สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา บำบัดทุกข์ชาวบ้าน บำรุงสุข ‘ลาดกระบัง’

สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา บำบัดทุกข์ชาวบ้าน บำรุงสุข ‘ลาดกระบัง’
สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย

สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา บำบัดทุกข์ชาวบ้าน บำรุงสุข ‘ลาดกระบัง’

ยังคงยืนยันประโยคซ้ำๆ ว่า ‘บำบัดทุกข์ บำรุงสุข’ ตลอดบทสนทนา สำหรับ สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า ดร.จอห์น ส.ก.เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย ซึ่งเพิ่งครบรอบการนั่งเก้าอี้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 1 ปีหมาดๆ พร้อมกับการเกิดโศกนาฏกรรมทางวิศวกรรมครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปีของประเทศไทย ในการก่อสร้าง ‘ทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง’ บนถนนหลวงแพ่ง ระยะทางรวม 3.5 กิโลเมตร ใกล้ช่วงหกโมงเย็น ของวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บกว่าสิบราย

ดร.จอห์น เผยว่า รับทราบข่าวทางยกระดับถล่มจากชาวบ้านที่ส่งเข้าไลน์ส่วนตัวเมื่อเวลา 17.58 น. ขณะนั้นกำลังเตรียมข้อมูลในการอภิปรายในสภา กทม. จึงรีบขับรถไปยังจุดเกิดเหตุภายใน 15 นาที พบกับเจ้าหน้าที่กู้ภัย เจ้าหน้าที่เทศกิจ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทีมแพทย์พยาบาล

“พูดจริงๆ ว่าช็อก เหนือความคาดหมาย ไม่คาดฝันว่าจะเกิดขึ้น เพราะการก่อสร้างทางยกระดับเป็นสิ่งที่ กทม.ทำมานาน 20-30 ปี ทั้งยังเป็นโครงการของสำนักการโยธาที่ดูแลการก่อสร้างของ กทม.

Advertisement

เราไม่ได้สร้างจรวดไปดาวอังคาร หรือสร้างดาวเทียมไปนอกโลก ตอนแรกไม่คิดว่าคานจะขาด แล้วตัวสะพานจะร่วงลงมาทั้งหมด นึกว่าเหล็กเครนหักพาดมาโดนเสาไฟฟ้าและบ้านเรือนประชาชน ไม่คิดว่าโครงสร้างจะพังลงมา พอไปถึงหน้างาน ตกใจมากเหมือนฉากในหนัง คิดในใจว่าอย่าให้มีผู้เสียชีวิตเลย สุดท้ายก็มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ผมเสียใจมาก มันไม่น่าจะเกิดแบบนี้ได้”

ชาวบ้านย่านนั้นเล่าด้วยว่า ยังดีที่ตอนเกิดเหตุถนนโล่ง รถไม่ค่อยติด ไม่เช่นนั้น สถานการณ์คงเลวร้ายกว่านี้

ส.ก.ลาดกระบังท่านนี้ ยังเป็นผู้เปิดประเด็นปัญหาของการก่อสร้างดังกล่าวในสภา กทม. ตั้งแต่เดือนมกราคม โดยมีข้อสังเกตที่ว่างานไม่เดิน แต่ปิดถนนเหมือนก่อสร้างตลอดเวลา มีคนงานแค่ 4-5 คน และไม่สามารถถามข้อมูลจากใครได้เลย

Advertisement

“สน.ในพื้นที่ก็ตั้งคำถามมาที่ผม ว่าสรุปแล้วจะสร้างแบบไหน จะปิดการจราจรอย่างไร ผมถามไปที่สำนักงานเขตลาดกระบัง เขาก็ไม่มีคำตอบให้ เขาไม่ได้อยู่ในโครงการ เขาไม่ได้เป็นผู้รับเหมา ไม่ได้อยู่ในชื่อที่ปรึกษา ก็เลยต้องพูดในสภา กทม. เพราะโครงการไม่คืบหน้าเลย มีแค่เสา 2-3 ต้นแค่นั้น แต่ปิดถนน ปกติมี 3 เลน ปิดมาเลนนึง เหลือ 2 เลน การจราจรยิ่งติดหนักไปใหญ่ ประชาชนก็ร้องทุกข์มาที่ผมทั้งวัน รวมถึงปัญหาอื่นๆ ก็คือความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน วันดีคืนดีน้ำมันก็กระเด็นออกมาจากถัง เปื้อนรถประชาชน บางวันมีเครนขนถ่ายอุปกรณ์พาดผ่านถนน ที่วิ่งกันปกติ วันดีคืนดีพวกเหล็กกั้นต่างๆ ก็เผยอไว้ตรงถนน ไฟมีบ้างไม่มีบ้าง” ดร.จอห์นย้อนเล่า

