สายลมประชาธิปไตยกำลังโชย

สายลมประชาธิปไตยกำลังโชย

นับจากวันที่ 14 พฤษภาคม 66 เป็นต้นมา บรรดาพรรคการเมือง มีทั้งสมหวังอย่างไม่คาดคิด และผิดหวังไปตามๆ กัน และนั่นเอง! ทำให้แต่ละพรรควางเหลี่ยมคูของตน ไปต่างๆ ไว้ในใจของกลุ่มตน เพื่อชัยชนะเป็นรัฐบาล เมื่อเหลี่ยมของพรรคนี้เป็นอย่างนี้ อีกพรรคหนึ่งจึงวางแผนหักเหลี่ยมโดยวิธีนี้ แต่ก็อยู่ในกรอบของกฎหมาย และทุกจังหวะของการเดินตามเหลี่ยมของตนนั้นคือสายลมประชาธิปไตย สายลมประชาธิปไตยสายที่หนึ่งคือ ประชาชนพากันออกไปเลือกผู้แทนของตนอย่างชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน กล่าวคือ ประชาชนเป็นจำนวนถึง 75% ของผู้มีสิทธิ ได้ออกมาลงคะแนนเลือกผู้แทนจากพรรคก้าวไกล ได้เป็นอันดับหนึ่ง ดับพรรคเพื่อไทยที่เคยได้คะแนนนำมาตลอด ยี่สิบกว่าปี สายลมประชาธิปไตยสายที่สอง คือ พรรคการเมืองทุกพรรคยอมรับชัยชนะของพรรคก้าวไกล แล้วปล่อยให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลก่อน ตามประเพณีของผู้ดีมีความคิด แต่บางพรรคยอมให้จัดรัฐบาลก่อน มิใช่เป็นผู้ดีมีความคิด แต่เป็นเพราะตัววางกับดักไว้แล้ว คิดว่าถึงอย่างไร พรรคก้าวไกลก็ไม่สามารถจัดรัฐบาลได้ สายลมประชาธิปไตยสายที่สาม คือเมื่อพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดรัฐบาลได้ ก็ยอมให้พรรคเพื่อไทยไปจัดตั้งรัฐบาลต่อ นี่คือความงามของระบอบนี้ และนี่คือสายลมประชาธิปไตยที่โชยโชว์ประเทศเพื่อนบ้านให้อิจฉา

สายลมประชาธิปไตยที่ก่อให้เกิดความงามในสังคมไทยอีกประการหนึ่ง คือ ประชาชนไทยมิได้นิ่งให้คนถืออาวุธ กดรีโมตบัญชาให้องค์กรอิสระ ทำอะไรตามความต้องการของตนอีกต่อไป สายลมที่ดับความร้อนใจของประชาชนไทยจนทำให้เกิดความเย็นใจสายที่สี่ คือสภาทนายความได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อของพิธา ในทำนองว่า พิธามิได้ถือหุ้นสื่อ เพราะหุ้นไอทีวี เลิกไปนานแล้ว นั่นคือสภาทนายความเข้าข้างพรรคก้าวไกล เพราะสภาทนายความคงมีความคิดในใจว่า ถ้าไม่ช่วย เผด็จการคงจัดการก้าวไกลแน่ คนไทยรู้ข่าวนี้แล้วชื่นใจเหมือนคนมีเหงื่อได้รับกระแสลมรำเพยต้องตัวฉะนั้น สายลมที่ห้า คือ ทนายความต่างจังหวัดชื่อ ยงยุทธ์ ได้ยื่นฟ้อง กกต.ในข้อหาจัดการเลือกตั้งทุจริต กลั่นแกล้งนายพิธา ศาลรับฟ้องแล้ว แล้วนัดให้ กกต.ทั้ง 7 คน มาฟังคำสั่งจากศาลใน
วันที่ 8 ส.ค.ศกนี้

