ยอดพุ่ง 3 เท่า คราฟต์ ‘ดาวดิน’ เบียร์คนรักปชต. เจ้าของเผยเหตุนโยบาย ‘พิธา’สุราก้าวหน้า

ยอดพุ่ง3เท่า คราฟต์ ‘ดาวดิน’ เบียร์คนรักปชต. เจ้าของเผยเหตุนโยบาย’พิธา’สุราก้าวหน้า

วันที่ 5 มิถุนายน 2566 ที่ร้าน “PEOPLE BREWERY” เลขที่ 226/111 ถ.หลังศูนย์ราชการ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายนิติกร ค้ำชู หรือ “ตอง ดาวดิน” หรือ “ตอง โรงต้ม” ผู้ผลิตเครื่องดื่มดาวดิน เบียร์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ถึงกระแสที่นายพิธา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล และเคนดิเดตนายกฯ คนที่ 30 ของไทย ได้พูดถึงประเด็น “สุราก้าวหน้า” เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา จนทำให้สุราพื้นบ้านในหลาย ๆ จังหวัดขาดตลาด ว่านับเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อย แบรนด์ที่ไม่เคยถูกพูดถึงก็พยายามส่งเสริมและบอกต่อกันไปเป็นเครือข่าย ทำให้สุราชุมชนเกิดการซื้อขายจนหมดโรงงานผลิตตามที่เป็นข่าว

ขณะที่เบียร์ดาวดินเองแม้จะไม่ได้ถูกพูดถึงเท่าไหร่นัก แต่ก็มีผลดีมาถึง นั้นคือ มีคนสนใจติดต่อสอบถามเข้ามาเยอะมาก มากกว่าในช่วงปกติ 2-3 เท่า และส่งผลทำให้ทุกแบรนด์ ไม่ว่าสุราหรือเบียร์ ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น

“การที่คุณพิธา ออกมาพูดตอนนี้เป็นเรื่องที่ดีในแง่ของการกระตุ้นส่งเสริมสุราท้องถิ่น ในอีกแงหนึ่งก็เป็นการคานกับกระแสที่มีรายงานว่าคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กำลังจะออก พ.ร.บ.ตัวใหม่ออกมา สาระสำคัญคือ การห้ามบริโภคและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังเที่ยงคืน หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับทั้งผู้บริโภคและผู้จำหน่าย ซึ่งก็ดีว่าเราได้เห็นการต่อสู้กันของ 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายที่กำลังหาวิธีการควบคุม และฝ่ายที่ต้องการส่งเสริมสนับสนุนสุราไทย ที่หลายคนมองว่าเป็นซอฟพาวเวอร์ ได้ขึ้นมากระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้ และช่วยในเรื่องการท่องเที่ยว อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องผลผลิตทางการเกษตรที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสุรา ก็จะเกิดการเติบโตตามไปด้วย เป็นการส่งเสริมให้เกิดผู้ผลิตหน้าใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่เพียงคนไม่มีกี่คนเช่นทุกวันนี้”

Advertisement

 

นิติกร เล่าถึงที่มาของการผลิตเบียร์ ในชื่อ “ดาวดิน เบียร์” ว่า มีจุดเริ่มต้นมาจากความชื่นชอบในการดื่มเบียร์ของตนเองและเพื่อน ๆ สมาชิกในกลุ่มดาวดิน ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทางสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าหากใครที่รู้จักหรือคลุกคลีกับกลุ่มดาวดิน จะรู้ว่าดาวดิน เป็นกลุ่มคนที่บริโภคเบียร์เยอะมาก (ตอง ใช้คำว่า “สะแตก” เป็นภาษาอีสาน หมายความว่า การกินหรือดื่มในปริมาณมากเกินกว่ามนุษย์ทั่วไป) ซึ่งเบียร์ถือเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ทำให้สมาชิกสามารถใช้เวลาในการพูดคุย ถกเถียง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า

