ความสำคัญและบทบาทหน้าที่ของ การประเมินผลการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย // โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

การประเมินผลประชาธิปไตย เป็นเงื่อนไขสำคัญเงื่อนไขหนึ่งที่กำหนดความสำเร็จและล้มเหลวของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ทั้งนี้ เราควรเข้าใจว่าในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยนั้น ไม่ได้มีความหมายง่ายๆ แค่เรื่องของการโค่นล้มเผด็จการแล้วจะได้ประชาธิปไตยโดยอัตโนมัติ หรือเชื่อว่าเมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพแล้วประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

แต่ยังรวมไปถึงการพัฒนาประชาธิปไตยให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในบ้านเรา เพราะนอกจากเราจะคิดแต่เรื่องว่าประชาธิปไตยได้มาจากการโค่นล้มเผด็จการดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น เราก็มักจะคิดว่าประชาธิปไตยสามารถถูกส่งไปพักร้อนเสียก่อน และเมื่อสังคมพร้อมแล้วค่อยกลับมามีประชาธิปไตยในภายหลัง หรือเราอาจจะคิดง่ายๆ ว่า ประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นจากการปลูกฝังในระยะยาวๆ โดยเป็นการเปลี่ยนผ่านจากสังคมประเพณีหรือสังคมดั้งเดิม สิ่งที่เราไม่ค่อยได้พูดกันก็คือ

การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยจากภายในหรือการพัฒนาประชาธิปไตย จากประชาธิปไตยที่ยังเป็นหน่ออ่อนหรือยังขาดคุณภาพและคุณสมบัติที่จะมีความยั่งยืน มาสู่ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยจากภายในนี้เองที่เป็นเรื่องที่เขาทำกันทั่วโลก ในแง่ของการปฏิรูป ในแง่ของการปรับปรุงให้มันดีขึ้น ในแง่ของการต่อสู้ต่อรองกัน แทนที่จะอยู่ในวิธีถกเถียงแบบที่เราคุ้นชินกันว่าจะเอาหรือไม่เอาประชาธิปไตย หรือเที่ยวไปด่าว่าประเทศอื่นที่วิจารณ์เรานั้นก็ไม่ได้มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ เรื่องที่ว่าประชาธิปไตยมันไม่สมบูรณ์แบบนั้นมันเป็นเรื่องปกติที่คนที่สนใจเรื่องประชาธิปไตยเขารู้กันมาโดยตลอด แต่ถ้าเชื่อมั่นศรัทธาในประชาธิปไตย ทั้งในแง่คุณค่า อุดมการณ์ และ/หรือระบอบการเมืองแล้ว ประเด็นท้าทายมันอยู่ที่การปฏิรูป/ทำให้มันดีขึ้น ไม่ใช่อยู่ที่การแทนที่ด้วยระบอบการเมืองอื่น หรือคุณค่าอื่นๆ

   แต่ก็มีเช่นกันที่การปรับปรุงประชาธิปไตยนั้นมีความพยายามที่จะเพิ่มเติมคุณค่าและอุดมการณ์อื่นเข้ามาด้วย หรือเพิ่มเติมโครงสร้างของระบอบอื่นเข้ามาด้วย แต่ทั้งหมดทั้งปวงในแง่ของการเปลี่ยนผ่านจากภายในนี้ก็จะต้องทำไปเพื่อทำให้คุณค่า อุดมการณ์ และระบอบประชาธิปไตยสามารถทำงานได้อย่างดีขึ้นและบรรลุเป้าหมายที่ระบอบประชาธิปไตยได้ตั้งเอาไว้ หรืออธิบายอีกอย่างก็คือ ยังคงหลักการการปกครองโดยประชาชนและหลักการเสรีภาพ และความเสมอภาคเอาไว้เป็นหลักนั่นแหละครับ

Advertisement

ยํ้ากันอีกครั้งว่า การประเมินประชาธิปไตยที่เคยกล่าวเอาไว้ในตอนที่ผ่านมานั้น เราต้องเข้าใจว่ามีทั้งการประเมินว่ามีโครงสร้างหรือองค์ประกอบที่จำเป็นต่อประชาธิปไตยครบไหม (มักจะเห็นการประเมินเช่นนี้บ่อยๆ) เช่น การมีการเลือกตั้ง สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง มีการประเมินกระบวนการ ขั้นตอน และประสิทธิภาพของประชาธิปไตยแต่ละแบบ หรือประเมินระหว่างประชาธิปไตยกับรูปแบบการปกครองแบบอื่น

