เปิด 8 คดี ทักษิณ ชินวัตร ถูกฟ้องศาลฎีกาฯคดีนักการเมือง

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการตรวจสอบ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกฟ้อง ในศาลฎีกาฯคดีนักการเมือง มีทั้ง 8 คดี ในจำนวนนี้มีคดีที่คณะตรวจสอบการกระทำความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ไต่สวนส่งอัยการสูงสุดยื่นฟ้อง 2 คดี

คดีแรก อม.1/2550 อสส.ยื่นฟ้องนายทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เป็นจำเลยคดีทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก 4 แปลง มูลค่า 772 ล้านบาท ปี 2551 องค์คณะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เห็นว่า นายทักษิณ ทำผิด พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ ม. 100 (1)วรรคสาม ลงโทษจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา แต่ให้ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน

คดีนี้ไม่มีการยื่นอุทธรณ์คดีต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ผลคดีตอนนี้ นายทักษิณไม่ต้องรับโทษแล้ว เพราะหลบหนีคดีเกิน 10 ปี เลยระยะเวลาที่จะลงโทษได้ ตาม ป.อาญา ม.98

คดีที่ 2 อม.14/2551 อสส. ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ฐานร่ำรวยผิดปกติ ขอให้ริบทรัพย์สิน 76,000,000,000 บาท พร้อมดอกผลที่ได้มาจากการขายหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ให้กับกลุ่มเทมาเส็กสิงคโปร์ โดยมีบริษัทซีดาร์โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสแพนโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าวเป็นผู้ซื้อหุ้นแทน

Advertisement

องค์คณะฯพิจารณาแล้ว มีมติ 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า นายทักษิณ ใช้อำนาจขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ ออกนโยบาย 5 มาตรการ เอื้อประโยชน์ บมจ.ชินคอร์ป ฯ ที่ครอบครัวถือหุ้นทำให้มีทรัพย์สินร่ำรวยผิดปกติ ทำให้รัฐเสียหาย
 
และมีมติ 7 ต่อ 2 พิพากษาให้ทรัพย์สินในชื่อ นายทักษิณ คุณหญิงพจมาน นายพานทองแท้ นางพิณทองทาน.ส.ยิ่งลักษณ์ น้องสาว นายบรรณพจน์ พี่ชายบุญธรรม ที่ได้จากการขายหุ้น และเงินปันผลหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ปฯ จำนวน 46,000,000,000 บาทเศษ พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดิน (เสียงข้างน้อยให้ยึดหมด 7.6 หมื่นล้านบาท)

ฝ่ายจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แต่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาไม่รับคำอุทธรณ์ เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานใหม่ที่ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 และระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์อุทธรณ์ ทำให้คดีถึงที่สุดแล้ว

ต่อมา คตส. สิ้นสุดวาระลง ป.ป.ช.เข้ามารับผิดชอบคดีแทน ขณะที่ นายทักษิณ หลังถูกรัฐประหารเมื่อปี 2549 ได้หลบหนีไปต่างประเทศก่อนตัดสินระหว่างปี 2551 – 2555 อสส. และ ป.ป.ช. ก็ได้ยื่นฟ้อง นายทักษิณ โดยไม่มีตัวจำเลย อีก 4 สำนวน 

Advertisement

คดีที่ 3 อม.1/2551 “ป.ป.ช.” ยื่นฟ้องนายทักษิณ , คณะรัฐมนตรี และผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวม 47 คน เป็นจำเลยในคดีทุจริตออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) งวดวันที่ 1 ส.ค.46 – 26 พ.ย.49 ขัดต่อกฎหมายเพราะเป็นมติที่ฝ่าฝืนต่อพระราชกฤษฎีกา
   
คดีที่ 4 อม.3/2551 “ป.ป.ช.” ยื่นฟ้องกรณีอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของเอ็กซิมแบงก์ ให้กับรัฐบาลพม่า วงเงิน 4,000 ล้านบาทในโครงการปรับปรุงระบบโทรคมนาคมของประเทศพม่า เพื่อเอื้อประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียมที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์จาก บ.ชินแซทเทิลไลท์ และบริษัทในเครือตระกูลชินวัตร
   
คดีที่ 5 อม.9/2551 อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องกรณีทุจริตออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิตเอื้อประโยชน์ธุรกิจ บมจ.ชินคอร์ปฯ ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท

คดีที่ 6 อม.3/2553 ยื่นขอให้ศาลวินิจฉัย นายทักษิณ จงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จฯ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ม.263 และพ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ ม.119 แต่ระหว่างฟ้องนั้นนายทักษิณหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ เมื่อวันที่ 29 ก.ค.53 ศาลจึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเป็นการชั่วคราว พร้อมออกหมายจับตามตัวมาดำเนินคดีชั้นศาลต่อไป

