กูรูกฎหมายแนะทางออก ‘เบี้ยคนชรา’ หลังบานปลายหนัก ชี้ระเบียบส่อขัดรธน.-พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ

บทนำ : เบี้ยผู้สูงอายุ ได้มีการประกาศระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์

เสนอทางออกเบี้ยคนชราแนะคกก.ผู้สูงอายุชะลอกำหนดคุณสมบัติผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้เบี้ย ให้ใช้คุณสมบัติเดิมไปก่อน ชี้ ระเบียบส่อขัดรธน.- พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ มาตรา 11 (11) ระบุรัฐบาลควรปรับปรุงแก้ไขระเบียบให้เหมาะสม หากยังฝืนบังคับใช้ต่อ เสี่ยงถูกประชาชนฟ้องศาลปกครองเพิกถอนระเบียบ

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม แหล่งข่าวนักวิชาการด้านกฎหมาย ได้ให้ความเห็นทางวิชาการเสนอทางออกกรณีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ความว่า ตามที่มีข้อถกเถียงและข้อคัดค้านอย่างกว้างขวางเรื่องความเหมาะสมของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ที่มีการกำหนดไว้ในข้อ 6 (4) ว่าผู้มีสิทธิจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนด

ทางออกของเรื่องนี้ ในขณะที่มีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับระเบียบ ฯ ข้อ 6 (4) จำนวนมาก ทางออกที่เหมาะสมของเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้ปัญหาความขัดแย้งและการโต้แย้งคัดค้านลุกลามบานปลายและได้รับการพิจารณาแก้ไขอย่างเหมาะสม คือ

1. คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติยังไม่ควรเร่งรีบกำหนดคุณสมบัติของผู้สูงอายุซึ่งมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามข้อ 6 (4) เพื่อให้บรรดาผู้สูงอายุยังคงมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพโดยอาศัยคุณสมบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับเดิมไปก่อน ทั้งนี้เป็นไปตามบทเฉพาะกาลข้อ 18

Advertisement

2. ภาครัฐควรพิจารณาความเหมาะสมของระเบียบ ฯ ข้อ 6 (4) หากเห็นว่าการบังคับใช้ระเบียบนี้ต่อไปไม่เหมาะสมเป็นธรรม ย่อมสามารถพิจารณาปรับปรุงแก้ไขได้

แต่หากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติไม่ชะลอการออกหลักเกณฑ์ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้สูงอายุซึ่งมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามข้อ 6 (4) และภาครัฐยังคงยืนยันที่จะบังคับใช้ระเบียบนี้ต่อไปโดยไม่มีการแก้ไขข้อ 6 (4) ให้เหมาะสมเป็นธรรม ภาครัฐย่อมเสี่ยงที่จะถูกประชาชนผู้มีอายุใกล้ครบ 60 ปี ซึ่งถูกกระทบสิทธิตามระเบียบ ฯ ข้อ 6 (4) ฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนระเบียบ ฯ ข้อ 6 (4) ได้

โดยอ้างว่า ระเบียบ ฯ ข้อ 6 (4) ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง และปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน และมาตรา 27 ที่บัญญัติห้ามการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เพราะการที่ผู้สูงอายุซึ่งได้รับเบี้ยยังชีพก่อนวันที่ระเบียบใหม่นี้ใช้บังคับยังคงได้รับเบี้ยยังชีพต่อไป แต่ผู้สูงอายุรายใหม่จะได้รับหรือไม่ต้องเป็นไปตามระเบียบใหม่ โดยต้องมาพิจารณาเสียก่อนว่า เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนดหรือไม่ จึงน่าจะเป็นความไม่เสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

Advertisement

นอกจากนี้ ระเบียบ ฯ ข้อ 6 (4) ยังอาจจะขัดกับพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 11 (11) ที่บัญญัติให้จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมด้วย

เนื่องจากระเบียบกระทรวงมหาดไทยถือเป็นกฎตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 3 ดังนั้น ประชาชนผู้มีอายุใกล้จะครบ 60 ปี ซึ่งเป็นผู้ถูกกระทบสิทธิจากการบังคับใช้ระเบียบฯ มีสิทธิยื่นฟ้องศาลปกครองตามมาตรา 9 (1) ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนระเบียบ ฯ ข้อ 6 (4) โดยอ้างว่ากระทรวงมหาดไทยออกกฎซึ่งเป็นระเบียบ ฯ ข้อ 6 (4) ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวข้างต้น และเป็นการออกกฎซึ่งเป็นระเบียบ อันมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image