เปิดโกดังหนังสือการเมือง รำลึก นิธิ เอียวศรีวงศ์ (อ่าน) รัฐบาลที่เพิ่งตั้ง มองประวัติศาสตร์ (หน้าใหม่) ที่เพิ่งสร้าง

เปิดโกดังหนังสือการเมือง
รำลึก นิธิ เอียวศรีวงศ์
(อ่าน) รัฐบาลที่เพิ่งตั้ง มองประวัติศาสตร์ (หน้าใหม่) ที่เพิ่งสร้าง

กลับมาอีกครั้งสำหรับงาน ‘เปิดโกดังหนังสือ’ ของสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งผู้คนต่างรอปักหมุดในปฏิทิน เตรียมคว้ากระเป๋าเข้าเช็กโลเกชั่นยังมติชนอคาเดมีสถานที่ประจำอันแสนคุ้นเคย

ทว่า ในงานดังกล่าวที่จะจัดขึ้นล่าสุด มีธีมเน้นเด่นชัดแบบเฉพาะเจาะจง จับปากกาขีดเส้นใต้ คลิกเมาส์ทำไฮไลต์ไปที่ ‘หนังสือการเมือง’ ในห้วงเวลาสำคัญของการเมืองไทยร่วมสมัย

นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ปรากฏนามเด่นชัดว่า เศรษฐา ทวีสิน หลังความอลหม่านในนาทีเปลี่ยนผ่านที่ร่วมลุ้นมานานนับเดือน

Advertisement

รัฐบาลที่เพิ่งตั้ง ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่เพิ่งสร้างหลังเลือกตั้ง 2566

ไหนจะโผ ครม.ที่เปลี่ยนไปปรับมาแบบรายวัน รายชั่วโมง

Advertisement

คงไม่มีประเด็นอื่นใดที่สังคมไทยให้ความสนใจไปกว่าการเมือง

ไม่เพียงเท่านั้น วงวิชาการเพิ่งสูญเสียนักคิด นักเขียน นักปราชญ์ผู้ยืนเคียงข้างสามัญชน อย่าง ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อย่างไม่มีวันกลับ ทิ้งไว้ซึ่งผลงานด้านประวัติศาสตร์ บทวิพากษ์สังคม-การเมืองอันเฉียบคม

การเปิดโกดังครั้งนี้ จึงมีความหมายพิเศษกว่าที่เคย ภายใต้ชื่อ ‘เปิดโกดังหนังสือการเมือง’

การเมืองยิ่งร้อน ยิ่งต้อง (ย้อน) ‘อ่าน’

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่งานขายหนังสือธรรมดา หากแต่มีนัยยะเหนือกว่านั้น เพราะนอกจากหนังสือแนวการเมืองในแง่มุมต่างๆ ที่จะนำออกมาจำหน่าย ยังมีคอลเล็กชั่นหายาก ที่นักอ่านนักสะสมพยายามเสาะหามาครอบครอง ทั้งยังมากมายด้วยกิจกรรม อย่างเวทีเสวนา ล้อมวงทอล์ก จิบ (เบียร์) ไปอ่านไป จนถึงนิทรรศการผลงานของ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ ผู้ล่วงลับ แต่ไม่เลือนหายจากความทรงจำ

วรศักดิ์ ประยูรศุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท งานดี จำกัด ในเครือมติชน เผยว่า สำนักพิมพ์มติชน ตีพิมพ์หนังสือแนวการเมืองเป็นจำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นหนึ่งใน ‘แนวหลัก’ ของสำนักพิมพ์มานานหลายทศวรรษ ทั้งทฤษฎีการเมือง การปกครอง ประวัติชีวิตนักการเมืองคนสำคัญ โดยมีการวิเคราะห์ อ้างอิงถึงสถานการณ์การเมืองแต่ละยุคสมัย ส่งผลให้ผู้อ่านมีภาพจำว่า ถ้าเป็นหนังสือการเมือง มติชนคือสำนักพิมพ์ที่ได้รับความเชื่อถือมาโดยตลอด

ขณะที่ช่วงเวลานี้ ผู้คนกำลังพูดถึงเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งปัจจุบันและอดีตอย่างมากมาย นำเอาเหตุการณ์ปัจจุบันไปเทียบเคียงกับอดีต ซึ่งการค้นคว้าในเรื่องเหล่านี้ส่วนหนึ่งทำผ่านหนังสือ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะนำหนังสือการเมืองออกมาเปิดโกดังให้ได้อ่านกันในราคาพิเศษ

“การเมืองร้อนแรงมาตั้งแต่ต้นปี ประเทศไทยเพิ่งได้นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 เราได้เห็นถึงความสนใจของประชาชนทั่วไปที่มีต่อการเมืองอย่างมาก