พอถึงวันที่ 8 สิงหาคม 66 จำเลยมาที่ศาล ศาลให้แก้ข้อกล่าวหา 8 ประเด็น เช่นว่า นายพิธา เป็นผู้แทนฯมาแล้ว หนึ่งสมัย กกต.ได้พบว่านายพิธา มีหุ้นสื่อหรือไม่ เป็นต้น ดูแนวทางของคำถามของศาลแล้ว น่าจะเดาได้ว่า พฤติการณ์นี้ให้ความจริง ให้ความยุติธรรม และทำให้มองเห็นพฤติกรรมของ กกต.ว่าเป็นอย่างไร ? เพราะแต่เดิมก็พูดว่า คดีมันเลยเวลาฟ้องมาแล้ว ขอใช้มาตรา 151 ฟ้องศาลอาญาเลย แต่แล้ว จู่ๆ ก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญซะงั้น! เหมือนเจตนาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้ พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ในวันเลือกพิธาเป็นนายกฯพอดี มันช่างเหมาะเสียนี่กระไร! เพราะอะไร? เพราะเหมือนเจตนาให้ ส.ว. เกิดความลังเลไม่เลือก พิธาเป็นนายกฯในวันนั้นเลย พฤติเหตุนี้ทำให้เสียความรู้สึกเสียนี่กระไร ในประเด็นที่ศาลมีอำนาจเหนือ สภาที่เป็นผู้ออกกฎหมายให้ศาลทำหน้าที่ สามารถตัดสินให้ สมาชิกสภาหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ และการที่ กกต. ทั้ง 7 คนไปศาล ในวันที่ 8 สิงหาคมนั่นเอง พอวันที่ 9 สิงหาคม 66 กกต. ก็ตีตกคำร้องยุบพรรค ทั้งสามคือ เพื่อไทย ก้าวไกล และพลังประชารัฐ ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ! ปากกล้าขาสั่นหรือสายลมที่รำเพยให้คนไทยส่วนใหญ่ชื่นฉ่ำใจ สายที่หก คือ ก่อนการเลือกตั้ง ในโลกโซเชียลมีท่านอัยการท่านหนึ่งออกสารส่วนตัว ถึงผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ให้ไปลงคะแนนอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม และสายลมที่ชื่นฉ่ำใจ สายที่เจ็ดคือ การที่อานนท์นำพา แจ้งต่อผู้ถามในวันที่ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า คุณอานนท์ไม่กลัวศาลถอนประกันหรือ? เขาตอบว่าตำรวจคงไม่เสนออัยการ เพราะรู้ว่าอัยการคงไม่ร่วมมือด้วย การที่สภาทนายความ และทนายความปัจเจกชน และอัยการซึ่งเป็นผู้รู้กฎหมายของรัฐ มิได้นิ่งดูดายเหมือน ปีเก่าๆ มันแสดงถึงว่า สถาบันดังกล่าว โอนไปทางเสียงของประชาชน มากกว่าคำสั่งของเผด็จการ เหมือนปีเก่าๆ ที่แม้จะผิดกฎหมาย เขาก็บัญญัติกฎหมายลงโทษย้อนหลังนักนักการเมืองที่ประชาชนนิยมได้อย่างหน้าตาเฉย การเฝ้ามองของประชาชนผ่านการเลือกตั้งก็ดี การที่องค์กรกฎหมายทางราชการและเอกชนเฝ้ามองก็ดี ทำให้เผด็จการชะงักระวังตัวอยู่ นั่นคือเปิดช่องให้สายลมแล่นผ่านปะทะหัวใจผองไทยให้ชื่นฉ่ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ADVERTISMENT