และมีการประเมินคุณค่าต่างๆ ของประชาธิปไตย หรือตั้งคำถามต่อไปด้วยว่า ในระบอบประชาธิปไตยของเรานั้น เราให้คุณค่าในเรื่องต่างๆ อย่างไร เช่น หลักความยุติธรรม หลักความเป็นธรรม หลักความเท่าเทียม หลักเสรีภาพ หลักความเป็นมนุษย์ และที่สำคัญที่เคยย้ำไปแล้วด้วยก็คือ เมื่อเราประเมินประชาธิปไตยนั้น เราเข้าใจความหมายตัวแบบของประชาธิปไตยอย่างใดบ้าง

กล่าวได้ว่า ประชาธิปไตยในวันนี้มีการผสมกันของนัยยะสามประการ ที่เราต้องตั้งหลักให้ดีว่าเราเน้นไปทางไหนมากกว่ากัน

Advertisement

หนึ่งคือ ประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำ นั่นคือประชาธิปไตยแบบเน้นเลือกตั้งเป็นหลัก คือเฟ้นหาตัวแทนไปทำหน้าที่แทนเรา ในความเป็นจริงเป็นเรื่องของการนั่งดูตัวชนชั้นนำเสนอตัวมาทำหน้าที่ให้เรา ประชาธิปไตยแบบนี้เป็นขั้นพื้นฐาน แต่ไม่เพียงพอ จำต้องพัฒนาไปอีก โดยผสมผสานกับความหมายประชาธิปไตยในแบบอื่น ไม่เช่นนั้นก็อาจจะเกิดปัญหาว่าตัวแทนของเรานั้นไม่ทำตามที่เราต้องการ หรือไม่ทำตามหลักการที่เรามอบไปให้

สองคือ ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม นั่นคือประชาธิปไตยแบบที่เน้นว่าคุณค่าหลักคือการที่เราเข้ามาร่วมกันตัดสินใจ บ้างก็เป็นประชาธิปไตยทางตรง บางคนเชื่อว่าพอมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็จะขจัดความเป็นตัวแทนได้ หรือเชื่อว่าประชาธิปไตยที่ดีและเป็นไปได้จะต้องมาจากชุมชนเล็กๆ เท่านั้น ประชาธิปไตยแบบนี้บางคนก็มองว่าอาจไม่เกิดประสิทธิภาพ เพราะเสียเวลาและทำไม่ได้จริงในทุกเรื่อง แต่หลายคนก็ใฝ่ฝันว่านี่คือประชาธิปไตยขั้นสูงสุด

สามคือ ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ นั่นคือไม่ใช่เรื่องของการเลือกตัวแทนหรือเข้ามาตัดสินใจร่วมกัน แต่ต้องหมายถึงการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และเข้าใจเหตุผลของแต่ละฝ่ายโดยพยายามวางผลประโยชน์ของตัวเองลงเสียก่อน เรื่องนี้บางคนก็เชื่อว่าเป็นไปได้ บางคนก็สงสัยว่าเป็นไปได้ไหม แต่ถ้ามองให้ดี แม้ว่าเป็นไปไม่ได้โดยสมบูรณ์ แต่ความหมายของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือก็ควรจะกินความไปถึงการเปิดกว้างให้เกิดการถกเถียง แลกเปลี่ยนความเห็นกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ใช่เถียงกันแค่ว่าควรมีตัวแทน หรือควรตัดสินใจตรง ความเชื่อเรื่องการปรึกษาหารือกันนี้ยังรวมไปถึงการเปิดโลกให้กว้างขึ้นว่า การมีข้อมูลมากขึ้นนั้นก็ยังไม่เพียงพอ แต่ต้องสามารถตีความข้อมูลได้หลากหลายทางด้วย

