ครูกายแก้ว : ภาพสะท้อนวิธีคิดแบบจิตวิทยา

ครูกายแก้ว : ภาพสะท้อนวิธีคิดแบบจิตวิทยา

จิตวิทยาเป็นวิชาที่นักเรียน นักศึกษาและบุคคลทั่วไปควรเรียนรู้อย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ ทั้งพฤติกรรมที่สามารถสังเกตได้โดยตรง (Molar Behavior) และพฤติกรรมที่ไม่สามารถสังเกตได้โดยตรง (Molecular Behavior) ซึ่งมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินชีวิตในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว จำนวนประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น และพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมซับซ้อนกว่าวิถีชีวิตในอดีต การได้ศึกษาวิชาจิตวิทยาทำให้ผู้เรียนเข้าใจ อธิบาย ทำนาย และควบคุมพฤติกรรมของตนเองและผู้อื่นได้ จะได้มากหรือน้อยก็ตามแต่ผู้เรียนแต่ละคน การเข้าใจ อธิบาย ทำนาย และควบคุมพฤติกรรมของทั้งตัวเองและผู้อื่นได้นั้น ทำให้บุคคลเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมหรือสังคมได้ การเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และปรับตัวได้ จะเป็นผลให้บุคคลศรัทธาต่อการมีชีวิตอยู่ และดำรงตนในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยสรุปจิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่สร้างวิธีคิดแบบ “จิตวิทยาศาสตร์” (Scientific Mind)

กรณีครูกายแก้วที่กำลังเป็นประเด็นตอนนี้ ซึ่งเชื่อกันว่าครูกายแก้ว เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ขึ้นชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ช่วยดลบันดาลให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ช่วยให้เจริญรุ่งเรือง ผู้ใดที่อยากขอพรเรื่องงาน ค้าขาย ขอยอดขายเพิ่ม ต้องมาขอพรกับครูกายแก้ว

ผู้เขียนคิดถึงหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ แห่งวัดชลประทานรังสฤษดิ์ นนทบุรี สหายธรรมของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุผู้ล่วงลับแล้วทั้งสองรูป ผู้เขียนเคยฟังคลิปเสียงปาฐกถาธรรมะของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ นานแล้ว ท่านกล่าวว่า คู่บ่าวสาวที่จะแต่งงานมักจะให้ท่านพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้ ทั้งมาที่วัด และนิมนต์ท่านไปที่บ้าน ที่โรงแรมซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน ท่านเล่าว่าท่านไม่ขัดศรัทธา พรมน้ำพระพุทธมนต์ให้ทุกคู่ แต่เมื่อพรมแล้วท่านจะบอกว่า “น้ำมนต์ที่ศักดิ์สิทธิ์จริงไม่มี น้ำที่ศักดิ์สิทธิ์จริง คือ น้ำคำ หมายถึงคำสั่งสอนของพ่อแม่ที่ต้องเชื่อฟัง และน้ำเหงื่อ หมายถึงหยาดเหงื่ออันเกิดจากการขยันขันแข็งช่วยกันทำมาหากิน

Advertisement

กรณีครูกายแก้วไม่ต่างอะไรกับกรณีตุ๊กตาลูกเทพเมื่อหลายปีมาแล้วที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ มีพลังวิเศษที่จะทำให้ได้โชคลาภ ร่ำรวย ทำมาค้าขายขึ้นดังใจปรารถนา และมีอีกหลายๆ กรณี ไม่อยากยกตัวอย่างมาก สังคมไทยพอระลึกได้กันอยู่ เรื่องครูกายแก้วนี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นความอ่อนด้อยทางจิตวิทยาเนื่องจากขาดเป็นจิตวิทยาศาสตร์

จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่มีแนวร่วมระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ จึงมีขอบข่ายกว้างขวาง ก้าวล้ำเข้าไปในหลายวิทยากร ครอบคลุมทุกๆ ด้านเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ ทั้งทางกาย สังคม อารมณ์ จิตใจ ความคิด และสติปัญญา ทั้งส่วนที่เป็นปัจเจกบุคคลและสังคม ที่ว่าจิตวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์นั้น เพราะข้อมูลที่นำมาทำความเข้าใจ นำมาอธิบาย นำมาทำนาย หรือนำมาควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์นั้น ได้มาโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ จิตวิทยาเชื่อว่าพฤติกรรมทุกพฤติกรรมต้องมีสาเหตุ เมื่อตั้งกฎเกณฑ์อะไรขึ้นต้องพิสูจน์ได้ว่ามาจากแหล่งที่มาใด เหตุกับผลต้องสัมพันธ์กัน ความคิดและพฤติกรรมของบุคคลย่อมมีสาเหตุ ซึ่งสอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์

จิตวิทยาใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อย่างน้อยที่สุด ได้แก่ การสังเกต (Observation) การตั้งปัญหา (Formulating the Problem) การตั้งสมมุติฐาน (Stating the Hypothesis) การรวบรวมข้อมูล (Collecting the Data) การวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis the Data) การสรุปผล (Conclusion) คนที่มีใช้จิตวิทยาในการดำเนินชีวิตจึงเป็นคนที่มีจิตวิทยาศาสตร์ กล่าวให้เข้าใจง่าย คือ มีระบบคิดเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่เชื่ออะไรอย่างไร้เหตุผล ปราศจากการไตร่ตรองที่มาที่ไปของข้อมูล รวบรวมข้อมูลมาอย่างเป็นระบบก่อนที่ตัดสินใจเชื่อ และไม่หลงเชื่อถือสิ่งทิ่ยังพิสูจน์ไม่ได้ในทันที