การที่ผู้เขียนสัมผัสสายลมประชาธิปไตยกำลังโชยมา เพราะผู้เขียนมองเฉพาะทุกจังหวะการเคลื่อนไหว ที่อยู่ในกรอบของกฎหมาย มิได้ล้วงลงไปในความรู้สึกที่ถูกผลักดันจากความกระหาย อันเป็นกิเลส ที่มีอยู่ทุกคนในสังคมมนุษย์ทั่วโลก อย่าไปพูดถึงกันเลย ทั่วโลกเขาก็เป็นอย่างนั้น ผู้เขียนจึงขอฟันธงลงไปเลยว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตย ดีที่สุดในสังคมมนุษย์ บางคนพูดว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยบกพร่องน้อยที่สุด คำพูดคำนี้ เพราะกลัวคนอื่นค้าน แต่ผู้เขียนกลับขอฟันธงว่า ดีที่สุดในสังคมมนุษย์ เพราะแรงหนุนจากไหนหนอ! จึงฟันธงอย่างนั้น! จะมีแรงหนุนอะไรที่จะวิเศษไปกว่า หลักการที่พระโลกนายก คือพระพุทธเจ้าวางไว้เล่า ! พระองค์วางอะไรไว้ ? ขอให้ดูวิธีการเลือกคนเข้ามาเป็นพระ พระองค์ก็ให้ใช้วิธีเสียงข้างมาก วิธีการนี้ ท่านเรียกว่า ญัตติจตุตถกรรมอุปสมบท แปลว่า การบวชที่ทำพิธีมีญัตติเป็นที่สี่ขอพูดเฉพาะขั้นตอนที่สงฆ์เห็นชอบดังต่อไปนี้ เมื่อผู้ขอบวชขอให้พระสงฆ์ยกตัวเขาขึ้นเป็นพระท่ามกลางสงฆ์แล้ว พระคู่สวดจะทำหน้าที่เป็นเลขาฯในที่ประชุม ซึ่งมีพระอุปัชฌาย์เป็นประธานว่า “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้ขอบวชต่อสงฆ์ ฯลฯ สงฆ์ควรให้ผู้นี้ได้บวชเป็นพระ” นี่คือญัตติ คือข้อเสนอ แล้วท่านก็สวดประกาศต่อไปว่า “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์ จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้ ขอบวชต่อสงฆ์ ฯลฯ การบวชของผู้นี้ สงฆ์ใดเห็นชอบ จงนิ่ง ถ้าสงฆ์ใดไม่เห็นชอบควรกล่าวค้านขึ้น” จากนั้นท่านจะสวดประกาศไปอีก สองครั้ง จากนั้นท่านจะสวดประกาศเป็นประโยคสุดท้ายต่อไปว่า “ท่านผู้นี้ มีอุปัชฌาย์ชื่อนี้ ได้อุปสมบทแล้ว เพราะสงฆ์เห็นชอบ ด้วยสงฆ์นิ่ง ข้าพเจ้าก็ทรงความนิ่งนั้นด้วย” ณ จุดที่ท่านประกาศประโยคนี้จบ สงฆ์ถือว่า ผู้นี้เป็นพระสมณะสมบูรณ์แล้ว ข้อความในเรื่องนี้ผู้ประสงค์ความละเอียด จงไปหาอ่านในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เล่ม 4 หน้า 157 อนึ่ง ขอให้ผู้อ่านได้สังเกตว่า มีคำว่า ญัตติอยู่ในคำว่า ญัตติจตุตถกรรม อีกทั้งคำว่า ญัตติ มีใช้อยู่ในภารกิจของสภาผู้แทนฯ ผู้เขียนจึงขอเลี้ยวไปพูดถึงศัพท์ที่ใช้ในสภาและรัฐบาลสักสามศัพท์ คือ หนึ่ง รัฐธรรมนูญ สอง ญัตติ สาม กระทู้ ดังต่อไปนี้เมื่อเปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี 2475 กฎหมายสูงสุดของประเทศ คณะราษฎร จึงใช้คำว่า รัฐธรรมนูญ ศัพท์นี้ประกอบมาจากศัพท์ 2 ศัพท์คือ รัฐ และ ธรรมมนู แปลว่ามนูธรรมของรัฐ ถามว่ามนูธรรมของรัฐคืออะไร ตอบว่า สมัยโบราณประเทศไทยมีคัมภีร์กฎหมายมาจากอินเดียเป็นคู่มืออยู่เล่มหนึ่ง ชื่อ มนูธรรมศาสตร์ เมื่อเปลี่ยนการปกครองแล้ว นายปรีดี (อดีตหลวงประดิฐมนูธรรม) จึงเปลี่ยนคำนี้ เป็น รัฐธรรมนูญ แปลว่า ธรรมนูญของรัฐ หมายถึงกฎหมายสูงสุดของประเทศ แล้วท่านก็เอาคำว่า ธรรมศาสตร์ไปตั้งเป็นชื่อ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยตลาดวิชาที่ท่านตั้งขึ้นมา โดยนักศึกษาไม่ต้องสอบเข้าเรียน สอง คำว่า ญัตติ ท่านก็หยิบมาจากวัดที่พระท่านใช้อยู่เป็นประจำนั่นเองมาใช้ในสภา สาม คำว่า กระทู้ เป็นชื่อวิชาในการเรียนธรรมะในวัด เรียกว่า กระทู้ธรรม วิชานี้ก็คือ การเรียงความนั่นเอง แล้วท่านก็เอามาใช้ในสภา ให้ผู้แทนราษฎร ถามรัฐบาล คำถามนั้น เรียกว่า ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี

