‘กรมอนามัย’ ผนึกภาคีเครือข่าย หนุนเด็กไทยสายตาดี ลดภาวะเสี่ยงตาขี้เกียจ

‘กรมอนามัย’ ผนึกภาคีเครือข่าย หนุนเด็กไทยสายตาดี ลดภาวะเสี่ยงตาขี้เกียจ

กองอนามัยวัยเรียนวัยรุ่น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการจัดการประชุมพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการเฝ้าระวัง และส่งเสริมสุขภาพสายตานักเรียนตามวิถีชีวิตใหม่รูปแบบเสมือนจริง (Virtual Meeting) เพื่อติดตาม ประเมินผล และขับเคลื่อนโครงการเด็กไทยสายตาดี ส่งเสริมการตรวจคัดกรองสายตาในเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 เพื่อลดภาวะเสี่ยงสายตาผิดปกติ ป้องกันการเกิดภาวะตาขี้เกียจ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความพิการทางสายตาได้ พร้อมส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมออนไลน์ในครั้งนี้ผ่านช่องทาง WebX และ Facebook Live ในเพจกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กว่า 12,000 คน

นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย ประธานในการประชุมกล่าวถึงข้อมูลด้านสุขภาพสายตาของเด็กไทยในปัจจุบัน และความสำคัญในการสังเกตภาวะสายตาผิดปกติในเด็ก เนื่องจากเด็กเป็นกำลังสำคัญที่จะเติบโตขึ้นไปพัฒนาชาติ ทั้งนี้ การเรียนรู้มากกว่าร้อยละ 80 เกิดจากการมองเห็น ดวงตาจึงเป็นอวัยวะที่สำคัญที่ช่วยให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ช่วยเพิ่มทั้งโอกาสการเรียนรู้ของเด็ก ช่วยให้เด็กเรียนเก่งเรียนดี เพิ่มสติปัญญาความฉลาด กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยมีนโยบายขับเคลื่อนโครงการเด็กไทยสายตาดี ภายใต้การมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนสานต่อโครงการเด็กไทยสายตาดี (MOU) เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 ประกอบด้วย 10 ภาคีเครือข่าย ได้แก่

1.กรมอนามัย 2.กรมการแพทย์ 3.คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาตา 4.ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย 5.ห้างแว่นท็อปเจริญ 6.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 7.กระทรวงศึกษาธิการ 8.กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 9.สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และ 10.สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ มีเป้าหมายตรวจคัดกรองสายตานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศ พร้อมมอบแว่นสายตาอันแรกแก่เด็กที่มีสายตาผิดปกติ

Advertisement

นพ.เอกชัยกล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงานในปีการศึกษา 2565 สรุปจำนวนเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีจำนวน 886,806 คน ได้รับการคัดกรองสายตาจำนวน 342,684 คน (หรือร้อยละ 38.64) โดยพบความเสี่ยง 37,683 คน (หรือร้อยละ 11) และได้รับแว่นตา จำนวน 18,243 คน (หรือร้อยละ 48.41) ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมานั้นได้รับความร่วมมือระหว่างบุคลากรทางการศึกษา บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขทุกระดับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ในการคัดกรองสายตาให้นักเรียนได้รับแว่นตาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและทั่วถึง อีกทั้งมีการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพเด็กไทยสายตาดี ในการช่วยลดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดสายตาผิดปกติ ป้องกันการเกิดภาวะตาขี้เกียจที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความพิการทางสายตาต่อไปได้

“การตรวจคัดกรองสายตานักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 หรือเด็กที่มีอายุ 6-12 ปีนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือเทอม 1 ของทุกปีการศึกษา ซึ่งการตรวจคัดกรองสายตานักเรียนถือเป็นสิทธิประโยชน์ตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หากตรวจพบสายตาผิดปกติ จะมีการส่งต่อให้เด็กได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์ และพิจารณาให้ใส่แว่นสายตา ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมือเสริมสร้างผนึกพลังขับเคลื่อนโครงการ เพื่อเด็กไทย สายตาดี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและช่วยพัฒนาประเทศชาติต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าวปิดท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image