Advertisement

องค์ความรู้ส่วนหนึ่งได้มาจากวงเหล้าเบียร์ ทำให้เริ่มติดใจและชื่นชอบบรรยากาศในวงเบียร์ แต่เราไม่ได้ดื่มเพื่อให้เกิดความสนุก แต่เราดื่มเพื่อการสนทนา แลกเปลี่ยน และพูดคุยให้ความรู้กันและกัน ซึ่งก็จะมีเบียร์เป็นเครื่องมือหรือส่วนหนึ่งในวงสนทนาและการทำกิจกรรมการเคลื่อนไหว เราจึงเกิดคำถามว่า การเคลื่อนไหวของดาวดินดูทรงแล้วน่าจะยาวนาน และหากเราไม่มีฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงที่สามารถดูแลตัวเองได้ ไม่มีเงินทุนที่จะนำมาสนับสนุนการทำกิจกรรมการเคลื่อนไหวได้ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวในระยะยาว จึงนำมาสู่การคิดถึงเรื่องของฐานเศรษฐกิจ

“พอคิดได้ว่าเราต้องมีฐานเศรษฐกิจ ก็มานั่งคิดกันกับกลุ่มเพื่อน ๆ ว่า เราจะทำอะไรกันดี ก่อนหน้านี้เคยไปทำข้าวออแกนิค ทำผักออแกนิคก็ไปไม่รอด สุดท้ายมาคิดได้ว่า ไหน ๆ เราก็เป็นคร่ำหวอดในวงการดื่มเบียร์มาขนาดนี้แล้ว ทำไมเราไม่รองทำเบียร์ดู ซึ่งตอนที่คิดกันในเวลานั้น กระแสของการทำเบียร์เองยังไม่ได้รับความนิยมมากขนาดนี้ และตอนนั้นมีกรณีที่นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ซึ่งปัจจุบันเป็น ส.ส.พรรคก้าวไกล ถูกตำรวจจับในตอนนั้น เราก็คิดว่า มันสามารถทำได้ด้วยเหรอ จึงเริ่มช่วยกันค้นคว้าหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต กระทั้งพบว่า มีคนที่ผลิตเบียร์ด้วยตนเองได้ในประเทศไทยแล้ว จึงศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม จนกระทั้งได้มาทดลองต้มด้วยตนเองเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2563 โดยหาสูตรจากอินเตอร์เน็ต วัตถุดิบก็สั่งจากอินเตอร์เน็ต แล้วก็มาลองต้มกันดูก็พบว่า มันเป็นเบียร์ได้ ก็คิดต่อไปอีกว่า ถ้าเราจะต่อยอดให้มันเป็นธุรกิจมันก็น่าจะเป็นไปได้”

นิติกร บอกว่า จากการศึกษาข้อมูลในตอนนั้นพบว่า หากเราจะผลิตเบียร์ในประเทศไทยแล้วทำธุรกิจขายที่ประเทศไทย ไม่มีทางเป็นไปได้แน่นอน เพราะเงื่อนไขทางข้อกฎหมายเต็มไปหมด เช่น ขั้นต่ำของจำนวนการผลิตที่มีเรทที่ค่อนข้างสูง ซึ่งจะต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก เราจึงเลือกใช้วิธีการสั่งผลิตที่ประเทศเวียดนาม เริ่มต้นจากการจ้างบริษัทที่เป็นตัวกลางในการไปติดต่อกับโรงงานผลิตที่ประเทศเวียดนาม และเดินเรื่องเกี่ยวกับการนำเอาผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเวียดนามเข้ามาในประเทศไทย

ในกระบวนการผลิตก็ต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งค่าการผลิตที่เวียดนาม ค่าขนส่งทางเรือ ตู้คอนเทนเนอร์เก็บความเย็น เมื่อมาถึงไทยก็ต้องดำเนินการเรื่องของสรรพากร สรรพสามิตที่ท่าเรือ เมื่อผ่านด่านมาได้ก็ยังต้องเสียค่าเช่าห้องแช่เย็นเพื่อแช่รักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์อีก เรียกได้ว่า มีค่าใช้จ่ายในทุกกระบวนการ ซึ่งทั้งหมดนี้คือที่มาของการผลิตเบียร์ดาวดิน ที่เกิดจากแนวคิดที่อยากจะมีฐานเศรษฐกิจไว้สนับสนุนการเคลื่อนไหวในระยะยาวและมีอิสระในการเคลื่อนไหวด้วย

