หอการค้า เชื่อโหวตนายกฯยังอยู่ในกรอบส.ค.นี้  จี้เร่งตั้งรบ. ปัญหาศก.รุมเร้ารอให้แก้

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา

หอการค้า เชื่อโหวตนายกฯยังอยู่ในกรอบส.ค.นี้  จี้เร่งตั้งรบ. ปัญหาศก.รุมเร้ารอให้แก้

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงกรณีที่ประชุมรัฐสภาได้เลื่อนลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคมออกไป เพื่อรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องกรณีรัฐสภาเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี รอบที่ 2 ได้หรือไม่ ให้เสร็จก่อน ว่า หากหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสร็จ ทางรัฐสภาคงต้องมีการกำหนดวันประชุมรัฐลงมติเลือกนายกฯ ได้ชัดเจน ถือว่าไม่ได้เลื่อนออกไปนานมาก ยังคงมีการกำหนดวันที่ชัดเจนภายในเดือนสิงหาคมนั้น มุมมองของภาคเอกชนยังถือว่ารับได้ ขณะเดียวกัน ในการโหวตนายกฯ ไม่ได้มีการยืดเยื้อมาก ไม่ได้เปิดโหวตแล้วโหวตอีก ดังนั้น หากการโหวตนายกฯในครั้งนี้มีกำหนดกติกาให้เสนอโหวตได้ครั้งเดียวต่อแคนดิเดตหนึ่งคนแบบนี้ พรรคการเมืองที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ต้องล็อกตัวเอง ต้องมั่นใจถึงจะเสนอชื่อคนคนหนึ่งให้คนในสภาได้โหวตกัน เพราะไม่เช่นกันจะเสียคนที่เป็นแคนดิเดตของพรรคไปเรื่อยๆ

“เกมการเมืองขณะนี้ มีตัวล็อกอยู่ในตัว กดดันให้พรรคการเมืองที่จะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล หรือชิงตำแหน่งนายกฯ จะต้องทำให้สำเร็จในการโหวตแต่ละครั้ง ไม่ใช่จะยื้อเวลาไปเรื่อยๆได้ ดังนั้น พรรคการเมืองคงเดินเกมที่รัดกุม แม่นยำ ไม่ใช่จะมาลองผิดลองถูกกันได้” นายวิศิษฐ์กล่าว

นายวิศิษฐ์ กล่าวถึงกรณีไม่มีพรรคก้าวไกลในสมการตั้งรัฐบาล หรือปมการพิจารณาเรื่อง นายพิธา ของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้กังวลเรื่องการชุมนุมลงถนน ว่า เชื่อว่าการชุมนุมลงถนนนั้น ไม่ว่าพรรคไหนจะขึ้นมาตั้งรัฐบาลคงมีการชุมนุมอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นการลงถนนที่แสดงออกเรื่องความเห็นที่แตกต่างกันออกไป ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ในระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่ว่าขอให้เป็นการชุมนุมที่ไม่เกิดความรุนแรง ซึ่งในหลายประเทศประชาธิปไตยมีเรื่องของการชุมนุมลงถนน ประท้วงเกิดขึ้นตลอดอยู่แล้ว หากยังคงเป็นการชุมนุมประท้วงในกรอบกฎหมาย ไปรวมตัวกัน จะขออนุญาตเจ้าหน้าที่ก่อน และไม่มีเรื่องของมือที่สามมาทำให้เกิดความรุนแรง จึงคิดว่าไม่น่ามีอะไรที่ต้องกังวล โดยการชุมนุมไทยในปัจจุบันยังคงเรียบร้อยอยู่ ซึ่งนักลงทุนในต่างประเทศยังคงมองว่เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตย

Advertisement

นายวิศิษฐ์ กล่าวถึงกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศเลื่อนเดินทางกลับประเทศไทยว่า น่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เชื่อว่าเมื่อการเมืองไทยยังไม่มีความชัดเจน คนที่จะกลับมาต้องมีความกังวล อยากให้ทุกอย่างชัดเจนจึงจะเดินทางกลับได้ ซึ่งขณะนี้เอง การเมืองไทยเป็นเรื่องของการแต่ละพรรค แต่ละฝ่ายต้องรีบตกลงกันให้ได้ ส่วนในภาคเอกชนคาดหวังอย่างเดียว คือ ให้การจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว เพื่อการเดินหน้าของประเทศ

นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่รอให้รัฐบาลรีบเข้ามาแก้ไข และรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารคงไม่ได้ทำงานอย่างมีความสุข เพราะมีปัญหาที่รอแก้อยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ โดยภาพหลักคือ ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และประเทศใหญ่ ที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลถึงไทยในเรื่องของการค้าขาย ส่งออก เนื่องจากรายได้ประเทศ (จีดีพี)ไทยมีการส่งออกที่ 60% ของทั้งหมด จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบ ส่วนภาคเศรษฐกิจอื่นที่จะมาช่วยเติมเต็มได้นั้น ยังไม่ค่อยแม่นยำว่าจะช่วยได้เต็มที่ อาทิ ภาคการท่องเที่ยว จากความคาดหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 นี้ 30 คงต้องพยายามทำให้ได้ ไม่เช่นนนั้นจะกลายเป็นเสียไปทั้งสองขาเครื่องยนต์ที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจประเทศได้ และยังส่งผลต่อเรื่องของความเป็นอยู่ประชาชนด้วย

“ส่งออก 60% ของจีดีพี ท่องเที่ยวอีกกว่า 10% ของจีดีพี ถือว่าเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก หลีกไม่พ้นแน่นอน บางคนจะบอกว่า ฉันไม่ได้เกี่ยวข้องภาคเศรษฐกิจนี้เลย แต่เชื่อว่า แม้แต่แม่ค้าข้าวแกงข้างถนนก็เกี่ยวข้อง เพราะทุกอย่างนั้นเชื่อมต่อกันถึงหมด”นายวิศิษฐ์ กล่าวและว่า ส่วนเรื่องการลงทุนนั้น เอกชนในประเทศก็เห็นสัญญาณการชะลอตัวของการลงทุน เนื่องจากความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะขณะนี้ต้นทุนทางเศรษฐกิจแพงมากขึ้น จากภาวะเงินเฟ้อสูง และหลายประเทศใหญ่ใช้นโยบายเพิ่มดอกเบี้ยแรงๆ ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยกระทบทั้งเรื่องการลงใหม่ การลงทุนเดิม หรือแม้แต่เรื่องหนี้สินที่ค้างชำระ ทำให้มีหนี้เพิ่มขึ้น ดังนั้นถือว่ายังไม่ได้หลุดพ้นจากช่วงการฟื้นตัวหลังโควิด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image