ครั้งแรก! The Young Energy Designer พพ.เปิดประตูดีไซเนอร์ นวัตกรรมพลังงาน

ครั้งแรก! The Young Energy Designer พพ.เปิดประตูดีไซเนอร์ นวัตกรรมพลังงาน
ทีมที่ผ่านเข้ารอบ 20 ทีม การประกวด The Young Energy Designer 2023 ถ่ายภาพร่วมกับ ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) พร้อมผู้บริหาร พพ.

ครั้งแรก! The Young Energy Designer
พพ.เปิดประตูดีไซเนอร์ นวัตกรรมพลังงาน

ปัจจุบันนวัตกรรมด้านพลังงานมีการพัฒนาในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการพัฒนาระบบและนวัตกรรมเพื่อช่วยในการบริหารจัดการพลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่นวัตกรรมส่วนใหญ่เกิดจากการพัฒนาในต่างประเทศ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เล็งเห็นความสำคัญของการยกระดับขีดความสามารถเยาวชนในประเทศ โดยเริ่มจากเยาวชนที่อยู่ระหว่างการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรี สร้างศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางด้านพลังงานเพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ในชุมชน ผ่าน “โครงการพัฒนานักออกแบบนวัตกรรมด้านพลังงาน รุ่นเยาว์” (The Young Energy Designer)

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ถ่ายภาพร่วมกับผู้บริหาร พพ. และผู้เข้าประกวด The Young Energy Designer 2023

โดยคัดสรรผู้เข้ารับการอบรม 20 ทีม จากการประกวด The Young Energy Designer 2023 ระดับละ 10 ทีม รับทุนสนับสนุนสำหรับจัดทำนวัตกรรมต้นแบบ ทีมละ 50,000 บาท เพื่อพัฒนานวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของชุมชน และได้เข้าร่วมการฝึกอบรมเพิ่มพูนและพัฒนาทักษะในการพัฒนานวัตกรรมด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน กระบวนการคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหา และกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เป็นระยะเวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 24-25 กรกฎาคม 2566 ณ องค์การพิพิธภัณฑ์ วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ พพ.จัดประกวด The Young Energy Designer เพื่อพัฒนานักออกแบบนวัตกรรมด้านพลังงาน นอกจากแต่ละทีมจะได้รับทุนสนับสนุน 50,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนานวัตกรรมต้นแบบแล้ว ทั้ง 180 คน จะได้รับประสบการณ์ในการอบรม บ่มเพาะกระบวนความคิด ทัศนคติ เพื่อให้กล้าคิดอย่างสร้างสรรค์ กล้าทำอย่างมีเหตุและผล รวมถึงกระบวนการแก้ไขปัญหา รู้จักการทำงานเป็นทีม และนำมาพัฒนาต่อยอดสร้างคุณค่าเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ทันกับสถานการณ์ของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและการเติบโตให้กับชุมชนได้

Advertisement

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคนจะสามารถนำความรู้ เทคนิคไปประยุกต์ใช้กับการทำงานเพื่อการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์การทำงานใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์ผลงานเชิงประจักษ์เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และสร้างความภูมิใจในชุมชน พร้อมทั้งขยายผลและต่อยอดองค์ความรู้สู่การพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานของประเทศ

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ถ่ายภาพร่วมกับผู้บริหาร พพ. และผู้เข้าประกวด The Young Energy Designer 2023 และ น.ส.อภิรดี ธรรมมโนมัย ผู้อำนวยการกองถ่ายทอดและเผยแพร่เทคโนโลยี พพ.

ทางด้าน นางสาวอภิรดี ธรรมมโนมัย ผู้อำนวยการกองถ่ายทอดและเผยแพร่เทคโนโลยี พพ. กล่าวถึงผลงานที่ส่งเข้าประกวดว่า หลายทีมออกแบบผลงานได้ดีมาก มีการใส่ความต้องการของประชาชน เห็นถึงกลุ่มเป้าหมายของผู้ใช้ชัดเจน ตอบโจทย์สังคม เพราะพลังงานเป็นสิ่งสำคัญและมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนและช่วยให้มีชีวิตที่ดีขึ้น

ผอ.อภิรดีบอกว่า คำว่า “ดีไซเนอร์” หมายรวมในภาพกว้าง คือนอกจากน้องๆ ต้องคิดนวัตกรรมได้แล้ว จะต้องนำเสนอเป็น (Pitching) คือคิดด้านการตลาดและนำเสนอผลงานได้ด้วยโครงการ The Young Energy Designer มุ่งเน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านพลังงานเข้าด้วยกัน โดยมีแนวคิดหลักๆ คือ ส่งเสริมใช้พลังงานทดแทน รูปแบบใดก็ได้ หรือการสร้างให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใส่ฉนวนเพื่อลดความสูญเสียของพลังงานความร้อน เป็นต้น

Advertisement

“เรื่องเทคนิคน้องๆ เก่งกันอยู่แล้ว แต่อยากส่งเสริมน้องๆ ให้มีเทคนิคในด้านการขายไอเดียของตัวเองให้มากขึ้น เราจึงเชิญอาจารย์มาสอนเทคนิคการ Pitching อยากให้น้องๆ คิดว่าไม่ใช่แค่เป็นไปได้ แต่ต้องขายได้ด้วย”

