21 ปี‘กลุ่มสามารถ’บนน่านฟ้ากัมพูชา สู่ SAV หุ้นวิทยุการบิน ‘หนึ่งเดียว’ในตลาดหลักทรัพย์

21 ปี‘กลุ่มสามารถ’บนน่านฟ้ากัมพูชา
สู่ SAV หุ้นวิทยุการบิน
‘หนึ่งเดียว’ในตลาดหลักทรัพย์

ดัน SAV หุ้นวิทยุการบินหนึ่งเดียว เตรียมพร้อมเข้าตลาดหุ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับ ‘กลุ่มสามารถ’ ซึ่งเปิดตัวธุรกิจวิทยุการบินในกัมพูชา ให้บริการมากว่า 21 ปี พร้อมสัมปทานรายเดียวต่อเนื่อง 49 ปี ดูแลการจราจรทั้งน่านฟ้ากัมพูชา ลงทุนเทคโนโลยีระดับโลกกว่า 300 ล้านบาท รองรับสนามบินนานาชาติใหม่ 3 สนามบิน

นาทีนี้ธุรกิจการบินอาเซียนเติบโตแรง ท่องเที่ยว และการลงทุนบูมสุดๆ

รอลุ้นปีหน้าฟ้าใหม่ 2024 มีแนวโน้มโตขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกัมพูชา เมืองแห่งอารยธรรมโบราณ อันเป็นที่ตั้งของ นครวัด มรดกโลก พร้อมรอต้อนรับการท่องเที่ยวที่กลับมาปังอีกครั้งหลังยุคโควิดที่ผ่านพ้น

Advertisement
(จากซ้าย) ธีรภัทร กุลกิจกําจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคมโบเดีย แอร์ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) และ ธีระชัย พงศ์พนางาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV

ปลดปล่อยศักยภาพ SAV หุ้นวิทยุการบิน
‘หุ้นแรกในตลาดหลักทรัพย์’

วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายพัฒนากลยุทธ์องค์กร และพัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART เผยว่า กลุ่มสามารถได้ทำการลงทุนกับธุรกิจการบินในประเทศกัมพูชามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 ผ่าน บมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) เป็นรายเพียงรายเดียวที่ได้รับสัมปทานด้านการให้บริการวิทยุการบินแบบครบวงจรในประเทศกัมพูชา ในการลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้ธุรกิจของ SAV มีเสถียรภาพสูงและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

“หาก SAV เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์จะเป็นการปลดปล่อยศักยภาพของกลุ่มสามารถ เนื่องจาก SAV เป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมการบินที่เติบโตสูงและต่อเนื่อง อีกทั้งมีผลการดำเนินงานที่ดี เป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตได้อีก โดย SAV จะเป็นหุ้นวิทยุการบินหุ้นแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเป็นหุ้นหนึ่งเดียวที่ได้ประโยชน์จากท่องเที่ยว และการลงทุนในอาเซียน” วัฒน์ชัยกล่าว

บมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในไตรมาส 3 นี้ พร้อมเตรียมเสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวนไม่เกิน 224,000,000 หุ้น หรือไม่เกินร้อยละ 35.00 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัท โดยมูลค่าที่ตราไว้เท่ากับ 0.50 บาทต่อหุ้น เพื่อระดมทุนรองรับการขยายธุรกิจ และชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน รวมถึงรองรับโอกาสในการเติบโตของธุรกิจในอนาคต ชูจุดแข็งศักยภาพธุรกิจแกร่ง ไร้คู่แข่ง ยืนหนึ่งด้านการเป็นผู้ให้บริการวิทยุการบินแห่งเดียวในกัมพูชา พร้อมเติบโตรับอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวที่จะกลับมาเติบโตสูง และมีนโยบายจ่ายเงินปันผลสูงถึง 50% ของกำไรสุทธิ

21 ปี ‘สามารถ’ ครองน่านฟ้า
‘ธุรกิจการบิน’ กัมพูชาฉลุย

ด้าน ธีระชัย พงศ์พนางาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถเอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV เล่าว่า SAV เป็นบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งมีธุรกิจแกนหลักคือให้บริการด้านวิทยุการบิน ผ่านบริษัท แคมโบเดีย แอร์ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) ในการบริหารจัดการควบคุมการจราจรทางอากาศ ครอบคลุมเส้นทางบินทั้งหมดทั่วน่านฟ้ากัมพูชา ด้วยระยะเวลาสัมปทานที่ยาวนานถึง 49 ปี

โดยหากจะพูดถึงที่มาของธุรกิจวิทยุการบินนั้นคงต้องย้อนกลับไปราวปี ค.ศ.1990 ซึ่งขณะนั้นกลุ่มสามารถได้มาลงทุนในประเทศกัมพูชา โดยเริ่มต้นจากธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ซึ่งดำเนินมาเรื่อยๆ จนเริ่มมีคอนเน็กชั่นกับทางภาครัฐ จนกระทั่งในปี ค.ศ.2000 ทางกัมพูชามีนโยบายที่อยากจะเปิดน่านฟ้าเสรี ซึ่งเราเห็นเป็นโอกาสจึงได้เข้ามาเจรจากับทางภาครัฐถึงเรื่องการลงทุนพัฒนาระบบ อุปกรณ์ รวมไปถึงการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการจราจรทางอากาศ ซึ่งเราก็ทำสำเร็จได้มาในรูปแบบของการสัมปทานตั้งแต่นั้น