เมื่อทุกอย่างมาบรรจบกันพอดี จึงเกิดงานเปิดโกดังหนังสือการเมืองขึ้นมา ซึ่งเป็นทั้งเรื่องความพร้อมของมติชนเอง และเรื่องของผู้อ่านที่เสาะแสวงหาหนังสือแนวนี้ด้วย

คำว่าเปิดโกดัง มีนัยยะที่พูดถึงหนังสือที่เราอาจจะเก็บเอาไว้เป็นสต๊อก หรือรอการจำหน่าย เพราะฉะนั้นจะมีหนังสือที่ตีพิมพ์ในช่วงเวลาต่างๆ ที่อาจหาไม่ได้แล้วในตลาด” เอ็มดี ‘งานดี’ เล่าถึงที่มา

เปิดไฮไลต์ ขีดเส้นใต้คอลเล็กชั่น ‘นิธิ’

ถามถึงเล่มไฮไลต์ที่มาแล้วพลาดไม่ได้ ต้องพุ่งตรงไปคว้ามาเป็นเจ้าของ ได้คำตอบว่า คอลเล็กชั่นผลงาน ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาทิ กรุงแตก, พระเจ้าตาก และประวัติศาสตร์ไทย, ผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น, กางเกงใน และ ฯลฯ ว่าด้วยประเพณี, ความเปลี่ยนแปลง และเรื่องสรรพสาระ, โขน, คาราบาว, น้ำเน่าและหนังไทย ว่าด้วยเพลง ภาษาและนานามหรสพ, โมงยามไม่ผันแปร (รวมบทความทางการเมือง), ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม รัฐ และรูปการจิตสำนึก, การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี และการเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ เป็นต้น

โดยในงานเดียวกันนี้มีกิจกรรมพิเศษเพื่อรำลึกถึง ทั้งสเปเชียล ทอล์ก เสวนา และบุ๊กคลับ รวมถึง 6 รายการ

“ในงานจะมีหนังสือของนักวิชาการมากมาย แต่ที่เน้นหนักเป็นพิเศษ คือหนังสือของอาจารย์นิธิ นักอ่านจำนวนมากมาตามค้นหาหนังสือที่เป็นผลงานของท่าน เราจึงถือโอกาสเปิดโกดัง นำหนังสือที่ไม่มีในท้องตลาดกลับมาให้คนอ่าน โดยเฉพาะนักสะสม เป็นโอกาสสำคัญที่จะมาเลือกซื้อ รวมถึงเสวนา โดยเชิญผู้ที่เคยทำงานเกี่ยวข้องกับอาจารย์นิธิมาร่วมพูดคุย เช่น ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์, คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม, ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์-ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สายชล สัตยานุรักษ์, คุณสุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ในเครือมติชน ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่อาจารย์นิธิเขียนบทความมาลง คุณสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ที่อาจารย์นิธิเขียนคอลัมน์ประจำอยู่ และคุณธนาพล อิ๋วสกุล ผู้บริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการผลงาน ซึ่งจัดโดยศูนย์ข้อมูลมติชนด้วย ท่านมีงานกับมติชนค่อนข้างเยอะ ทั้งงานเขียนและการให้ความคิดความเห็นด้านการเมืองผ่านมติชนทีวี” วรศักดิ์กล่าว

ไม่ถามไม่ได้ว่า หากให้แนะนำหนังสือแด่ ‘นายกฯคนที่ 30’ จะคัดสรรเล่มใด?

เอ็มดี ‘งานดี’ ตอบแบบไม่ลังเลว่า หนังสือรวมบทความต่างๆ ในคอลเล็กชั่นของอาจารย์นิธิ เพราะสะท้อนเหตุการณ์บ้านเมืองในแต่ละช่วง เหตุการณ์สำคัญๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แนะนำเฉพาะนายกฯ หากแต่คนทั่วไปก็ควรได้อ่านอย่างยิ่ง

“หนังสือของอาจารย์นิธิอ่านแล้วทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ แม้จะเป็นหนังสือที่พิมพ์มาระยะหนึ่งแล้ว แต่จะได้มุมมองและข้อสังเกตต่างๆ ที่กระตุกให้เราคิดอะไรต่อไปได้อีก บางทีอาจช่วยขัดเกลาความคิดเราเองด้วย ว่าสิ่งที่เราคิดมันสามารถคิดอีกแบบหนึ่งได้”

ประวัติศาสตร์-สังคม-การเมือง
‘ชาติ’ นี้ เราจะไม่พรากจากกัน

ครั้นมองไปยังนิยามความหมายของคำว่าการเมืองและมิติอันเกี่ยวเนื่อง ก็ดูจะไม่ง่ายในการจัดจำแนกประเภทหนังสือให้ขาดออกจากกัน เฉกเช่นพ็อคเก็ตบุ๊กมากมายที่แม้ถูกจัดอยู่ใน ‘หมวดประวัติศาสตร์’ แต่กลับฉายภาพเด่นชัดถึงพัฒนาการ และจุดเปลี่ยนสำคัญบนไทม์ไลน์ของการเมืองไทยในยุคสมัยต่างๆ

