มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระเป๋าเงินดิจิทัล และตัวทวีคูณท้องถิ่น ‘ทำการเมืองให้เป็นการวิจัย’

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
กระเป๋าเงินดิจิทัล และตัวทวีคูณท้องถิ่น
‘ทำการเมืองให้เป็นการวิจัย’

ฤดูกาลหาเสียงเลือกตั้งในต้นปี 2566 นี้ พรรคการเมืองต่างเสนอนโยบายให้ประชาชนเป็นทางเลือกก่อนลงคะแนน ในจำนวนนี้นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุด ทั้งสนับสนุนและไม่เห็นด้วย ในโอกาสนี้ผู้เขียนขอร่วมเสนอความคิดเห็นในสาธารณะถือว่าเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยจะเน้นมุมมองของนักวิจัยว่ากระเป๋าเงินดิจิทัลกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งต่อตัวทวีคูณท้องถิ่นอย่างไร

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่แพร่หลายในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ที่แพร่หลายมากที่สุดคือมาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน ในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เรียกว่าเงินผัน ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตั้งกองทุนหมู่บ้าน ให้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาตรการ “คนละครึ่ง” “บัตรสวัสดิการ” เป็นต้น วิธีการอาจจะแตกต่างกันไปแต่หลักการคล้ายคลึงกัน มาตรการเงินผันเน้นการจ้างงานผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชนบท เมื่อประชาชนมีรายได้นำไปจับจ่ายใช้สอยต่อ ส่งผลต่อเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจหลายรอบ เช่น 2-5 รอบ ผลลัพธ์คือเงินสะพัดวัดจากปริมาณการใช้จ่าย ผู้ขายขายดีมีกำลังใจขยายการผลิตและการจ้างงาน รัฐบาลและรัฐบาลท้องถิ่นจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น

วิธีการใหม่ของพรรคเพื่อไทยอาศัยเทคโนโลยีเงินดิจิทัลสมัยใหม่ คือแจกผ่านกระเป๋าสตางค์ดิจิทัลให้ประชาชนไทยตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป รวมกัน 55 ล้านคน ข้อดีเท่าที่จับความได้ หนึ่ง รวดเร็วกว่า เพราะว่าประชาชนไม่ต้องสมัครหรือคัดกรองให้ยุ่งยาก ถ้ารัฐบาลสั่งการในวันนี้ก็แปลว่า 55 ล้านคนได้มีเงินในบัญชี 1 หมื่นบาทพร้อมที่จะจับจ่าย อายุการใช้งานภายในเวลา 6 เดือนตามเงื่อนไขที่กำหนด สอง รัฐบาลกำหนดเงื่อนไขพื้นที่ในท้องถิ่นในรัศมี 4 กิโลเมตร แต่ตัวเลขนี้เชื่อว่าไม่ตายตัวอาจจะปรับเป็น 10 กิโลเมตรก็ได้ ไม่ใช่สาระสำคัญ สาม เมื่อประชาชนโอนเงินจ่ายซื้อสินค้าหรือบริการซึ่งระบุเงินโอน-ร้านค้าที่รับเงินโอน-วันเวลาของการเกิดธุรกรรม

Advertisement

ในมุมมองของนักวิจัยมองเห็น “ความใหม่” และแตกต่างจากมาตรการเดิมๆ คือการนำข้อมูลมิติพื้นที่ (space) และมิติเวลา (time) มาใช้ สอดคล้องกับหลักความคิดเศรษฐศาสตร์ภูมิศาสตร์แนวใหม่ (new geographical economics) การวิเคราะห์พฤติกรรมของประชาชนทางเศรษฐกิจควรระบุมิติพื้นที่และเวลา หากย้อนอดีตกลับไปในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช คงเป็นไปไม่ได้ ไม่มีทั้งโทรศัพท์มือถือ ไม่มีการบันทึกข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านมาถึงปี พ.ศ.2566 ประชาชนเกือบทุกคนใช้มือถือ เคยชินกับการจับจ่ายใช้สอยผ่านแอพพลิเคชั่น
ที่สามารถบันทึกวัน-เวลาของการทำธุรกรรม ระบุพื้นที่ (จังหวัด/อำเภอ) ที่เกิดธุรกรรม ภายใต้โครงการนี้จะเกิดการบันทึกข้อมูลขนาดใหญ่ (55 ล้านคน) ว่าแต่ละคนใช้จ่ายอย่างไร กี่ครั้ง? จำนวนเงินต่อครั้ง (หลักร้อยบาทหรือหลักพันบาทต่อครั้ง) แน่นอนว่าระบบข้อมูลสามารถทราบเพศ-วัยของประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ

หากนโยบายนี้ดำเนินการจริงจะช่วยขยายพรมแดนความรู้การวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์-ธุรกิจ-และพฤติกรรมของประชาชนได้อย่างแน่นอน เป็นนโยบายที่ชาญฉลาด-อย่างน้อยที่สุดในมุมมองนักวิจัย จะมีหัวข้อวิจัยใหม่ๆ จากบิ๊กดาต้าครั้งนี้ ตัวอย่างเช่น

