สกสว. ผนึก ซีอีเอ ขับเคลื่อนอุตฯเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศ

สกสว. ผนึก ซีอีเอ ขับเคลื่อนอุตฯเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำโดย รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สกสว. ร่วมประชุมหารือกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ด้วยการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2567 สกสว. ได้เพิ่มแผนงานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และแผนงานย่อย (Non Flagship) “พัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เน้นคุณค่า สร้างความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศ” ภายใต้แผนงาน “พัฒนาระบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ในด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูง มีความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศ” และ CEA เป็นหนึ่งใน Strategic partner ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ

นายชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการ CEA กล่าวถึง บทบาทและทิศทางของ CEA ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์และปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมให้แก่ชุมชน สาธารณชนและสถาบันการศึกษา พัฒนาผู้ประกอบการและส่งเสริมให้เกิดการนำกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างนวัตกรรม ตลอดจนส่งเสริมและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ

Advertisement

อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม 15 สาขา ดังนี้ กลุ่มรากฐานทางวัฒนธรรม (Creative Originals) เป็นทุนทางสังคม วัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีรากเหง้าความเป็นไทย อาทิ งานฝีมือและหัตถกรรม ดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์ 2. กลุ่มเนื้อหาและสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content /Media) เป็นการถ่ายทอดข้อมูลผ่านการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ อาทิ ภาพยนตร์ การพิมพ์ การกระจายเสียง และซอฟต์แวร์ (เกมและแอนิเมชัน)

3. กลุ่มบริการสร้างสรรค์ (Creative Services) การใช้ความคิดสร้างสรรค์ในกระบวนการออกแบบ อาทิ การโฆษณา การออกแบบ และสถาปัตยกรรม 4. กลุ่มสินค้าสร้างสรรค์ (Creative Goods /Products) เป็นการออกแบบเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า อาทิ อุตสาหกรรมแฟชั่น และ 5. กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ อาหารไทย แพทย์แผนไทย และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image