“อุตสาหกรรมการบินในกัมพูชากำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง การลงทุนสร้างสนามบินนานาชาติใหม่ถึง 3 แห่ง แสดงให้เห็นถึงการเตรียมความพร้อมในการรองรับนักเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าในปี พ.ศ.2567 จำนวนนักเดินทางที่เดินทางเข้าออกกัมพูชาจะเพิ่มมากกว่าช่วงก่อน
โควิด เนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ โดยเฉพาะจากประเทศจีน ซึ่งน่าจะกลับมาอย่างชัดเจนในต้นปีหน้า” ธีระชัยกล่าวย้ำด้วยความมั่นใจ

Cambodia เนื้อหอม โตไว
โครงสร้างพื้นฐาน (ยัง) ไม่ใหญ่ แต่ ‘ไปต่อ’ อีกยาว

ธีระชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่แห่ง ‘สามารถ’ เผยต่อไปอีกว่า หากใครไม่เคยมาที่กัมพูชาอาจจะยังคิดว่าที่นี่ยังล้าหลัง แต่ในช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กัมพูชาเป็นประเทศที่เติบโตรวดเร็วมาก สามารถดึงเงินลงทุนต่างๆ เข้ามาพัฒนาสิ่งต่างๆ รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐาน แม้จะยังไม่ใหญ่มากแต่ในเชิงของการเติบโตที่นี่ยังเติบโตไปได้อีกมาก

ถามว่าเหตุใดจึงคิดเช่นนั้น ได้คำตอบว่า เราอยู่ในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตค่อนข้างสูง อีกทั้งสิ่งที่ทำคือบริการจราจรทางอากาศ ซึ่ง ‘ไม่มีคู่แข่ง’ จึงรับเต็มๆ ไม่ต้องห่วงว่าจะต้องแชร์กับใคร

“เราเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวในน่านฟ้ากัมพูชา โดยแหล่งรายได้หรือลูกค้าของเราคือสายการบินต่างๆ ดังนั้น ตราบใดที่สายการบินยังทำธุรกิจมีกำไรได้ นั่นหมายความว่ารายได้ของเราก็ยังมีความมั่นคงอยู่” ธีระชัยกล่าว

ทั้งนี้ “SAV” ถือหุ้นใน CATS ในสัดส่วน 100% โดย CATS เป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาตั้งแต่ปี 2545-2594 ในการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ ครอบคลุมเส้นทางบินทั้งหมดของน่านฟ้าประเทศกัมพูชา โดยรายได้หลักของ CATS มาจากบริการควบคุมการจราจรทางอากาศ 3 ประเภท ได้แก่ 1.รายได้จากค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงในประเทศ (Landing & Take-off : Domestic) 2.เที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงระหว่างประเทศ (Landing & Take-off : International) และ 3.รายได้จากค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินผ่านเขตน่านฟ้ากัมพูชา (Overflight)

ปัจจุบัน “SAV” มีสนามบินในกัมพูชา 6 แห่ง ได้แก่ สนามบินนานาชาติพนมเปญ สนามบินนานาชาติเสียมเรียบ สนามบินนานาชาติสีหนุ สนามบินพระตะบอง สนามบินเกาะกง และสนามบินสตึงเตรง

ขณะที่ ธีรภัทร กุลกิจกำจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคมโบเดียแอร์ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) กล่าวว่า ในมุมมองของนักลงทุนแล้ว ที่กัมพูชาเติบโตอย่างรวดเร็วจนเปรียบเสมือน ‘สาวสวยแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ที่คอยดึงดูดให้นักลงทุนจากนานาประเทศเข้ามา บรรดาตึกสูงต่างๆ ที่เริ่มผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดในย่านเมืองหลวงอย่างพนมเปญนั้น เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นการเติบโตของกัมพูชาได้เป็นอย่างดี

“กัมพูชาให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบต่างๆ ที่จะเป็นส่วนช่วยให้นักลงทุนจากนานาประเทศเดินทางเข้ามาลงทุน อาทิ โลจิสติกส์
ที่ภาครัฐที่นี่ก็ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยจะเห็นได้จากการขนส่งทางบก ทางน้ำ หรือแม้กระทั่งทางอากาศก็ล้วนได้รับการพัฒนาให้พร้อมรองรับการเข้ามาของนักลงทุนในอนาคต ส่วนในภาคของการลงทุนรัฐบาลก็ได้มีการปรับปรุงกฎหมายการลงทุนใหม่ให้มีความทันสมัย
สามารถตรวจสอบ พัฒนา รวมไปถึงการยื่นข้อเสนอต่างๆ ให้กับเหล่านักลงทุนมากยิ่งขึ้น

สุดท้ายภาคของการท่องเที่ยวก็ไม่น้อยหน้า กัมพูชาได้มีการปรับปรุงกฎหมายหมายใหม่ รวมทั้งมีการวางแผนการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น เกิดเป็นจุดท่องเที่ยวใหม่ๆ แหล่งอันซีนต่างๆ โดยยังคงดำรงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม” ธีรภัทรกล่าว ก่อนทิ้งท้ายว่า

ประเทศไทยก็ต้องแข่งขัน เพราะทางกัมพูชาเองก็ไม่น้อยหน้า เราจะได้เห็นการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้นในการที่จะดึงนักลงทุน

นพวิชญ์ เอี่ยมสืบทัพ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image