เอ็มดี ‘งานดี’ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน มองมุมกว้าง เล็งทางลึก โดยชี้ว่า เมื่อพูดถึงคำว่า ‘การเมือง’ คนมักนึกถึงการเมืองสมัยใหม่แต่หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ นั่นก็ล้วนเกี่ยวข้องกับการเมือง

“แม้แต่หนังสือประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นแนวทางหลักอีกอย่างหนึ่งของมติชน ก็มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองสมัยอยุธยา การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี มีเหตุการณ์ต่างๆ มากมายที่นักวิชาการรุ่นหลังไปหยิบจับ ทำวิจัย ดังนั้น คำว่าหนังสือการเมืองในที่นี้ไม่ใช่เฉพาะการเมืองหลัง 2475 เท่านั้น แต่รวมถึงยุคก่อนหน้าด้วย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการเมืองไทยที่สัมพันธ์กับต่างประเทศอีก” วรศักดิ์อธิบาย

ด้วยเหตุนี้ เปิดโกดังหนังสือการเมือง จึงมีหนังสือประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และความเป็นชาติที่ไม่อาจพรากจากการเมืองได้ สอดคล้องกับกิจกรรมเสวนาอีกหลากหลาย

“เรามีบุ๊ก ทอล์ก โดยนักวิชาการและคอลัมนิสต์มติชนสุดสัปดาห์ อย่าง อาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง และคุณสมชาย จิว หัวข้อ มูเตลู พุทธ พราหมณ์ ผี และคุณสมชาย จิว นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Craft Beer with Book โดย บอย ยัมมี่เฮาส์ ซึ่งจะคัดหนังสือการเมือง 10 เล่มมาพูดจากันบนเวทีให้สอดคล้องกับบรรยากาศการจิบเบียร์ ที่อาจนำไปสู่การได้ไอเดียอ่านหนังสืออื่นๆ อีก”

นอกจากจิบเบียร์แล้ว ยังมีโปรแกรม ‘จิบชาถกเปอร์เซีย’ ซึ่ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี ให้เกียรติร่วมพูดคุย ในฐานะผู้ร้อยเรียงหนังสือรางวัลชนะเลิศรางวัลเซเว่น บุ๊ค อวอร์ด อย่าง ‘กุหลาบเปอร์เชียในแดนสยาม’ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา

‘การเมือง’ ลายเซ็น ‘มติชน’
ต้นทุนคุณภาพ เข้มข้นทุกแพลตฟอร์ม

ปิดท้ายด้วยประเด็นที่ว่า ในความเป็น ‘มติชน’ คนแต่ละรุ่นอาจมีภาพจำในต่างแพลตฟอร์ม คนรุ่นก่อนหน้าอาจคุ้นเคยกับหนังสือพิมพ์มติชนรายวันที่ยังคงอยู่บนแผง ก้าวสู่ปีที่ 46 อย่างภาคภูมิ ด้วยสโลแกน ‘หนังสือพิมพ์คุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศ’ ขณะที่คนรุ่นใหม่คุ้นชินกับการสไลด์มือถืออ่าน ‘มติชนออนไลน์’ รับชม ‘มติชนทีวี’ และสื่อในเครือ รวมถึงสำนักพิมพ์มติชน ทว่า จุดร่วมคือความหนักแน่น เข้มข้นในด้าน ‘ข่าวการเมือง’ นับเป็นต้นทุนสำคัญยิ่ง

“คำขวัญของมติชน เราพูดถึงคุณภาพ ผมว่านี่คือสิ่งที่คนมติชนทุกคนตั้งใจว่าจะทำให้ดีที่สุด ให้ใหม่ที่สุด และลึกที่สุดได้อย่างไร จึงกลายเป็นมาตรฐานในการทำงานอยู่แล้ว และคิดว่าความพยายามในลักษณะนี้มันมีผล เชื่อว่าคนอ่านสัมผัสได้ โดยตอบรับด้วยการมาร่วมกิจกรรม มาเลือกหาหนังสือ มาพูดคุยแลกเปลี่ยน กลายเป็นความผูกพันกันระหว่างมติชนและผู้อ่านจนถึงทุกวันนี้” วรศักดิ์กล่าว ก่อนไปถึงประเด็นที่ว่า คนอ่านหนังสือการเมืองอายุน้อยลงเรื่อยๆ