ครั้งแรกที่เริ่มผลิตเบียร์ที่เวียดนาม นิติกร บอกว่า เริ่มทำจากขนาดต่ำสุด คือ 1,000 ลิตร มีกลุ่มผู้บริโภคที่เล็งว่าจะขายให้ก็คือ พี่น้องนักกิจกรรมด้วยกัน รวมทั้งคนที่ติดตามกลุ่มดาวดิน ซึ่งล็อตแรกที่นำเข้ามาในไทย หลังจากที่เพจเฟซบุ๊ก “ประชาชนเบียร์” นำไปโพสต์ ปรากฏว่าไม่ถึง 3 สัปดาห์ สินค้าเราหมดเกลี้ยง จึงได้เร่งสั่งผลิตเป็นรอบที่ 2 โดยสั่งไป 6,000 ลิตร แต่ทางโรงงานที่เวียดนามสามารถผลิตให้ได้เพียง 4,000 ลิตรเท่านั้น เนื่องจากเกิดข้อผิดพลาดทางเทคนิคเล็กน้อย

ซึ่งหลังจากที่นำมาขาย ตอนนี้เหลือสินค้าอยู่เพียง 1,000 กว่าลิตรเท่านั้น ยิ่งในช่วงนี้ที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทย ออกมาพูดถึงนโยบายสุราก้าวหน้า ซึ่งเราจะเห็นตามข่าวว่า สุราท้องถิ่นของจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ขายดีจนหมด ตนเองมองว่า ที่จริงกระแสการบริโภคและจำหน่ายสุราท้องถิ่นมีมาได้สักพักแล้ว เพียงแต่เป็นการรับรู้ในวงแคบ ๆ เพราะติดปัญหาเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่มีข้อกฎหมายจำกัดอยู่ ทำให้เราไม่รู้จักว่า มันมีอยู่

นิติกร ยังฝากถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสุราก้าวหน้าว่า ประเทศเราอยู่กับเครื่องดื่มสุรา เบียร์ มาโดยตลอด ทั้งในวัฒนธรรมประเพณีที่ผ่านมาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีสุราและเบียร์เข้ามาเกี่ยวข้องหมด เพียงแค่มันถูกสร้างวิธีคิดขึ้นมาว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เลวร้าย แต่กลายเป็นว่ามีคนที่ได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ไปเพียงไม่กี่กลุ่ม ขณะเดียวกันในสภาพความเป็นจริงของสังคมเราก็เห็นว่า ปริมาณหรือจำนวนคนที่ดื่มก็ไม่ได้ลดลง

แต่กลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นหากจะทำให้สุราหรือเบียร์เกิดประโยชน์ เกิดการกระจายรายได้ให้กับคน ต้องเริ่มจากการส่งเสริมให้มีผู้ผลิตรายย่อยเพิ่มมากขึ้น เพราะจะไปช่วยส่งเสริมในเรื่องวัตถุดิบในท้องถิ่นด้วย ขณะเดียวกันวัตถุดิบและผลผลิตทางการเกษตรในบ้านเรามีความหลากหลายมาก หากรัฐจะนำไปทำการวิจัยต่อยอดว่า สามารถนำไปทำอะไรต่อได้บ้าง เพื่อให้ได้สินค้าที่มีระดับและคุณภาพจะดีมาก รวมทั้งการแก้ไขเรื่องระบบภาษีที่มีขั้นตอนและความซ้ำซ้อน ให้ทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว

สำหรับร้าน “PEOPLE BREWERY” ก่อนหน้านี้เปิดเป็นร้านจำหน่ายกาแฟ เบเกอรี่ และคราฟต์เบียร์ ในชื่อ “PEOPLE CAFE” ปัจจุบันกำลังเร่งปรับปรุงร้านใหม่ เพื่อเปิดเป็นร้านสไตล์ BREW PUB โรงเบียร์ขนาดเล็ก ที่ผลิตเบียร์ภายในร้าน มีโรงต้ม และหม้อต้มภายในร้าน จำหน่ายภายในร้านเท่านั้น จะไม่มีการบรรจุภาชนะออกไปจำหน่ายนอกร้าน เนื่องจากเป็นเงื่อนไขจ้อบังคับทางกฎหมาย ซึ่งหลังจากปรับปรุงร้านเสร็จก็จะต้องไปดำเนินการขอใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะสามารถเปิดทำการได้ทันเดือน ก.ค.นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image