ดังนั้นการวัดประเมินประชาธิปไตยโดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยทั้งเปลี่ยนผ่านมาสู่ประชาธิปไตยจากระบอบอื่น และเปลี่ยนผ่านจากภายในเองนั้น จึงจำเป็นต้องเข้าใจว่าเราจะวัดประเมินเรื่องใด และเรามีความมุ่งหมายที่จะสร้างสรรค์ประชาธิปไตยในแบบใด หรือเราจะผสมผสานประชาธิปไตยในหลายๆ แบบเข้าด้วยกัน

นแง่นี้ ภารกิจของประชาชนและนักวิชาการที่สนใจในเรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของการออกแบบโรดแมปหรือแผนยุทธศาสตร์ และหากเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจคิดว่าเป็นเรื่องที่พวกเขาเท่านั้นที่รู้และเข้าใจ สิ่งที่ประชาชนและนักวิชาการควรจะให้ความสนใจนอกเหนือจากการวิจารณ์โรดแมปและแผนยุทธศาสตร์ ก็คือการร่วมกันคิดว่าเราจะประเมินการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยอย่างไรนั่นแหละครับ

ทั้งนี้การประเมินประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมาจากหน่วยงานเดียว เอาเข้าจริงแล้ว กลุ่มต่างๆ สถาบันการศึกษา หรือสื่อมวลชนเองควรจะนำเสนอตัวแบบการประเมินที่แตกต่างหลากหลายกัน เพื่อทดสอบว่าประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นนั้นสามารถผ่านการวัดมาตรฐานในแบบที่แตกต่างกันได้หรือไม่ และการประมินผลที่มีหลากหลายรูปแบบและสำนักนั้นก็จะเป็นการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในการประเมินประชาธิปไตยเองด้วย โดยภาพรวมแล้ว หน้าที่และคุณค่าของการประเมินประชาธิปไตยนั้นมีอยู่หลายด้าน ดังจะขอนำเสนอดังต่อไปนี้

1.การประเมินผลประชาธิปไตยนั้นช่วยให้เราสามารถเข้าใจผลของการทำงานของประชาธิปไตยได้อย่างมีเหตุมีผล เพื่อเสริมสร้างประสิทธิผลและการบรรลุเป้าหมายที่ระบอบการเมืองได้ตั้งเอาไว้ ในแง่นี้เราจะได้รู้ว่าประชาธิปไตยนั้นทำงานได้จริงไหม ตัวแทนทำงานได้จริงไหม หรือที่เราถกเถียงอภิปรายกันแล้วนำไปสู่การตัดสินใจนั้น ผลจากการตัดสินใจหรือนโยบายดังกล่าวมันส่งผลอย่างไร

2.การประเมินผลประชาธิปไตยนั้นช่วยทำหน้าที่ในการควบคุม และทำให้ตัวแทนที่ตัดสินใจหรือกระทำการแทนพวกเขานั้นต้องรับผิดชอบ หรือคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน (control and accountability) การควบคุมดังที่กล่าวไปแล้วนี้อาจมีลักษณะตั้งแต่การมีนักการเมืองที่ประชาชนเลือกขึ้นมาควบคุมระบบราชการ หรือใช้หลักการทางการบริหารอื่นๆ ในการประเมินผลการให้บริการสาธารณะว่าประชาชนได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน หน้าที่ของการประเมินประชาธิปไตยในแบบของการควบคุมและทำให้ตัวแทนรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนี้สำคัญมากต่อประชาธิปไตยแบบตัวแทนหรือแบบชนชั้นนนำ และยังทำให้ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและแบบปรึกษาหารือนั้นทำงานได้ดีด้วย

3.การประเมินประชาธิปไตย ช่วยทำหน้าที่ในการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยเอง เพื่อทำให้ประชาธิปไตยดำเนินต่อไปได้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการท้าทายประชาธิปไตยจากภายนอก การประเมินผลประชาธิปไตยและร่วมกันปฏิรูปประชาธิปไตยจะช่วยให้ประชาธิปไตยนั้น ไปต่อŽ ได้ มีการเปลี่ยนแปลงตัวชนชั้นนำหรือตัวแทนได้