“คนรุ่นใหม่สนใจประวัติศาสตร์ สนใจอะไรที่มันแหลมคม เขากลับมาค้นคว้าว่ามันเกิดอะไรขึ้นในบ้านในเมืองของเรา เบื้องหน้าเบื้องหลังมันเป็นอย่างไร มีรายละเอียดอะไรที่น่าจะต้องรับรู้ เรียนรู้ นี่เป็นโจทย์หนึ่งสำหรับมติชน ซึ่งเป็นสื่อที่มองหาสิ่งใหม่ตลอดเวลา มติชนรู้สึกมีส่วนที่จะช่วยค้นหาคำตอบว่ามันเกิดอะไรขึ้น เรามีนักเขียน นักวิชาการที่จะมาช่วยแสดงความคิดความเห็น อธิบายสถานการณ์ ซึ่งเป็นที่พึงพอใจของคนอ่าน ไม่ว่าจะคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นเก่า” วรศักดิ์อธิบาย พร้อมทิ้งท้ายว่า โดยเจตนาและความตั้งใจ ผู้บริหารมติชนย้ำเสมอว่า ต้องทำในสิ่งที่ดีที่สุด มีคุณภาพมากที่สุด เพื่อให้คนอ่านได้ประโยชน์สูงสุด

เช่นเดียวกับงานเปิดโกดังหนังสือการเมืองในครั้งนี้

มติชนเปิดโกดังหนังสือการเมือง

30 สิงหาคม-3 กันยายนนี้

10.00-20.00 น. มติชนอคาเดมี

ถนนเทศบาลนิมิตใต้ ซอย 12 ประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร

พุธที่ 30 ส.ค.66 | เวลา 13.00-14.00 น.

Special Book Talk: ตามหาเปอร์เซียในแผ่นดินสยาม

– วิทยากร: ศ.เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี ดำเนินรายการโดยสุนิติ จุฑามาศ

พฤหัสบดีที่ 31 ส.ค.66 | เวลา 16.00-17.00 น.

Book Activity: Political Book & Beer

– วิทยากร: เอนก มงคลวุฒิเดช (บอย ยัมมี่เฮาส์)

ศุกร์ที่ 1 ก.ย.66 | เวลา 16.00-17.00 น.

Book Talk: พระ-ผี-เทพ-เจ้า: อำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบไทยๆ

– ร่วมพูดคุยโดย: คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง และสมชาย แซ่จิว

เสาร์ที่ 2 ก.ย.66 | เวลา 13.00-14.00 น.

Sujit’s Talk: “คนไม่ไทย” ในโซเมีย (ของนิธิ) กลายตนเป็น “คนไทย” ในเมืองไทย

– วิทยากร: สุจิตต์ วงษ์เทศ ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

เสาร์ที่ 2 ก.ย.66 | เวลา 14.00-15.00 น.

Book Talk: The Last Lecture: มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

– วิทยากร: อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และสายชล สัตยานุรักษ์ ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

เสาร์ที่ 2 ก.ย.66 | เวลา 15.00-16.00 น.

Exhibition Talk: นิธิทรรศกาล

– วิทยากร: อพิสิทธ์ ธีระจารุวรรณ (ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC))

เสาร์ที่ 2 ก.ย.66 | เวลา 16.00-17.00 น.

Editor Talk: นิธิก่อนขึ้นแท่น(พิมพ์): เรื่องของบรรณาธิการกับงานของนิธิ เอียวศรีวงศ์

– วิทยากร: สุพจน์ แจ้งเร็ว และสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร ดำเนินรายการโดย พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

อาทิตย์ที่ 3 ก.ย.66 | เวลา 13.00-14.00 น.

Charnvit’s Talk: นิธิในทรงจำ

วิทยากร: ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ดำเนินรายการโดย อัครพงษ์ ค่ำคูณ

อาทิตย์ที่ 3 ก.ย.66 | เวลา 14.00-15.00 น.

Book Club: ทำไมต้องอ่านนิธิ เอียวศรีวงศ์

– วิทยากร: ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล

อาทิตย์ที่ 3 ก.ย.66 | เวลา 15.00-16.00 น.

Exhibition Talk: นิธิทรรศกาล

– วิทยากร: ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล และอพิสิทธ์ ธีระจารุวรรณ (ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC))

อาทิตย์ที่ 3 ก.ย.66 | เวลา 16.00-17.00 น.

Special Book Talk: กว่าจะเป็นปากไก่และใบเรือฉบับฟ้าเดียวกัน

วิทยากร: ธนาพล อิ๋วสกุล ดำเนินรายการโดย กนิษฐ์ วิเศษสิงห์

ทุกกิจกรรมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

สอบถามเพิ่มเติม 0-2589-0020

เฟซบุ๊ก : Matichon Book

สร้อยดอกหมาก สุกกทันต์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image