ขรรค์ชัย-สุจิตต์ เยือน‘เมืองร้อยเอ็ดประตู’

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ เยือน‘เมืองร้อยเอ็ดประตู’
เล่าเรื่องอุรังคธาตุ นาคสองฝั่งโขง และตำนานพระธาตุพนม

รายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว วันพฤหัสฯ 31 สิงหาคม 2566 สองกุมารสยามเดินทางไปเยือนจังหวัดร้อยเอ็ด เล่าเรื่อง ‘ตำนานอุรังคธาตุ’ ที่ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา

“ในคัมภีร์อุรังคธาตุ มีพญานาคชุมนุมกันมากที่สุดในโลก” แม้จะออกตัวว่าไม่ใช่คนที่อยู่ในวัฒนธรรมลาว แต่ สุจิตต์ ยังคงหยิบเอาเอกสารหลักฐานต่างๆ มาตีความได้อย่างน่าสนใจ เริ่มต้นจากเรื่องราวของนาคในอุรังคธาตุซึ่งสุจิตต์ระบุว่า แสดงให้เห็นถึงเส้นทางคมนาคมการค้าระหว่างจีนตอนใต้กับลุ่มน้ำโขงในภาคอีสาน ความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมตามเส้นทางคมนาคม การค้า และการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มหนึ่งจากตอนใต้ของจีน ลงไปผสมผสานกับคนดั้งเดิมบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง อีสาน ลาว

จากนั้น สุจิตต์ เล่าเรื่องพระธาตุพนม ว่าเป็นสถูปศักดิ์สิทธิ์ที่รวมจิตใจของคนบริเวณสองฝั่งโขง โดยไม่แบ่งแยกชาติพันธุ์ พระธาตุพนมดั้งเดิมเป็นฝีมือของช่างจามและขอมปนกันอยู่ ก่อนที่ต่อมาจะมีการปฏิสังขรณ์เป็นแบบลาวเข้ามาผสมผสาน

Advertisement

สุจิตต์ กล่าวว่า บริเวณภาคอีสานของไทย เป็นบริเวณที่จามเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากกว่าพันปีมาแล้ว บริเวณทางใต้ของพระธาตุพนม ซึ่งปัจจุบันเป็นเขต จ.มุกดาหาร มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) ไปออกตรงบริเวณที่เป็นถิ่นฐานของจาม เป็นเส้นทางการค้าจากอ่าวตังเกี๋ย ลาว อีสาน มาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งพระธาตุพนมก็ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้า มีคนชุมนุมอยู่มาก เกิดเป็นบ้านเมืองใหญโตคือเมืองโคตรบอง จึงมีการสร้างพระธาตุพนมขึ้นมา ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ จะมีการสร้างเจดีย์ขึ้นมาเอง

ปิดท้ายด้วยเรื่องเมืองร้อยเอ็ด ซึ่งสุจิตต์ระบุว่า บริเวณเมืองร้อยเอ็ดเริ่มต้นเป็นชุมชนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนที่ต่อมาราว 1,500 ปีมาแล้ว (พ.ศ.1000) สมัยทวารวดี มีเมืองคูน้ำคันดินรูปกลมรี ต่อมาประมาณ 1,000 ปีมาแล้ว (พ.ศ.1500) เมืองร้อยเอ็ดขยายเป็นสี่เหลี่ยมมุมมน แต่ยังไม่ได้ชื่อเมืองร้อยเอ็ด ต่อมาคนดั้งเดิมสมัยทวารวดีในบริเวณนี้มีการเคลื่อนย้ายลงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาหรือโตนเลสาบเพื่อการค้าขาย ทำให้บริเวณนี้มีคนน้อยลง จน พ.ศ.2318 ตรงกับสมัยธนบุรี มีคนกลุ่มใหม่จากลาว ย้ายหนีความขัดแย้งลงมาอยู่บริเวณนี้ และเอาชื่อจากตำนานอุรังคธาตุมาตั้งชื่อเมืองว่า ‘สาเกตนคร’ มีประตู ‘ร้อยเอ็ด’ ประตู

รับชมรับฟังเรื่องราวทั้งหมดได้ ในวันพฤหัสฯ 31 สิงหาคม 2566 เวลา 20.00 น. ทาง Facebook มติชนออนไลน์ ข่าวสด ศิลปวัฒนธรรม และ Youtubeมติชนทีวี

Advertisement

ศักดินา เศรษฐโกมุท

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image