4.ในกรณีที่ประชาธิปไตยนั้นเริ่มถูกตั้งคำถาม ระดับความไว้วางใจและความชอบธรรมลดลง การประเมินผลประชาธิปไตยอาจมีส่วนสำคัญในการสร้างความชอบธรมให้กับระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งอาจจะลดความชอบธรรมของชนชั้นนำบางคนลงได้ หากข้ออ้างที่พวกเขาใช้ หรือหากผลของนโยบายไม่เป็นไปตามที่ชนชั้นนำเหล่านั้นกล่าวอ้าง การประเมินผลประชาธิปไตยอาจเป็นการเสริมประเด็นการมีส่วนร่วมและการปรึกษาหารือถึงทางเลือกอื่นๆ ที่มากไปกว่าที่ชนชั้นนำนำเสนอ หรืออ้างเหตุผลในการปกครอง

5.การประเมินผลประชาธิปไตยทำให้เราเรียนรู้ รู้แจ้ง และรู้ทันต่อการบริหารจัดการบ้านเมืองมากขึ้น

6.ในอีกด้านหนึ่ง การประเมินผลประชาธิปไตยทำให้สังคมนั้นเปิดกว้างมากขึ้น ในหลายครั้งการเปิดให้มีการถกเถียงกันไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดความรู้ที่มากขึ้นเสมอไป ดังที่บางคนอาจจะบอกว่าเสียเวลา แต่ในบางตัวแบบของประชาธิปไตยนั้น การมีคำตอบมากกว่าหนึ่งคำตอบนั้นช่วยเสริมอำนาจให้ประชาชนเห็นได้ว่าเขามีทางเลือก (ต่างจากความเชื่อว่ามีทางที่ดีที่สุด) และมีโอกาสได้ทดลองมากขึ้น

  7.การประเมินผลประชาธิปไตยช่วยทำหน้าที่ในการเสริมอำนาจให้ประชาชน โดยเฉพาะในหลายกรณี การประเมินผลการทำงานของประชาธิปไตยอาจทำให้คนข้างน้อยหรือคนที่เสียเปรียบในระบบได้มีข้อมูล หลักฐานที่จะทำให้เสียงข้างมากต้องยอมรับและหันมามองว่าการตัดสินใจที่ผ่านๆ มาผ่านตัวแทน ผ่านการเลือกเองของทุกคน หรือผ่านการถกเถียงนั้นมันส่งผลให้คนบางกลุ่มเดือดร้อนอย่างไร และในอีกด้านหนึ่ง การประเมินผลที่เสริมอำนาจให้ประชาชนเช่นนี้จะเสริมโอกาสให้พวกเขาสามารถกำหนดอนาคตของพวกเขาเองได้เพิ่มขึ้น โดยไม่ทิ้งคนอื่นๆ ไว้ข้างหลัง เพราะต้องเผชิญกับผลการประเมินประชาธิปไตยที่ทุกคนมีโอกาสได้รับทราบ

ดังที่ได้ย้ำไปแล้วครับ นอกเหนือการวิจารณ์ตัวโรดแมป ตัวรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูก รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์แล้ว ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราควรจะเริ่มคิดถึงการเตรียมการประเมินการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย จากหลากหลายกลุ่มและมิติ และเราอาจจะเริ่มประเมินการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้โดยเริ่มตั้งแต่ โครงสร้าง กระบวนการ และคุณค่า ของประชาธิปไตยที่มีอย่างน้อยนับตั้งแต่เริ่มมีการรัฐประหารเป็นต้นมา รวมไปถึงความมุ่งหมายของการผสมผสานความหมายของประชาธิปไตยในแบบตัวแทน (รวมไปถึงพวกคนดีและองค์กรอิสระในฐานะตัวแทนใหม่) รวมทั้งความหมายของประชาธิปไตยในแบบการมีส่วนร่วม และในแบบของการปรึกษาหารือด้วย รวมทั้งเริ่มรวบรวมการประเมินประชาธิปไตยที่เคยทำๆ กันมาในบ้านเรา หรือที่เมืองนอกเขาประเมินเรา ว่ายังขาดตกบกพร่องตรงไหน หรือมีจุดแข็งที่เราได้เรียนรู้มาแล้วอย่างไรบ้าง

การเปลี่ยนผ่านยังมีเรื่องให้ทำอีกมากมายครับ อย่าเพิ่งท้อแท้กับสิ่งที่เราเห็นตรงหน้ามากเกินไปนักครับผม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image