คดีที่ 7 อม.3/2555 อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องนายทักษิณ , นายวิโรจน์ นวลแข อดีต กก.ผจก.ธ.กรุงไทยฯ และบริษัทในเครือของกฤษดามหานคร กับพวกรวม 27 ราย จนเมื่อปี 2560 วิ อม. ออกมาใหม่ ในมาตรา 28 บทบัญญัติให้อำนาจศาลฎีกาฯ พิจารณาคดีที่ฟ้องและออกหมายจับจำเลยแล้วได้ใหม่โดยไม่มีตัวจำเลย อัยการสูงสุด และ ป.ป.ช. ฝ่ายโจทก์ จึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลนำคดีทั้ง 4 สำนวนมาพิจารณาใหม่ โดยปี 2561 เป็นต้นมา ศาลฎีกาฯ ก็ทยอยไต่สวนและมีคำพิพากษาทั้ง 4 คดีออกมา

เริ่มต้นที่คดีปล่อยกู้ เอ็กซิมแบงก์ (EXIM BANK) วันที่ 23 เม.ย.62 องค์คณะฯ มีมติเสียงข้างมาก จำคุกเป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ต่อด้วย คดีหวยบนดินวันที่ 6 มิ.ย.62 พิพากษาจำคุก นายทักษิณ 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา ด้วยมติเสียงข้างมากเช่นเดียว ซึ่งทั้ง 2 คดีศาลให้ออกหมายจับจำเลยมาบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ต่อไป

โดยโทษจำคุกของนายทักษิณในคดีหวยบนดินและเอ็กซิมแบงก์นี้ ก็ยังเป็นเรื่องที่ยังสงสัยกันว่าคดีที่ฟ้องในระหว่างปี 2551-2555 แล้วมามีผลตัดสินถึงที่สุดในศาลฎีกาฯ ปี 2562 นี้ โดยไมมีการอุทธรณ์ตามกฎหมายใหม่ เช่นนี้จะมีการนับช่วงเวลาลงโทษตามคำพิพากษาในเวลา 10 ปีเหมือนเช่นคดีซื้อ-ขายที่ดินรัชดาฯหรือไม่

หรือจะเป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 74/1 ที่ออกมาในปี 2558 และ วิ อม.ใหม่ มาตรา 25 วรรคสอง ที่ออกมาปี 2560 ที่ไม่ให้นำเรื่องการนับระยะเวลาการลงโทษในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 มาใช้ ซึ่งหากเป็นตามกฎหมายใหม่ถ้าผู้ต้องคำพิพากษานั้นหนีคดี จะต้องหลบหนีไปตลอดชีวิต

ส่วนคดีที่ 8 ป.ป.ช. ยื่นฟ้องใหม่ อม.40/2561 เมื่อปี 2561 กล่าวหานายทักษิณ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปี 2546 ได้เสนอให้กระทรวงการคลัง สมัยที่ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมว.คลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทยจำกัด (มหาชน) หรือ TPI มิชอบนั้น องค์คณะฯ ก็มีคำพิพากษาวันที่ 29 ส.ค.61 ด้วยมติเสียงข้างมาก ให้ยกฟ้อง เพราะการที่กระทรวงการคลังเข้ามาบริหารแผนเกิดจากความตกลงยินยอมของเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ประกอบดุลยพินิจของศาลล้มละลายกลางเฉพาะคดีเพื่อปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่การเข้าไปล่วงสิทธิของเอกชน และไม่ใช่การเข้าไปแทรกแซงครอบงำกิจการของเอกชน และก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เข้าไปบริหารกิจการของทีพีไอที่เข้าสู่แผนการฟื้นฟู หรือแสดงให้เห็นว่าจำเลยให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารแผนเพื่อรับเอาประโยชน์มาเป็นของตนเองและผู้อื่น จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษ แต่ ป.ป.ช.ก็ยังใช้สิทธิอุทธรณ์คดีต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เป็นคดีอม.อธ.4/2561 ที่ยังต้องรอผลอุทธรณ์ว่าจะยืน หรือจะยก

องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายืนยกฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกฯ พ้นผิดอาญา ม.157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีให้กระทรวงการคลังเข้าแทรกแซงฟื้นฟูกิจการ “ทีพีไอ” เนื่องจากไม่พบจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารแผน บริหารกิจการ หรือรับโอนถือครองหุ้นของทีพีไอ ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนและพวกพ้อง การอุทธรณ์ของ ป.ป.ช.โจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกประตู และผลตัดสินคดีถือเป็นที่สิ้นสุดยุติตามขั้นตอนของกฎหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image