ฉะนั้น ในสองวันของการอบรมจะเป็นการจุดประกายให้ไปคิดต่อ ใส่ความคิดสร้างสรรค์จากสิ่งที่มี และการ Pitching พูดอย่างไรจึงกระตุ้นการซื้อภายในเวลาจำกัด หลังจากการอบรมจะให้ไปคิดต่อ 2 เดือน แล้วเราจะเชิญน้องๆ กลับมา Pitch อีกรอบ โดยจะมีกรรมการ commentators อาจจะเป็นบริษัทเอกชนใหญ่ๆ ด้านพลังงานมาสังเกตการณ์ด้วย ซึ่งเป็นโอกาสในการต่อยอดของเด็กๆ

ทั้งนี้ การประกวด The Young Energy Designer 2023 มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 49 ทีม ซึ่งคณะกรรมการตัดสินการประกวดได้คัดเลือกผู้ผ่านเข้ารอบจำนวน 20 ทีม

พิชญาภา บุญสุข ตัวแทน ทีม “The Spark Energy” จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
พิชญาภา บุญสุข ตัวแทน ทีม “The Spark Energy” จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กับ ผลงาน “Green Super cap คาร์บอนประสิทธิภาพสูงสำหรับอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน” ผลิตจากขี้เลื่อยไม้ยางพารา

พิชญาภา บุญสุข ตัวแทน ทีม “The Spark Energy” จาก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ ปี 4 เล่าถึงผลงาน “Green Super cap คาร์บอนประสิทธิภาพสูงสำหรับอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน” ผลิตจากขี้เลื่อยไม้ยางพาราว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีพลังงานสะอาดกำลังมาแรง ในต่างประเทศมีการพัฒนา “ถ่านคาร์บอน” เป็นส่วนหนึ่งในซุปเปอร์คาปาซิเตอร์ (Super Capacitor) หรือตัวเก็บประจุความจุสูง จึงคิดวิธีใช้ “ขี้เลื่อยจากไม้ยางพารา” มาผ่านกระบวนการเป็นถ่านคาร์บอนที่กักเก็บประจุได้มากขึ้น นอกจากเป็นทางเลือกของเกษตรกรในการเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้ง ยังมองว่าถ้าทำได้จะเพิ่มมูลค่าให้กับคนในประเทศ เพราะซุปเปอร์คาปาซิเตอร์จะมาแทนที่แบตเตอรี่ในอนาคต

พิชญาภาบอกว่า โครงการ The Young Energy Designer เหมือนเป็นการจุดประกายให้เอาไอเดียมาทำประโยชน์ให้กับสังคมกับชุมชน ประเทศไทย ปัจจุบันเรื่องพลังงานมีคนทำได้ แต่ไม่มีเงินทุน และขาดคนสนับสนุน โครงการนี้ดีมาก เหมือนเป็นการนำร่องหาคนที่มีแววที่จะเป็นอนาคตของประเทศในการจะพัฒนาประเทศต่อไป

ขณะที่ ภูวฤทธิ์ เตปิน และ กษิดิศ จันทร์นิ้ว ตัวแทน ทีม “เทียมทาน” วิทยาลัยเทคนิคลำปาง นำเสนอ “เครื่องอบกระเทียมดำประหยัดพลังงานเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน” บอกว่า การแปรรูปกระเทียมสดเป็นกระเทียมดำแม้จะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรลำปางอย่างมาก จากกิโลกรัมละ 30-40 บาท เป็น 900-1,000 บาท แต่สิ้นเปลืองพลังงานมาก ต้องอบในหม้อหุงข้าวนานถึง 21 วัน และเปิดฝาเพื่อกลับกระเทียมทุก 3 วัน โดยให้ผลผลิต 5 กิโลกรัม จึงประดิษฐ์เครื่องอบกระเทียมทรงกระบอก 2 ชั้น ขนาดใหญ่ โดยใช้ระบบ Hot Oil มีน้ำมันปาล์มเป็นฉนวนป้องกันการสูญเสียความร้อน และติดตั้งฮีตเตอร์ควบคุม 4 ตัว ทำหน้าที่ตัดกระแสไฟทุก 15 นาที

ทีม “เทียมทาน” จากวิทยาลัยเทคนิคลำปาง กับผลงานเครื่องอบกระเทียมดำทรงกระบอกขนาดใหญ่ประหยัดพลังงานเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน โดยสามารถประหยัดไฟฟ้ามากถึงร้อยละ 60 และอบกระเทียมได้มากถึงครั้งละ 400-500 กิโลกรัม

นอกจากจะประหยัดไฟฟ้ามากถึงร้อยละ 60 ใช้เวลาในการอบเพียง 12-15 วัน ยังอบกระเทียมได้ครั้งละ 400-500 กิโลกรัมอีกด้วย เป็นการตอบโจทย์นวัตกรรมประหยัดพลังงานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชุมชน

สำหรับผู้ชนะการประกวด The Young Energy Designer 2023 จะได้รับเงินรางวัลพร้อมโล่เกียรติยศ ในระดับ ปวส. และระดับปริญญาตรี ระดับละ 6 รางวัล รางวัลชนะเลิศ จะได้รับเงิน 200,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 และ 2 ได้รับ 50,000 บาท และ 30,000 บาท ส่วนรางวัลชมเชย 3 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท ประกาศผลในเดือนพฤศจิกายน 2566 ติดตามได้ที่ www.theyoungenergydesigner.com เพจเฟซบุ๊ก The Young Energy Designer หรือโทร 0-2184-2728-32

สุชาฎา ประพันธ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image