‘เศรษฐพงค์” เผย “สจล.-ECSTAR-จิสด้า-นานาชาติ’ จับมือลุยขับเคลื่อนกิจการอวกาศ

‘สจล.เปิดงาน ‘KMITL Innovation Expo 2023’หนุนนวัตกรรมไทยไปสู่เวทีโลก’อธิการฯคมสัน’ย้ำไทยต้องเป็นศูนย์กลางด้านอวกาศของอาเซียน ‘เศรษฐพงค์” เผย “สจล.-ECSTAR-จิสด้า-นานาชาติ’ จับมือลุยขับเคลื่อนกิจการอวกาศ ลั่น ไทยต้องส่งดาวเทียมเองให้ได้ พร้อมหนุน สจล. สู่ฮับการวิจัยและอวกาศของอาเซียน

เมื่อวันที่ 30 เมษายน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) ได้จัดงาน “KMITL Innovation Expo 2023” ภายใต้แนวคิด World Towards Sustainability Together “มุ่งสู่โลกที่ยั่งยืนไปด้วยกัน” เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมไทยไปสู่เวทีโลกและความยั่งยืน โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี และอดีตนายกสภาสถาบัน สจล. รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีฯ และ ศ.พิเศษดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ นายกสภาสถาบัน สจล. ร่วมพิธีเปิด

รศ.ดร.คมสัน กล่าวว่า งาน “KMITL Innovation Expo 2023” ได้มีการนำผลงานนวัตกรรมระดับโลกฝีมือคนไทย 1,111 ชิ้น มาจัดแสดง อาทิ อากาศยานไร้คนขับ อีวีทัล (eVTOL) อากาศยานขึ้น-ลงแนวดิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า ลูกผสมของเทคโนโลยีโดรนและเฮลิคอปเตอร์ สร้างสถิติครั้งแรกในประเทศไทย บินลาดตระเวน 10 ล้านไร่ และบินสำรวจป่าไม้-จัดทำภาพถ่ายทางอากาศ 30 ล้านไร่ ในอุทยานแห่งชาติ 11 แห่ง เพื่อใช้สำรวจอัพเดทข้อมูลและแผนที่ทรัพยากรป่าไม้ บริหารจัดการภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อม , ERA – ATOM รถสามล้อไฟฟ้าสายพันธุ์สปอร์ตสุดล้ำ สำหรับการใช้งานในชุมชนหมู่บ้าน ชาร์จไฟบ้าน 4 – 6 ชม. วิ่งได้ระยะทาง 60 กม.ต่อ 1 ชาร์จ นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมเสวนาให้ความรู้ โดยเปิดให้ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมศักยภาพของนวัตกรรมแต่ละชิ้นและร่วมชมงานฟรี ระหว่างวันที่ 27-29 เม.ย. นี้

นอกจากนี้ ยังได้มีการแถลงความร่วมมือในการสนับสนุนกิจการอวกาศ ระหว่างสจล. โดย รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีฯ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย (ECSTAR) โดยพ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการศูนย์ฯ และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านกิจการอวกาศของภูมิภาคอาเซียน

Advertisement

โดย พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า สมัยก่อนเทคโนโลยีแทบจะเป็นไปไม่ที่จะอยู่บนมือคนทั่วไป ยกเว้นองค์กรขนาดใหญ่ แต่วันนี้กิจการอวกาศกำลังมีผลกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเรียน การสอนในมหาวิทยาลัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งอุตสาหกรรมการทำงานทุกรูปแบบ นำมาสู่การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย (ECSTAR) เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้ารองรับการเปลี่ยนแปลงโลก ซึ่งที่ผ่านมา มีการประสานงานกับทุกภาคส่วน ทั้งสภาฯ ผ่านคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศเพื่อเศรษฐกิจและความมั่นคง ในคณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร ที่ตนเป็นประธาน ความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ความร่วมมือกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NASA) เพื่อประสานความร่วมมือต่อไปในอนาคต ขณะเดียวกันตนกำลังผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยที่ สจล.จะต้องเป็นผู้นำสู่ความเป็นฮับด้านการวิจัยระดับอาเซียน

“วันนี้เราไม่ได้ทำแค่ดาวเทียม แต่เรามองทุกมิติ เรามีคิวบ์แซท(Cubesat) อยู่ที่ ECSTAR เรามีบุคลากรที่มีความสามารถสร้างดาวเทียมขนาดเล็กได้ แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากหน่วยงาน ทั้งนี้ เราจะต้องพัฒนาสเปซ เทคโนโลยีเป็นผู้นำของประเทศให้ได้ เป้าหมายที่ สจล. โดย ECSTAR อยากทำเป็นรูปธรรมคือ การส่งกลุ่มดาวเทียมวงโคจรต่ำ LEO เพื่อการให้บริการภาครัฐและด้านบริการสาธารณะให้สำเร็จโดยเร็ว แต่การพัฒนากิจการอวกาศจะไม่สามารถพัฒนาให้สำเร็จได้โดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง เพราะความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จากหลายองค์กรที่ทำงานเชื่อมโยงกัน” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image