อย.ยันสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์อาหาร-ยา ในกำกับ ไม่พบผสม “ไซยาไนด์” ชี้ครอบครองผิดตาม กม.

อย.ยันสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์อาหาร-ยา ในกำกับ ไม่พบผสม “ไซยาไนด์” ชี้ครอบครองผิดตาม กม.

วันนี้ (2 พฤษภาคม 2566) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยภายหลัง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ประสานตรวจสอบแหล่งที่มาของสารไซยาไนด์ที่ถูกใช้ในคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง ว่า สารไซยาไนด์ เป็นวัตถุอันตรายในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งมีหลายหน่วยงานร่วมกันควบคุมดูแล

“ในส่วนการควบคุมของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ถือเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 เวลานำเข้า หรือผลิต ครอบครอง ต้องขออนุญาตกรมโรงงานอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก พลาสติก และเหมืองทอง แต่ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย อย.ที่ดูแลผลิตภัณฑ์ อาหาร ยาและเครื่องสำอาง นั้น ได้จัดสารไซยาไนด์ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ห้ามนำเข้า ห้ามครอบครอง และห้ามนำมาผสมใส่อาหาร ยา และเครื่องสำอาง หากพบผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ อย.มีการสุ่มตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง ในการกำกับดูแลของ อย.เป็นประจำ ยังไม่พบว่ามีผลิตภัณฑ์ใดผสมสารไซยาไนด์” นพ.ไพศาล กล่าว

นพ.ไพศาล กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา อย. มีการอนุญาตขึ้นทะเบียนให้ยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต ในบัญชียาหลักเพื่อใช้เป็นยาแก้พิษของสารไซยาไนด์ โดยยาชนิดนี้จะอยู่ตามโรงพยาบาลทั่วไป เป็นการใช้ในรูปแบบการฉีด โดยมีสภากาชาดไทย เป็นผู้ผลิต

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image