โบแดง,ฮอบส์,ล็อก

ผู้เขียนนั่งรำพึงถึงวิชารัฐศาสตร์กับเรื่องการเมืองไทยที่ยุ่งๆ กันอยู่ในปัจจุบันนี้พลันก็นึกถึงคำที่อาจารย์เคยสอนในวิชารัฐศาสตร์เมื่อตอนเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยขึ้นมาได้ คือโบแดง, ฮอบส์, ล็อกเลยคิดทบทวนสิ่งที่เคยเรียนมาจนเพลินไปเลย จนกระทั่งคิดว่าจะเขียนบทความสั้นๆ ง่ายๆ เล่าเรื่องที่มาของระบอบการปกครองที่มีเพียง 2 ระบอบใหญ่ๆ ในโลกนี้คือ ระบอบเผด็จการกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งโดยพื้นฐานดั้งเดิมแล้วการปกครองทั่วไปในประวัติศาสตร์นั้นล้วนแล้วแต่เป็นระบอบเผด็จการทั้งนั้นเพิ่งมีแนวความคิดของระบอบประชาธิปไตยมาได้ 300 กว่าปีเท่านั้นเอง

เริ่มต้นจากการที่จักรวรรดิโรมันซึ่งเดิมใช้ศาสนาคริสต์เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการปกครองจักรวรรดิ ถูกพวกเยอรมันโจมตีจนล่มสลายลงใน พ..1019 (ตอนนั้นอาณาจักรสุโขทัยยังไม่เกิดนะครับ) ทำให้ดินแดนต่างๆ ในภูมิภาคยุโรปตะวันตกที่เดิมอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมันได้แตกแยกออกเป็นสิบเป็นร้อยอาณาจักร สันตปาปา ประมุขของศาสนาคริสต์ของจักรวรรดิโรมันจึงฉวยโอกาสประกาศว่าตนมีอำนาจเหนือกษัตริย์ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ทั้งหมด โดยใช้การ Excommunication (แปลแบบภาษาพระคือ บัพพาชนียกรรม) เป็นเครื่องมือ คือการขับเหล่ากษัตริย์ผู้ที่ไม่ยอมรับอำนาจของสันตะปาปาออกจากศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ในยุโรปตะวันตกนับถือศรัทธาอันจะทำให้ประชาชนไม่ยอมรับอำนาจของกษัตริย์ เนื่องจากกษัตริย์เป็นคนนอกศาสนา เป็นผลให้สันตะปาปา ผู้เป็นประมุขของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกผู้ประทับอยู่ที่กรุงโรมมีอำนาจเหนือบรรดาอาณาจักรต่างๆ ในภูมิภาคยุโรปตะวันตกเป็นเวลานับพันปี

จนกระทั่งนักวิชาการชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งชื่อ นายฌอง โบแดง (Jean Bodin) ได้เขียนหนังสือชื่อ “The Six Books of the Republic” เมื่อ พ..2119 (ช่วงที่กรุงศรีอยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นพม่าภายใต้บุเรงนอง) โดยโบแดงเป็นผู้ที่เริ่มใช้คำว่าอำนาจอธิปไตย (sovereignty) ในความหมายที่เข้าใจกันอยู่ในปัจจุบัน คือ อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ประจวบกับซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดมีรัฐสมัยใหม่ขึ้นบรรดากษัตริย์ทั้งหลายในยุโรปตะวันตกต่างพากันแข็งข้อต่อสันะตปาปาโดยไม่กลัวการขู่ที่จะขับออกจากศาสนากันแล้ว แนวความคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยของโบแดงจึงเป็นการสนับสนุนเป็นปกครองโดยระบอบที่มีกษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภายใต้คติความเชื่อทางการปกครองอันไม่แตกต่างกันมากนักว่ากษัตริย์เป็นผู้ได้รับอาณัติอำนาจจากสวรรค์มาปกครองมนุษย์โลก (Divine Right of King) โดยกษัตริย์ต้องเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น และกษัตริย์ต้องสืบราชสันตติวงศ์ด้วย เพราะพระผู้เป็นเจ้าได้เลือกสรรมาแล้วนั่นเอง