1) การวัดความถี่ของการใช้จ่าย เพราะว่าเงิน 10,000 บาทจะหมดอายุภายใน 6 เดือน เชื่อว่าทุกคนวางแผนจะใช้จ่ายเงินอย่างไร ตามหลักอรรถประโยชน์ (utility principle) สมมุติเล่นๆ เป็นตัวเลขจ่ายครั้งละ 100 บาท หมายถึงงบประมาณหมดใน 100 ครั้ง แต่ถ้าเพิ่มตัวเลข 1,000 บาทเงินหมดใน 10 ครั้ง

Advertisement

2) ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลคงมอบหมายทีมเศรษฐกิจและผู้เชี่ยวชาญบิ๊กดาต้า ประเมินผลนโยบายอย่างใกล้ชิดเป็นรายวัน-รายสัปดาห์-รายเดือน-รายพื้นที่ (อำเภอ/จังหวัด) เพราะเทคโนโลยียุคนี้สามารถทำได้ ปริมาณธุรกรรม 10-20 ล้านครั้งในแต่ละวัน ตามตัวเลขที่สมมุติข้างต้น ความจริงในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดปี 2563-2565 เราได้รับฟังรายงานตัวเลขผู้ป่วยโควิดเป็นรายวันตามสื่อมวลชนต่างๆ แสดงเป็นรูปกราฟช่วงขาขึ้นหรือขาลง แต่ฐานข้อมูลใหม่ของรัฐบาล (สมมุติว่าพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล) ปริมาณข้อมูลใหญ่กว่าเดิมหลายเท่าตัว คงจำได้ว่าผู้ป่วยโควิดรายวันสูงสุดแค่หลักหมื่นในแต่ละวัน แต่จำนวนคนที่จะใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลหลายล้านคนในแต่ละวัน

3) เมื่อพรรคเพื่อไทยอธิบายต่อสังคมว่าจะส่งผลต่อ “ตัวทวีคูณ” (multiplier) การใช้จ่ายเงินหลายรอบ เชื่อว่าจะมีทีมวิจัยนำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยละเอียดเป็นรายวัน และรายพื้นที่ (จังหวัด/อำเภอ) ตลอดช่วงเวลาดำเนินการและภายหลัง

4) หลักความคิด “ตัวทวีคูณ” มาจากจอน เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) นักเศรษฐศาสตร์ระดับปรมาจารย์ชาวอังกฤษ เสนอความคิดในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในสมัยรัชกาลที่ 7 ท่านเสนอความคิดเห็นไว้หลายโอกาสทั้งรูปแบบตำรา การพูดสื่อสาธารณะ การให้คำปรึกษารัฐบาลและผู้นำประเทศ เคนส์นอกจากเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สุดยอด ยังเป็นนักเขียนนักพูด (โต้วาที) ตั้งแต่เป็นนักศึกษา สนใจวิชาคณิตศาสตร์ เข้าใจการเมืองและผ่านประสบการณ์การทูต สมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสงบฝ่ายประเทศผู้ชนะกำหนดเงื่อนไขให้ฝ่ายแพ้สงคราม (เยอรมัน) ต้องชำระค่าเสียหายซึ่งเป็นการกำหนดข้างเดียว เคนส์ (ในขณะนั้นยังหนุ่ม) ได้รับเชิญให้เป็นฝ่ายเลขานุการของสัมพันธมิตร ได้มองเห็นว่าเงื่อนไขที่ฝ่ายสัมพันธมิตรกำหนดไม่เป็นธรรม ไม่สามารถปฏิบัติได้ ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับผู้นำประเทศของตนเองตอบโต้กันทางสื่อ ท้ายที่สุดได้เขียนหนังสือชื่อว่า How to Pay for the War กลายเป็นหนังสือโด่งดังในยุคนั้นได้รับการแปลไปหลายสิบภาษาทั่วโลก ได้พยากรณ์ทำนองว่าประเทศเยอรมันจะไม่สามารถปฏิบัติ จะฉีกสนธิสัญญาและอาจส่งผลให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นความจริง

5) เคนส์เสนอสูตรคำนวณตัวทวีคูณ จากตัวเลขที่เรียกว่า MPC (marginal propensity to consume) คือมโนทัศน์ที่ว่า เมื่อประชาชนทั่วไปมีรายได้เพิ่ม 100 บาท มีแนวโน้มจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น 75 บาท (ตัวเลขสมมุติ ความเป็นจริง 70-80-90 หรือค่าเท่าใด? ต้องวิจัยเพิ่มเติม) ดังนั้นจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลายรอบ

ตัวทวีคูณท้องถิ่น (local multiplier) เป็นพัฒนาการไปอีกขั้นหนึ่ง คือการแยกแยะผลกระทบว่าเป็น “ตัวทวีคูณในเขตพื้นที่” กับ “ตัวทวีคูณนอกเขตพื้นที่” (หมายรวมถึงผลกระทบต่อต่างประเทศ) เป็นพัฒนาใหม่ในยุคที่มีคอมพิวเตอร์และบิ๊กดาต้า คือข้อมูลที่ระบุพื้นที่-ระบุวัยเพศของประชาชน วัยเด็ก-ผู้ใหญ่-สูงอายุโดยสันนิษฐานว่าพฤติกรรมแตกต่างกัน การวิเคราะห์สามารถดำเนินการในระดับเมือง จังหวัดหรือระดับประเทศก็ได้ ปัจจุบันเทศบาลและ อบต. ของไทยบันทึก “แผนที่ภาษี” (tax map) ระบุโซน แนวถนน และกิจกรรมแม่เหล็กในแต่ละเมืองเช่นการมีห้างสรรพสินค้า โรงงาน โรงพยาบาล สถานศึกษา วัดหรือแหล่งท่องเที่ยวที่ประชาชนมาเยี่ยมชมหลายพันคนในแต่ละวัน ตัวทวีคูณของเมืองสัมพันธ์กับคุณลักษณะของแต่ละเมือง เช่น เป็นเมืองอุตสาหกรรม เมืองการค้าชายแดน เมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เมืองแห่งการศึกษา การวิจัยในยุคใหม่สามารถแยกแยะ “ธุรกรรมที่เกิดขึ้นภายในท้องถิ่น” (nontradable goods) ตัวอย่างเช่น บริการตัดผม บริการนวด การชมการแสดงศิลปะดนตรีกีฬา ฯลฯ เป็นเรื่องของ “มนุษย์สัมผัสมนุษย์” ผู้ซื้อผู้ขายต้องเจอกัน กรณีเช่นนี้ค่าตัวคูณสูง แต่ต้องเข้าใจว่าตัวทวีคูณมีรูรั่วได้ (leakage) ไปนอกพื้นที่หรือแม้แต่ต่างประเทศ (เราเรียกว่า tradable goods) ลองจินตนาการดูถ้าผู้บริโภคส่วนใหญ่จับจ่ายใช้สอยผ่านการสั่งสินค้าออนไลน์เช่น Lazada ตัวทวีคูณอาจจะเกิดที่ประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ก็เป็นได้

การวิเคราะห์ตัวทวีคูณท้องถิ่นนับว่าน่าสนใจและสำเร็จได้ภายใต้เงื่อนไขบางประการ หนึ่ง การมีข้อมูลที่ชาญฉลาดคือระบุวันเวลา-สถานที่-ตัวตน (ผู้ซื้อ) แยกแยะเป็นกลุ่มวัย วัยเด็ก-วัยทำงาน-วัยสูงอายุ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ สอง การพัฒนา smart coding หมายถึงการลงรหัสระบุอำเภอ/จังหวัด รหัสประเภทสินค้าและอื่นๆ สาม ทีมวิจัยที่ชาญฉลาดนอกจากเข้าใจเศรษฐกิจ ธุรกิจและการค้า ยังต้องมีความสามารถใช้ “บิ๊กดาต้า” เพราะปริมาณธุรกรรมถึงหลักพันล้านครั้งในรอบหกเดือน (คำนวณจากผู้ใช้เงิน 55 คน ความถี่การใช้เงิน 10-100 ครั้งในช่วงหกเดือน รวมเป็นความถี่หลายพันล้านครั้ง)

เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (behavioral economics) เน้นวิเคราะห์พฤติกรรมของประชาชนภายใต้เงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน พฤติกรรมของคนเราก็เปลี่ยนตามไปด้วย มีหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างน้อยสองประการจากการสังเกตในเบื้องต้น ประการแรก พฤติกรรมนักการเมืองเปลี่ยนแปลงมากในช่วงฤดูกาลหาเสียงเลือกตั้ง คือ “นอบน้อมถ่อมตน” ขยันเยี่ยมเยียนพ่อแม่พี่น้อง ยกมือไหว้ขอช่วยลงคะแนนเสียง แม้แต่นักการเมืองที่ตามปกติขี้โมโหหงุดหงิดง่าย เมื่อลงเวทีหาเสียงยังยิ้มแย้มแจ่มใสทักทายผู้คนทุกเพศทุกวัย เป็นกันเองกับประชาชน เล่นสงกรานต์ให้คนรดน้ำทักทายกัน ประการที่สอง พฤติกรรมของประชาชนจำนวนมาก (รวมทั้งตัวกระผม) เปลี่ยนแปลงมาก ในช่วง 8 ปี เคยเบื่อรับฟังข่าวการบ้านการเมือง เสพข่าวเฉพาะบางเรื่องเท่าที่จำเป็น มาถึงฤดูหาเสียงครั้งนี้กลายเป็นว่าใส่ใจใฝ่รู้ อยากรู้ว่าพรรคการเมืองเขาหาเสียงไปจังหวัดไหน พูดว่าอย่างไร ใครวิวาทะกับใคร สนุกครับ ข่าวการเมืองกลายเป็นสิ่งเร้าใจขึ้นมาทันที ติดเสพข่าวเป็นจริงเป็นจัง

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์
ภาวิณี สตาร์เจล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image