Advertisement

การอ่อนด้อยทางจิตวิทยาศาสตร์กรณีครูกายแก้ว และกรณีอื่นๆ ที่มีมากมายเหลือเกินในประเทศเรา จนเป็นปัญหาของการพัฒนาประเทศ เป็นตัวชี้วัดความด้อยพัฒนาของประเทศอย่างชัดเจนมาก คนไทยโดยส่วนหนึ่งมีพฤติกรรมที่ตรงกันข้ามกับวิทยาศาสตร์

ในฐานะผู้สอนวิชาจิตวิทยาแก่นักศึกษาทั้งปริญญาตรี ประกาศนียบัตรบัณฑิต และปริญญาโท ผู้เขียนเน้นแนะนำให้ลูกศิษย์ที่เป็นครูและจะไปเป็นครูทุกคนเป็นผู้นำทางความคิดในเรื่องนี้ ครูต้องเป็นผู้นำทางความคิดแบบจิตวิทยาศาสตร์ ครูต้องเป็นตัวแบบ และสอนศิษย์ในเรื่องนี้อย่างมุ่งมั่น

ผู้เขียนเชื่อว่า การคิดแบบจิตวิทยาศาสตร์ จะแก้ปัญหาประเทศเราได้แบบ “ยกเครื่อง” กันเลย เวลานี้ปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาหนักของประเทศ สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่วันๆ หวังพึ่งแต่เรื่องไสยศาสตร์ พึ่งหวังลาภลอย พึ่งสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ ไม่คิดพึ่งมือพึ่งเท้าของตนเอง ทั้งๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่เรานับถือพุทธศาสนา ซ้ำร้ายบุคคลที่มีหน้าที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณในเรื่องนี้ คือ บุคคลของสถาบันศาสนากลับมาเป็นปัญหาในเรื่องนี้เสียเองก็มากมาย

คำพูดที่ว่า “อย่าไปให้ความสนใจให้มันวุ่นวาย เดี๋ยวมันก็จะเลิกนิยม แล้วพฤติกรรมก็จะหายไปเอง” ข้อทัดทานนี้ผู้เขียนไม่เห็นด้วยเสียทีเดียว การที่พฤติกรรมทางสังคมนี้จะค่อยๆ หายไปเองนั้นผู้เขียนมั่นใจว่าเป็นเช่นนั้น แต่ที่สำคัญประเด็นสำคัญทางสังคมแบบนี้ เราจำเป็นต้องพูด จำเป็นต้องวิจารณ์ เพื่อให้ความรู้และเตือนสติแก่ผู้คนในสังคมกันบ้าง นับเป็นการรับผิดชอบสังคมร่วมกัน

อนึ่ง จิตวิทยาเป็นศิลปศาสตร์ เนื่องจากจิตวิทยามีความพิสดารมาก เป็นศาสตร์ที่ต้องประยุกต์ใช้อย่างถูกกาลเทศะ และบุคคล รวมทั้งโอกาส และสถานการณ์ต่างๆ จึงจะทำให้เกิดสัมฤทธิ์ผลได้ เราจึงไม่ควรประณามคนที่ศรัทธาเชื่อถือสิ่งเหล่านี้ อย่างเสียๆ หายๆ ในเมื่อเขาประสงค์ที่จะทำเช่นนั้น แม้เราจะมองว่าเป็น “ความงมงาย” ในทางกลับกันเราต้องทำความเข้าใจด้วยคำถามว่า ทำไมเขาจึงแสดงพฤติกรรมเช่นนั้น? การตั้งคำถามแบบนี้ เป็นคำถามของคนที่มีจิตวิทยาศาสตร์ เพื่อจะได้ค้นหาสาเหตุของพฤติกรรมมาทำความเข้าใจ มาอธิบายคำถาม นำมาทำนายอนาคตของพฤติกรรมนี้ และเพื่อที่จะควบคุมให้พฤติกรรมทำนองนี้ลดลง

การปลูกฝังการคิดแบบจิตวิทยาศาสตร์นั้นเป็นเรื่องสำคัญ ที่สำคัญที่สุดในทรรศนะของผู้เขียนซึ่งฐานะเป็นผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษา คือ ร่วมกันสร้างสังคมที่ใช้วิชชาในการดำเนินชีวิตให้เป็นตัวอย่างและเป็นมรดกแก่เยาวชน เขาจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อจากเรา หากดูพัฒนาการของเรื่องนี้จะเห็นเราข้ามไม่พ้นเรื่องนี้มานานนักแล้ว และซ้ำร้ายหนักหน่วงขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่าก็ไม่รู้ ไม่ต้องข้ามพ้นอย่างสิ้นเชิงหรอก แต่มันควร “ก้าว” ไปให้ “ไกล” กว่านี้

ที่น่ากลัวและอันตรายมาก คือ ความอ่อนด้อยทางจิตวิทยาศาสตร์ของประชาชนถูกใช้เป็นเครื่องมือ ของบุคคลที่มีแผนการบ่อนทำลายชาติ ทำลายศาสนา ทำลายประชาชนของเราให้อ่อนเปลี้ยทางปัญญา ไม่ว่าบุคคลคนนั้นจะอยู่ในวงศาสนา ธรุกิจ และการเมือง

ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง
คณะศึกษาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image