สธ.-ยธ.-สปสช.พัฒนาระบบป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำ

สธ.-ยธ.-สปสช.พัฒนาระบบป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำ

วันนี้ (24 เมษายน 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พล.อ.อ.สุบิน ชิวปรีชา กรมวังผู้ใหญ่ในพระองค์ 904 พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. และนางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เพื่อการพัฒนาระบบการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพที่สำคัญ สำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ ระหว่าง นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์

โดยการบูรณาการดำเนินงานด้านการเฝ้าระวัง คัดกรอง ป้องกัน และควบคุมโรคและภัยสุขภาพที่สำคัญ เช่น วัณโรค เอดส์ ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบ ซี รวมทั้งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ในกลุ่ม 608 เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ ลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรค ลดอาการป่วยรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิต

Advertisement

นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ.ได้ร่วมกับ ยธ. จัดระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับการดูแลสุขภาพ ป้องกันโรคติดต่อ เข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ และป้องกันควบคุมโรคด้วยตนเองอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้ต้องขังมากกว่าความสามารถของเรือนจำจะรับได้ ซึ่งความหนาแน่นของผู้ต้องขังส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเดินหายใจ ทำให้มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อโรคได้รวดเร็ว การลงนามเอ็มโอยูครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างความตระหนักถึงสุขภาพผู้ต้องขัง ทำให้เกิดพัฒนาหลักประกันสุขภาพและความร่วมมือในการเข้าถึงบริการเฝ้าระวัง คัดกรอง ป้องกัน และควบคุมโรคและภัยสุขภาพที่สำคัญ สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ พัฒนานโยบาย มาตรการ การบริหารจัดการ เชื่อมโยงระบบสารสนเทศ และการบูรณาการ ด้านการจัดบริการเฝ้าระวัง คัดกรองป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพที่สำคัญในเรือนจำ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพบุคลากร การวิจัย สร้างนวัตกรรม สร้างความรอบรู้ และสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ต้องขังในการจัดการโรคและภัยสุขภาพ

Advertisement

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในส่วนของ สปสช.จะมีการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการสนับสนุนระบบการเงิน ระบบข้อมูลการให้บริการ และคุณภาพบริการ การจัดสรรและจ่ายชดเชยค่าบริการในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลในเรือนจำ ให้เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่าย
ของหน่วยบริการประจำในสังกัดสำนักงานปลัด สธ. และหน่วยบริการในสังกัดอื่น และการลงทะเบียนสิทธิผู้ต้องขังให้เข้าถึงบริการ การเฝ้าระวัง คัดกรอง ป้องกัน และควบคุมโรคและภัยสุขภาพที่สำคัญ รวมทั้งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งบันทึกความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาระบบ
การป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพที่สำคัญ สำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำจะยิ่งทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

นายอายุตม์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ผู้ต้องขังในประเทศไทยเกินกว่าความจุของเรือนจำ โดยมีสถิติจำนวนผู้ต้องขังเป็นอันดับ 8 ของโลก อันดับ 4 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ข้อมูลสถิติผู้ต้องขัง
ทั่วประเทศกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 2 เมษายน 2566 มีผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศทั้งหมด 266,339 คน ในขณะที่เรือนจำสามารถรองรับผู้ต้องขังได้ประมาณ 200,000 คน กรมราชทัณฑ์ได้แสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดบริการสุขภาพให้กับผู้ต้องขัง ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมและกำจัดโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 และแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด (Mandela Rules) ประเด็นกลุ่มผู้ต้องหา/ผู้ต้องขัง ได้รับการรักษาพยาบาลเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป

ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า ที่ผ่านมา แม้กรมควบคุมโรคได้วางมาตรการในการตรวจคัดกรองโรคติดต่อที่สำคัญหลายโรค แต่ยังพบว่า มีการระบาดของโรคติดต่อสำคัญทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไข้หวัดใหญ่ จากระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 สำหรับเรือนจำ โดยกองระบาดวิทยา ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีรายงานการระบาด 33 เหตุการณ์ ผู้ต้องขังป่วย จำนวน 3,586 ราย และผู้ต้องขังเสียชีวิต จำนวน 2 ราย

“โรคที่มีการรายงานมากที่สุด ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 18 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 55.55 และมีรายงานผู้ต้องขังป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่มากถึง 2,119 คน คิดเป็นร้อยละ 59.09 สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคในปี 2566 ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 – วันที่ 31 มีนาคม 2566 พบ 12 เหตุการณ์ ผู้ต้องขังป่วย 1,377 ราย และเสียชีวิต 4 ราย โรคที่ผู้ต้องขังป่วยมากที่สุด ได้แก่ อาหารเป็นพิษ (4 เหตุการณ์/ 911 ราย) และ ไข้หวัดใหญ่ (2 เหตุการณ์/ 435 ราย) นอกจากนี้ ยังพบการระบาดของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น โควิด-19, RSV, ปอดอักเสบ เป็นต้น เนื่องจากผู้ต้องขังเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความจำเพาะ เป็นกลุ่มเปราะบาง และอาศัยอยู่ด้วยกันตลอดเวลาในพื้นที่จำกัด จึงต้องมีมาตรการเฉพาะ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสติดเชื้อ ลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรค ลดการป่วยรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิต รวมทั้งยังช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดออกมาสู่ชุมชนภายนอกได้” นพ.ธเรศ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image