ต่อมาชาวอังกฤษชื่อนายโทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbs) ได้เขียนหนังสือชื่อ “Leviathan” เมื่อ พ..2194 (ปลายสมัยพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา) เพื่อชี้แจงความเป็นมาของรัฐสมัยใหม่โดยได้เสนอแนวความคิดสัญญาประชาคม (Social Contract) ซึ่งเป็นที่ยึดถืออ้างอิงในวงวิชาการรัฐศาสตร์ร่วม 400 ปีแล้ว โดยอ้างว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นคือมีความเห็นแก่ตัว โหดร้าย เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันแล้วจำเป็นต้องตกลงร่วมกันมอบสิทธิอำนาจให้แก่บุคคลคนหนึ่งคือกษัตริย์ เพื่อทำหน้าที่ปกครองให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้โดยสันติสุข ซึ่งสิทธิอำนาจนั้นคืออำนาจอธิปไตย (sovereignty) ที่โบแดงอ้างไว้ก่อนหน้านี้นั่นเอง แบบว่ามนุษย์ทั่วไปเป็นคนชั่วเมื่อมาอยู่รวมกันเป็นประเทศจึงต้องให้กษัตริย์ปกครองโดยมีอำนาจเต็ม เพราะกษัตริย์เป็นคนดี วิเศษเหนือมนุษย์ทั่วไป จึงต้องมีการสืบราชสันตติวงศ์ด้วย

Advertisement

โดยสรุปแล้วการปกครองตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการปกครองระบอบเผด็จการทั้งสิ้น พูดง่ายๆ คือระบอบเผด็จการ มีลักษณะเด่นอยู่ที่การรวมอำนาจการเมืองการปกครองไว้ที่บุคคลเพียงคนเดียว หรือคณะเดียว หรือพรรคเดียว โดยบุคคล หรือคณะบุคคลดังกล่าวสามารถใช้อำนาจนั้นควบคุมบังคับประชาชนได้โดยเด็ดขาด หากประชาชนคนใดคัดค้านผู้นำหรือคณะผู้นำก็จะถูกลงโทษและอำนาจการเมืองการปกครองก็คืออำนาจอธิปไตย (sovereignty) นั่นเอง

หลังจากนั้นก็มีชาวอังกฤษชื่อ นายจอห์น ล็อก (John Locke) ได้เขียนหนังสือชื่อ “Two Treaties of Government” เมื่อ พ..2232 (ต้นสมัยพระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา) ได้อ้างอิงเรื่องสัญญาประชาคมของ โทมัส ฮอบส์ แต่เห็นแย้งกับโทมัส ฮอบส์ ในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ กล่าวคือ จอห์น ล็อก เห็นว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิธรรมชาติตั้งแต่เกิดมา ทุกคนคือสิทธิในชีวิต สิทธิในเสรีภาพ และสิทธิในทรัพย์สิน ดังนั้น ผู้ปกครองต้องได้รับการยอมรับจากผู้ใต้ปกครองว่าจะปกครองโดยให้การคุ้มครองและไม่ล่วงละเมิดสิทธิในชีวิต สิทธิในเสรีภาพ และสิทธิในทรัพย์สินผู้ใต้ปกครอง และจอห์น ล็อก เสนอว่าอำนาจอธิปไตยไม่ควรตกอยู่กับคนเพียงคนเดียว ต้องกระจายอำนาจอธิปไตยเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ โดยประชาชนสามารถตรวจเช็กอำนาจของผู้ที่ใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 สาขานี้ได้

นอกจากนี้หากบรรดาผู้ปกครองที่ใช้อำนาจอธิปไตยนี้ล่วงละเมิดสิทธิในชีวิต สิทธิในเสรีภาพ และสิทธิในทรัพย์สินผู้ใต้ปกครองแล้ว บรรดาผู้อยู่ใต้ปกครองคือประชาชนมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะลุกฮือขึ้นมาใช้กำลังล้มล้างระบอบการปกครองที่ล่วงละเมิดสิทธิทั้ง 3 ของประชาชนได้

Advertisement

นายจอห์น ล็อก จึงมักได้รับการขนานนามว่าบิดาแห่งระบอบประชาธิปไตยแนวคิดของจอห์น ล็อก นี้เป็นหลักการของการประกาศอิสรภาพของชาวอาณานิคมอเมริกันต่ออังกฤษ และเป็นพื้นฐานกฎหมายและรัฐบาลสหรัฐอเมริกานั่นเอง และผลงานการเขียนของจอห์น ล็อก มักถูกอ้างอิงไปทั่วโลก

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image