ล่าสุด ในการประชุมสภา กทม. สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2566 หลังเหตุสะพานถล่มเพียง 2 วัน ดร.จอห์น ลุกยื่น ‘ญัตติด่วน’ เรื่องตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษา ตรวจสอบโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในความรับผิดชอบของ กทม. เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แม้โดนคัดค้านเป็นระยะๆ แต่สุดท้ายก็ผ่านฉลุยให้ตั้งคณะกรรมการ 17 ราย

จากนี้ คือความในใจและวิสัยทัศน์ของ ส.ก.ลาดกระบังคนปัจจุบัน

•ทราบมาว่ามีชาวบ้านหลายคนบอกว่าไม่ได้เข้าร่วมการประชาพิจารณ์โครงการนี้?
ต้องยอมรับว่าโครงการนี้เกิดขึ้นก่อนที่สภา กทม.ชุดนี้จะเข้ามา คือตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ณ ตอนนั้นประชาชนในพื้นที่คัดค้านกันเยอะ และมีหลายท่านแจ้งมาที่ผม แต่ผมไม่มีอำนาจอะไร ก็ได้แต่รับฟัง และพยายามจะประสานในการทำประชาพิจารณ์ พี่น้องประชาชนก็บอกว่าไม่มีการทำประชาพิจารณ์ ผมก็รับทราบอยู่ แต่ทำอะไรไม่ได้

•จากกรณีสะพานถล่ม มีคำถามถึงฝ่ายบริหารของ กทม. อย่างไรบ้าง?
1.ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งตรวจสอบเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ โดยในพื้นที่ลาดกระบังมีทั้งโครงการทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง โรงพยาบาลลาดกระบัง อาคารสำนักงานเขตลาดกระบังแห่งใหม่ ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งตรวจสอบอาคารเหล่านี้ และขอถามทาง กทม.ว่าได้ทำ Root Cause Analysis หรือไม่ ทราบสาเหตุการถล่มของสะพานแล้วหรือยัง ทั้งนี้ การเกิดเหตุแบบนี้ต้องปิดสถานที่ทั้งหมดและให้หน่วยงานกลางที่ไม่ขึ้นกับ กทม.เข้ามาตรวจสอบ แต่ปัจจุบันพบว่าได้มีการตัดเหล็กออกเป็นชิ้นเพื่อเคลื่อนออกจากหน้างานแล้ว มีการเคลื่อนคอนกรีตเพื่อเปิดการจราจรในวันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม

2.คำถามเรื่องของการเร่งเยียวยาผู้ประสบเหตุ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ สอบถามว่าบริษัทนี้มีการทำประกันไว้หรือไม่ เนื่องจากหากต้องรอเงินช่วยเหลือจากภาครัฐต้องใช้เวลานานมาก

3.คำถามสุดท้าย กทม.มีการตรวจสอบคุณภาพผู้รับเหมาหรือไม่ เนื่องจากผู้รับเหมารายนี้เป็นกิจการค้าร่วมทุน มีประสบการณ์ทำงานอย่างไรบ้าง

•โครงการขนาดใหญ่ในเขตลาดกระบัง ทั้งสำนักงานเขตแห่งใหม่ และโรงพยาบาลลาดกระบัง มีการติดตามอย่างไรบ้าง?
ในการประชุมสภาครั้งที่แล้ว ผมได้มีการตั้งกระทู้ ถามผู้ว่าฯไปแล้วว่าโครงการไม่คืบเลย แต่ในโครงการ ระบุความคืบหน้า -4% เป็นโครงการ 9 ชั้น บวก 2 ชั้นใต้ดิน แต่ตอนนี้ มีแค่ชั้น B1 B2 แต่ยังไม่เห็นชั้นเหนือดินสักชั้นเลย แล้วมันจะเสร็จปีหน้าที่เขาเลื่อนระยะเวลาไปในเดือนธันวาคมเหมือนกันทั้ง 3 โครงการ มันจะเสร็จไหม

