ECSTAR ลุยฝรั่งเศสศึกษากิจการอวกาศ หวังนำข้อมูลประยุกต์การเรียนการสอน

‘เศรษฐพงค์’ เผย  ‘อธิการ สจล.’นำทีมลุยฝรั่งเศสศึกษากิจการอวกาศ หวังนำข้อมูลประยุกต์การเรียนการสอน พัฒนาบุคคลากรด้านอวกาศ แย้ม สจล.เตรียมส่งดาวเทียมวงโคจรต่ำ สำรวจสภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ย้ำพร้อมเป็นผู้นำประสานร่วมมือภาคเอกชน ระบุ ไทยควรมีโร้ดแมปจริงจังพัฒนากิจการอวกาศ

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย (ECSTAR) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กล่าวว่า เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รศ.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สลจ. และ ผศ.เสริมศักดิ์ อยู่เย็น คณบดีวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ (IAAI) พร้อมทั้งตนเอง นายชาญวิทย์ มุนิการนนท์ รักษาการผู้อำนวยการ ECSTAR นายบัณฑิต สะเพียรชัย ที่ปรึกษา ECSTAR 6. ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ในคณะกมธ.ดีอีเอส น.ส.แคทลียา เดลแมร์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศฯ และคณะได้เดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส ตามที่ นายตีแยรี่ มาตู เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ได้เชิญให้คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) เยี่ยมชมเมืองอวกาศ ตูลูส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เนื่องในโอกาสปีแห่งนวัตกรรมไทย-ฝรั่งเศส 2566 (Thai-French Year of Innovation 2023)
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานกมธ.ดีอีเอส ในขณะนั้น และได้มอบหมายให้ตน ในฐานะรองประธาน กมธ.ดีอีเอส เป็นตัวแทนเดินทางไปเยี่ยมชม ในนามศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย (ECSTAR) เมื่อเดินทางไปถึงเราได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินกิจการอวกาศของภาครัฐ ณ องค์การอวกาศฝรั่งเศส (CNES) และภาคการศึกษา ณ สถาบัน ISAE-SUPAERO จากนั้นได้เข้าเยี่ยมชมภาคเอกชนรายใหญ่ของตูลูส ได้แก่ บริษัท Thales Alenia Space และบริษัท Airbus Defence and Space ตลอดจนรับฟังการบรรยายจากบริษัทน้อยใหญ่ อาทิ บริษัท Hemeria และกลุ่มระบบนิเวศอุตสาหกรรมอวกาศ Aerospace Valley

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า การเดินทางมาเยือนตูลูสในครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นความจริงใจที่ประเทศฝรั่งเศสได้มอบให้ประเทศไทยและความตั้งใจที่จะร่วมสร้างนวัตกรรมอวกาศร่วมกัน โดยองค์การอวกาศฝรั่งเศสได้นำเสนอ โร้ดแมปการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและแผนการสำรวจอวกาศ อาทิ ดวงจันทร์ และดาวอังคาร รวมทั้งภาคเอกชนได้นำคณะเข้าเยี่ยมชมอาคารทดสอบประกอบดาวเทียมที่มีความทันสมัยและพาเข้าเยี่ยมชมดาวเทียมไทยภายใต้โครงการธีออส 2 ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISDA) ซึ่งพัฒนาแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมส่งภายในปี 2566 ตลอดจนการบรรยายระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศของเมืองตูลูสทั้งหมด ณ Aerospace Valley ทำให้เห็นจำนวนบริษัทน้อยใหญ่ในตูลูสที่มีความหลากหลายในความสามารถ ทั้งกลุ่มบริษัทต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จำนวนกว่าหลายร้อยบริษัท โดยเราจะได้สรุปผลการศึกษาดูงานในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนากิจการอวกาศในไทยอย่างจริงจังต่อไป โดยทาง ECSTAR จะทำหน้าที่เป็นองกรณ์หลักของภาคการศึกษา ที่จะได้ดำเนินความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อทำให้เกิดแผนพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Advertisement

“เห็นได้ว่าฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับกิจการอวกาศอย่างไรมาก ซึ่งประเทศไทยเองโดยรัฐบาลควรให้ความสำคัญเรื่องนี่อย่างจริงจัง เรามีควรมีนโยบายที่เป็นโร้ดแมปนำไปสู่เป้าหมายด้านกิจการอวกาศอย่างจริงจัง เช่น พัฒนาสเปซ พอร์ต ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย หรือการยิงกลุ่มดาวเทียมขนาดเล็ก(Low Earth Orbit) ที่สจล. มีแผนที่จะดำเนินการเรื่องนี้แล้วเพื่อตรวจสอบและรายงานสภาพสิ่งแวดล้อม ที่สามารถนำมาใช้ในการวางแผนด้านทรัพยากรธรรมชาติได้” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

ด้าน รศ.คมสัน กล่าวว่า สจล.ได้ให้ความสำคัญในกิจการอวกาศและการส่งเสริมการศึกษาให้เยาวชนนักเรียนและนักศึกษามีความรู้ความสามารถในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและการสร้างหลักสูตรความร่วมมือทางด้านการศึกษาระหว่างสองประเทศ โดยมีแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาร่วมกับสถาบัน ISAE-SUPAERO และการถ่ายทอดความรู้จากภาคเอกชน อาทิ การฝึกงานกับบริษัทแอร์บัส ตลอดจนการพัฒนา สจล. วิทยาเขตชุมพร ให้เป็นอุทยานการบินและอวกาศ Thailand Aerospace Valley (TAV) เพื่อยกระดับเทคโนโลยีอวกาศและเป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาจรวด Sounding Rocket แห่งแรกในประเทศต่อไป และจะนำผลการศึกษาดูงานในครั้งนี้ไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนของนักเรียนนักศึกษาต่อไป เพื่อให้พวกเขาสามารถก้าวขึ้นมาเป็นบุคลากรที่สำคัญในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image