‘เศรษฐพงค์’เผย’สจล.-ECSTAR’ เตรียมบินไปฝรั่งเศสร่วมมือกิจการอวกาศ

‘เศรษฐพงค์’ เผย ‘สจล.-ECSTAR’ เตรียมบินไปฝรั่งเศสร่วมมือกิจการอวกาศ แลกเปลี่ยนข้อมูลกับ ‘CNES’ เรียนรู้อุตสาหกรรมอวกาศใน ‘Aerospace Valley’ เล็ง นำมาประยุกต์ใช้พัฒนาประเทศ สร้าง Space Hub ยกระดับเศรษฐกิจ-ธุรกิจอวกาศระยะยาวและยั่งยืน

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย (ECSTAR) หรือ ศอว. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) อดีตรองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) เปิดเผยว่า หลังจากที่เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย นายตีแยรี มาตู (H.E. Mr. Thierry Mathou) และคณะ เข้าหารือกับ กมธ.ดีอีเอส ที่รัฐสภา เมื่อช่วงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้หารือถึงการดำเนินกิจกรรมเนื่องในปีแห่งนวัตกรรมไทย-ฝรั่งเศส 2566 หรือ Thai-French Year of Innovation 2023 ที่มีประเด็นสำคัญด้านการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและกิจการอวกาศไทย-ฝรั่งเศส เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของสองประเทศพร้อมกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดย ฯพณฯ เอกอัครราชทูตได้เชิญ พ.อ.เศรษฐพงค์ ไปเยือนเมืองตูลูส ศูนย์กลางด้านอวกาศของประเทศฝรั่งเศส เพื่อเยี่ยมชมกิจการอวกาศและสร้างความร่วมมือต่างๆ ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งคณะเดินทางนำโดยผู้บริหาร สจล. โดย รศ.คมสัน มาลีสี อธิการบดีฯ และ ECSTAR พร้อมตนเอง ที่จะร่วมเดินทางไปตามคำเชิญดังกล่าว

พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าวว่า ไทยและฝรั่งเศส มีความจริงจังที่จะร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของสองประเทศ และได้เชิญ กมธ.ไปเยี่ยมชมกิจการด้านอวกาศทั้งหมด โดยสถานทูตฝรั่งเศสจัดให้มีการเยี่ยมชมภาคเอกชนต่างๆ อาทิ บริษัท แอร์บัส (Airbus Defence and Space) ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอวกาศ ผู้ผลิตเครื่องบิน อากาศยาน และอวกาศยาน และร่วมหารือแนวทางความร่วมมือกับองค์การศึกษาวิจัยอวกาศแห่งชาติฝรั่งเศส The National Centre for Space Studies หรือ CNES (Centre National d’Etudes Spatiales) รวมทั้งการเยี่ยมชมระบบนิเวศสำหรับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ หรือ Aerospace Valley จากบริษัทอวกาศชั้นนำในเมืองตูลูส ตัวอย่างเช่น อากาศยานไร้คนขับ ดาวเทียม จรวดนำส่ง และการพัฒนายานอวกาศ รวมถึงแอพพลิเคชั่นการประมวลผลข้อมูลด้านอวกาศ (data analytics) และอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีอย่างมากสำหรับเราที่จะได้ศึกษาในเทคโนโลยีอวกาศ รวมทั้งการพัฒนาสร้างท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport ที่มีความก้าวหน้าอย่างมากในกลุ่มองค์กรอวกาศยุโรป หรือ European Space Agency (ESA) และจะนำกลับมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของไทยให้พัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด เนื่องจากประเทศไทยยังขาดโอกาสในการเข้าถึงอวกาศ ซึ่งหากได้รับความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการพัฒนาทั้งวิทยาศาสตร์อวกาศและเทคโนโลยีอวกาศที่แท้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสร้างให้เกิดเศรษฐกิจและธุรกิจอวกาศระหว่างไทย-ฝรั่งเศสได้ในระยะยาวและยั่งยืนต่อไป

“ต่างประเทศเขามองว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค และรู้ว่าไทยสนใจในเรื่องของกิจการและเศรษฐกิจอวกาศ และพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ อย่างที่ จ.ชุมพร ที่หลายประเทศมองว่าเหมาะที่จะทำสเปซพอร์ต ซึ่งเรากำลังหาทางสร้างความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ สจล. วิทยาเขตชุมพร ให้เป็นที่ทดสอบและทดลองปล่อยจรวด ซึ่งเราอาจจะเริ่มจากขนาดเล็กๆ ก่อน อย่างจรวดความเร็วสูง sounding rocket และพัฒนาต่อ ทำให้เป็นศูนย์กลางในภูมิภาค โดยที่ผ่านมา ทาง กมธ.ดีอีเอส ได้มีโครงการต่างๆ หลายแห่งในการพัฒนาบุคคลากรและสร้างศูนย์การเรียนรู้ พร้อมจัดทำโครงการพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็ก หรือดาวเทียมคิวบ์แซทที่ดำเนินการโดย ECSTAR ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้นักศึกษาสามารถพัฒนาสร้างและส่งดาวเทียม CubeSat ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งการไปเยือนฝรั่งเศสของเราในครั้งนี้ ก็หวังว่าเราจะได้นำความรู้มาพัฒนาประเทศของเราต่อไป” พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image