•ส่วนตัวมีความกังวลเป็นพิเศษต่อโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่?
ผมก็กังวลว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นอีก ไม่อยากให้เกิดนะ คือเร่งปุ๊บ คุณก็จะดร็อปมาตรฐานในการก่อสร้างหรือเปล่า หลังจากที่ผมอภิปรายเรื่องสะพานยกระดับในสภา เขาก็ดำเนินการ และเห็นเป็นรูปธรรมขึ้น มีเครื่องจักรเข้ามา จากตอนแรกที่ไม่มีอะไร มีแค่คนงาน 5-6 คน ก็ดีขึ้น จนผมเองสบายใจว่าใกล้เสร็จ นี่ก็เหมือนกันโครงการก่อสร้างสำนักงานเขตลาดกระบังแห่งใหม่ เลยกลัวว่าจะเป็นแบบนี้หรือเปล่า แต่ท่านผู้ว่าฯก็รับปากว่าจะดูแลอย่างใกล้ชิดทั้ง 3 โครงการ

•รีวิวการทำงานในสภา กทม. 1 ปีที่ผ่านมา เห็นผลเป็นรูปธรรม?
ญัตติที่ผมเสนอมีเยอะมาก หลักๆ จะเป็นปัญหาน้ำท่วม ตอนนี้ได้รับงบประมาณในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะถนนชำรุด ประชาชนที่ได้รับผลกระทบหลังน้ำท่วมตอนน้ำลด ทางฝ่ายบริหารได้พิจารณางบประมาณ ให้เขตลาดกระบังเยอะในการแก้ไขพอสมควร แต่ว่าจะเริ่มปลายปีนี้ ตอนนี้ยังไม่เห็นผลชัดเจน แต่เป็นแค่การบรรเทา ต่อมาที่เห็นเป็นรูปธรรมคือศูนย์เด็กเล็ก ผมก็เสนอในสภาแห่งนี้ จากค่าอาหารกลางวัน วันละ 20 บาท ปัจจุบันเพิ่มเป็น 32 บาท ค่าวัสดุอุปกรณ์การเรียน จากปีละ 100 บาท ปัจจุบันเพิ่มเป็น 600 บาท ตรงนี้ก็คือเห็นได้ชัดเจน

•มีการทำแบบประเมินของตัวเองหรือไม่ ฟีดแบ๊กจากชาวลาดกระบังเป็นอย่างไร?
ไม่ได้ทำ แต่ทุกกิจกรรมผมจะโพสต์ลงเฟซบุ๊กหรือช่องทางโซเชียลอื่นๆ ตลอด ปัจจุบันคนจะร้องทุกข์ทั่วไป แล้วเจอแท็กชื่อเรา เขาจะร้องในเพจอะไรก็แล้วแต่ ล่าสุด ในเพจ Drama-addict เรื่องไฟส่องสว่างในแอร์พอร์ตลิงก์ ผมก็ดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สิ่งที่ผมทำนี้ ไม่ได้เพิ่งมาทำตอนเป็น ส.ก.นะ ผมทำมาก่อนแล้ว โดยเฉพาะช่วงโควิด ผมและ ส.ส.อิ่ม ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ พรรคเพื่อไทย ทำงานกันเชิงรุกมาก มีการตรวจโควิดถึงบ้าน ส่งมอบยาถึงบ้าน มีถังออกซิเจนให้ถึงบ้าน เรามีรถรับส่งมารับผู้ป่วยไปส่งที่ศูนย์ 72 พรรษา (ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มีนบุรี) มีรถรับส่งไปส่งที่โรงพยาบาล เรามีกล่องยังชีพไปให้ถึงบ้าน คือทำงานเชิงรุกสุดสุด เราเป็นหน่วยงานแรกในกรุงเทพฯ ที่มีรถรับส่งให้ประชาชน ก่อนองค์กรต่างๆ เราประสานหาเตียงประสานหาโรงพยาบาล

•ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาชาวลาดกระบังต้องการอะไรจากผู้บริหาร กทม.มากที่สุด?
ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องถนนหนทาง เรื่องไฟฟ้าก็ยังดับอยู่ เรื่องคลอง ที่เมื่อสักครู่ชาวนา เกษตรกร ส่งมาบอกว่าคลองเริ่มเน่าเสีย ผมก็ได้แจ้งไปยังรองปลัด กทม. ณรงค์ เรืองศรี ที่ท่านรับผิดชอบกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก ท่านก็ประสานต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาตรวจสอบเร่งแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน เรื่องน้ำท่วมสำคัญมาก แต่ปีนี้โชคดีหน่อยที่ฝนตกน้อยก็เลยไม่ได้เป็นปัญหามาก

•ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากบนถนนหลวงแพ่ง มีการแก้ไขปัญหาอย่างไร?
ตรงนี้แก้ไขปัญหาได้เบื้องต้น มีการตั้งเครื่องสูบน้ำ มีการลอกท่อโดยกรมราชทัณฑ์ แต่ระยะยาวคือเรื่องงบประมาณ ทาง กทม.ได้จัดสรรงบประมาณมาลงตรงนี้ จะเริ่มดำเนินการได้ในปลายปีนี้ เพราะเป็นงบประมาณปี 2566 เพิ่มเติม หลังหน้าฝนก็น่าจะเริ่มดำเนินการได้ ตอนนี้จึงยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม

ตอนนี้ฝนตกน้ำท่วมแต่แห้งเร็ว เพราะลอกท่อแล้ว หลังจากไม่ได้ลอกมาประมาณ 10 ปี สำนักงานเขตไม่เคยลอกท่อเลย โครงสร้างของ กทม. มีส่วนที่รับผิดชอบของเขตคือซอยย่อย ส่วนถนนจะขึ้นอยู่กับสำนักการระบายน้ำ ที่ผ่านมาเขาอาจจะลอกท่อบ้างเป็นจุดที่น้ำท่วม แต่ลอกครั้งนี้ประมาณ 40 กิโลเมตร เกือบทั่วลาดกระบังบนถนนสายหลัก ที่ดำเนินการโดยผู้ว่าฯชัชชาติ ตอนลอกท่อผมก็ไปดู พบว่ามีทราย ดินเยอะมาก ขยะขวดน้ำพลาสติก แล้วผมก็ประสานรถดูดเลน มาดูดเลนเพิ่มให้ตามหมู่บ้านที่เป็นจุดเสี่ยง

•เตรียมการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนิโญอย่างไรในส่วนของลาดกระบัง?
ล่าสุด เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ผู้ว่าฯชัชชาติ ประชุมที่เขตหนองจอก เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชิญ ส.ก.ในพื้นที่ รวมถึงกรมชลประทานไปวางแผนร่วมกัน ผมคาดว่าปีนี้น่าจะดีขึ้น

เขตลาดกระบังมีการทำเกษตรกรรม ใน 3 แขวง ประกอบด้วย แขวงลำปลาทิว แขวงทับยาว แขวงขุมทอง ปัญหาที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาฯ-เมษาฯที่ผ่านมา คือการเผาฟาง เผาหญ้า เผาขยะเกิดขึ้นเยอะ ผมก็นำประเด็นนี้อภิปรายในสภาเหมือนกัน เพราะว่าปัจจุบันการแก้ไขปัญหาเอาผิดกับผู้เผา พอไปถึงหน้างานคนที่เผาซึ่งหน้า เขาก็บอกว่าเขาไม่ได้เผา เข้ามาช่วยดับไฟ ก็จับมือใครดมไม่ได้

ทำไมในทางกลับกันกฎหมายบังคับชัดเจน ทำไมคุณไม่เอาผิดกับคนที่เป็นเจ้าของที่ ตอนนี้มีแค่ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ปรับแค่ 2,000 บาท กรณีที่เจ้าของปล่อยที่ดินรกร้าง ผมก็เลยเสนอในสภาแห่งนี้ว่าต้องแก้ไขข้อบัญญัติต่างๆ ประกาศที่ท่านผู้ว่าฯเซ็นออกมา ประชาชนที่เขาเผาไม่สนใจอะไรเลย ผมเจอเหตุซึ่งหน้าก็เลยเตือน และให้ทางเทศกิจมาดำเนินการจับปรับตรงนั้นไป แต่เหตุที่ไม่ซึ่งหน้า ปัจจุบันยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ ก็รอให้ผู้ว่าฯพิจารณาว่าจะดำเนินการแบบไหน