อนึ่ง เพื่อให้เห็นว่า พระพุทธองค์ทรงสนับสนุนการปกครองด้วยประชาธิปไตย จึงขอตอบคำถามในโลกโซเชียล ที่มีข่าว เจ้าอาวาสขับไล่พระเณรออกจากวัดตอนดึกดื่น ว่าควรหรือไม่ ที่เจ้าอาวาสทำเช่นนั้น ณ จุดนี้ จะเห็นชัดก็ต้องยกการปกครองในวัดมาเป็นตัวอย่าง การที่เจ้าอาวาสจะขับไล่พระเณรออกจากวัด จะต้องประชุมสงฆ์ในวัดก่อน ถ้าสงฆ์ส่วนใหญ่เห็นชอบก็ขับไล่ได้ ถ้าส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบ เจ้าอาวาสขับไล่ไม่ได้ ขอให้ผู้สนใจจงไปอ่าน ในพระไตรปิฎกแปลไทยฉบับหลวงเล่ม 6 หน้า 35 เรื่อง ปัพพาชนียกรรมเถิด แต่ขอเน้นตรงนี้ว่า ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ให้อำนาจเจ้าอาวาสขับไล่พระเณรออกจากวัดได้ นี่คือทำผิดพระวินัย ขอเดาว่าเวลาสภาผู้แทนฯเสนอ พ.ร.บ.นี้คงไม่รู้พระวินัยข้อนี้ แล้วก็ออกเป็นกฎหมายเลย อยากถามว่า แล้วทำไมไม่ไปถามพระเล่า ! ขอกลับเข้าสู่บทความ สายลมประชาธิปไตยกำลังโชยต่อไป

ADVERTISMENT

การถ่ายโอนอำนาจของเมืองไทยเป็นไปอย่างเชื่องช้าเช่นนี้ ในความเห็นของผู้เขียน ถือว่าเป็นความงามของการถ่ายโอนอำนาจ ของสังคมมนุษย์ ที่น่าจะโชว์หมู่ชนตะวันออกเฉียงใต้ได้ ซึ่งเป็นการถ่ายโอนอำนาจที่ประเสริฐกว่าการใช้ปืนมาขู่ที่เราเห็นกันมาตลอดในสังคมไทยและข้างบ้านเราแต่ขณะนี้ ประเทศเพื่อนบ้านเราและทั่วโลก กำลังมองไทยอย่างเอาใจช่วย จนมีคำว่าอาเซียน สปริง เกิดขึ้นมาแล้ว ในโลกโซเชียล เพราะพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกลของไทย บันดาลให้คนรุ่นใหม่ ทั้งประชาชนลาว พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เอาเป็นตัวอย่าง ชนิดที่ว่าขณะที่พิธา ฟีเวอร์ ญาติของเราทางตะวันออกกล่าวในโลกโซเชียลว่า ขอพิธามาให้ลาวสักคนได้ไหม? ก่อนจบบทความ ขอภาวนาให้ประเทศไทย ต่อไปนี้จงถ่ายโอนอำนาจกันอย่างศิวิไลซ์ อันเป็นวิถีทางของอารยชน อย่ากลับไปใช้วิถีทางของคนป่าเถื่อนอีกเลย

ทวี ผลสมภพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image