญจนากล่าวสรุปสูตรปรับหนี้ครัวเรือน

ด้าน เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงกลุ่มคนวัยทำงานมีแนวโน้มเป็นหนี้เร็วขึ้นสาเหตุหลักๆ อาจมาจากยุคปัจจุบันมีการเข้าถึงบริการทางการเงินง่ายและสะดวกมากขึ้น หลังจากสถาบันทางการเงิน หรือผู้ให้บริการทางการเงิน รวมถึงไม่ใช่กลุ่มธนาคารมีพื้นที่การให้สินเชื่อหลากหลายมีการเข้าถึงฐานลูกค้าตามผลิตภัณฑ์ที่กำหนด แตกต่างจากอดีตที่ผู้ให้สินเชื่อจะโฟกัสที่กลุ่มลูกค้าธุรกิจ และมนุษย์เงินเดือนเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงอาจไม่มีการให้สินเชื่อแก่ผู้ที่ประกอบธุรกิจอิสระ

มาพร้อมกับความเสี่ยง เช่น การก่อหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล หากลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ หรือค่าดำรงชีพจะทำให้ไม่เกิดความน่ากังวล แต่หากมีการเกิดหนี้แล้วชำระหนี้ขั้นต่ำในระยะเวลานานอาจทำให้เกิดหนี้สินคงค้างจนกลายเป็นหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่เกิดรายได้ในอนาคต

เกวลินมองว่า แนวโน้มที่คนรุ่นใหม่เป็นหนี้สูง ผู้ให้สินเชื่อจะพิจารณาเข้มงวดขึ้น ข้อมูลประกอบการให้สินเชื่อจะมีมากกว่าการดูข้อมูลด้านการเงิน แต่จะตรวจสอบถึงกลุ่มอาชีพ ความมั่นคงของบริษัทที่ประกอบอาชีพ และความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงพฤติกรรมการใช้จ่าย เพื่อเป็นข้อยืนยันว่าสุดท้ายสินเชื่อนี้จะไม่เป็นหนี้เสียในอนาคต

สำหรับการผลักดันแนวทางการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนสู่ภาคปฏิบัติในระยะยาว หัวใจสำคัญคือการหาจุดสมดุลระหว่างการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ยืดหยุ่นเพียงพอในการผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการด้านสินเชื่อในประเภท และเงื่อนไขที่เกื้อกูลกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคครัวเรือน โดยที่โปรดักต์ไม่ตึงเกินไปจนกลายเป็นการผลักดันให้ผู้บริโภคกลุ่มที่มีข้อจำกัดหลุดออกนอกระบบ โดยไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธี เกวลินกล่าวทิ้งท้าย

สุดท้ายนี้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และรัฐ ในการแก้หนี้ตรงจุดครบทุกมิติ อนาคตคนไทยจะหลุดพ้นหมดหนี้คงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image