•เห็นด้วยกับแผนพัฒนาเมืองใหม่ในลาดกระบัง ตามนโยบายของผู้ว่าฯชัชชาติ หรือไม่?
ก็ดีนะ ผมเห็นด้วย แต่อยากให้ทำผังเมืองที่ชัดเจน อยากให้กำหนดแพทเทิร์นที่ชัดเจนก่อนดำเนินการสร้าง อย่างตอนนี้ศูนย์ IDC เกือบจะใจกลางของลาดกระบัง แล้วก็ขยายไปเรื่อยๆ อยู่ตามชุมชน เป็นลานจอดรถ ปัญหาที่ตามมาคือถนนพัง ถ้าเขาเข้าไปแบบนี้มีกฎหมายบังคับหรือเปล่า อยากให้รัดกุมตรงนี้ด้วย ทั้งมหาวิทยาลัย นิคมอุตสาหกรรม ศูนย์ IDC อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร อยู่ที่เดียวกันหมดเลยรวมทั้งชุมชนขนาดใหญ่ คือเคหะร่มเกล้า แล้วรถมันจะไม่ติดได้อย่างไร

•การทำงานในปีที่ 2 ของการเป็น ส.ก.จะเน้นเรื่องอะไรเป็นพิเศษ?
ผมได้รับการร้องเรียนจาก ผู้ปกครองนักเรียน ที่เป็นเด็กพิเศษ ผมจะเน้นเด็กที่มีความบกพร่อง ซึ่งโรงเรียนในสังกัด กทม.มี 437 โรงเรียน แต่โรงเรียนที่สอนเด็กพิเศษมีเพียง 36% ครูขาดไป 48% รวมถึงเรื่องบูรณาการด้านต่างๆ เช่น ด้านอนามัย สาธารณสุข ด้านสวนสุขภาพ สิ่งไหนที่ไม่ขึ้นกับ กทม. ก็พยายามจะประสานมอบให้ กทม. และดำเนินการแก้ไข

ปัญหาหลักตอนนี้ของลาดกระบังคือ น้ำท่วม ถนนชำรุด ไฟฟ้า คลอง ถ้า 2-3 ปีเราแก้ปัญหาตรงนี้ได้ อีก 1 ปีค่อยสร้าง กล่าวคือ ซ่อมก่อนแล้วค่อยสร้าง สำหรับความคิดผม ต้องบำบัดทุกข์ก่อน แล้วให้บำรุงสุข คุณบำรุงสุขแต่ทุกข์ยังอยู่ มันก็กลับไปลูปเดิม 2 คำนี้มันมีความหมาย แต่คนต้องเริ่มที่บำบัดทุกข์ก่อน

เรื่องขยะตกค้างมีเกือบทุกเขต กทม.กำลังปรับรูปแบบการดำเนินการโดยสำนักสิ่งแวดล้อม เขาจะมีการเก็บขยะช่วงกลางคืน ตี 4 ถึง 6 โมงเช้า จะเก็บโดยสำนักสิ่งแวดล้อมบนถนนสายหลัก จากนั้นช่วงเช้า สำนักงานเขตจะเก็บบนถนนสายย่อย ก็จะไม่มีปัญหาขยะล้น ขยะตกค้าง น่าจะเริ่มประมาณปลายปีนี้

ถนน ไฟฟ้า คลองน้ำท่วม ภายใน 2-3 ปี อยากจะบำบัดทุกข์ให้เยอะที่สุด หลังจากนั้นควบคู่กันไป ภายในปีที่ 2 3 4 ก็จะบำรุงสุข จุดที่เขาอยากได้เช่น สวนสาธารณะ มีแล้วแต่ห้องน้ำไม่ดี ไม่สะอาด ห้องน้ำไม่พร้อมในการใช้งาน ไฟฟ้าตามสวนสาธารณะ มีแต่ใช้การไม่ได้ เครื่องออกกำลังกายมีไม่เพียงพอหรือชำรุด เพราะขาดการบูรณะซ่อมแซมเป็นระยะเวลานาน และบางจุดที่ประชาชนอยู่เยอะ ไม่มีสวนหรือศูนย์กีฬาให้เขาใช้เลย

เราต้องบำบัดทุกข์ก่อนเพราะทุกข์ของประชาชนมีเยอะ

ศศวัชร์ คมนียวนิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image