ConforAll ปักธงส่งต่อ (ทำไม) ‘ส.ส.ร. (ต้อง) เลือกตั้ง’ 100%

ภาพจาก ‘ไอลอว์’

ConforAll ปักธงส่งต่อ
(ทำไม) ‘ส.ส.ร. (ต้อง) เลือกตั้ง’ 100%

9ธันวาคมที่ผ่านมา ก่อนถึงวันสำคัญในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย 10 ธันวาคม นั่นคือ วันรัฐธรรมนูญ

อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา (แยกคอกวัว) เขตพระนคร กรุงเทพฯ คึกคักด้วยกิจกรรม ‘ConforAll ปักธงส่งต่อ ส.ส.ร.เลือกตั้ง’ จัดโดย

กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ #ConforAll เพื่อส่งเสียงเรียกร้องไปยังรัฐบาล ผ่านคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเกี่ยวกับการจัดออกเสียงประชามติ เพื่อเปิดทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยประชาชน

Advertisement

นอกจากการร่วมกันเขียนธงสนับสนุนข้อเสนอ Con for All และการติดสติ๊กเกอร์ทำโพลสำรวจความเห็นว่า ท่านเห็นด้วยกับคำถามประชามติที่ประชาชนเสนอหรือไม่ รวมถึงการออกบูธจากเครือข่ายต่างๆ แล้ว ไฮไลต์ในช่วงเย็นจรดค่ำ คือ เสวนาที่ตีแผ่ปมปัญหาและหาทางร่วมเดินหน้าเพื่อรัฐธรรมนูญใหม่ที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ที่สำคัญคือการผลักดันให้ สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง

ล้อมวงพูดคุยโดย กรกช แสงเย็นพันธ์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG), รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), แสงศิริ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และ พงศ์เทพ เทพกาญจนา คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) รวมถึงการประกาศเจตนารมณ์ของภาคประชาชน โดย กลุ่ม We Watch

Advertisement

ภาคประชาชน เรียกร้อง 5 ข้อ ปักธงเลือก ส.ส.ร. 100% ลั่น ต้องเห็นหัวทุกคน

นนทวัฒน์ เหลาผา กลุ่ม We Watch เสนอการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเลือกตั้ง และข้อเสนอ 5 ข้อ โดย 1.ทุกคนต้องมีสิทธิเลือกตั้ง ไม่เว้นแต่พระสงฆ์ นักบวช และผู้ต้องขัง 2.ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และไม่สามารถโหวตนายกฯได้ 3.คนที่มีสิทธิเลือกนายกต้องมาจากเสียงของประชาชนจริงๆ 4.กกต.ต้องยึดโยงกับประชาชน มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ให้ความรู้ความเข้าใจประชาชน ไม่มีสิทธิตัดสิทธิทางการเมืองและยุบพรรค 5.การเลือกตั้งต้องสะท้อนเจตนารมณ์อย่างตรงไปตรงมาของประชาชน

“5 ข้อนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ายังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดิม เราต้องแก้ทั้งหมดโดยการมีส่วนร่วมของคนทั้งประเทศ ทำให้การเลือกตั้งเหล่านี้เป็นของคนทั้งประเทศ ทำให้กฎหมายเหล่านี้เป็นของประชาชน เราต้องได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมาจากเสียงของประชาชนทุกคน และต้องมาจากการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 100 เปอร์เซ็นต์” นนทวัฒน์เผย

ดักทาง ‘ประชามติ’ คำถามไม่ดี เสี่ยงตกม้าตาย!

ขณะที่ กรกช แสงเย็นพันธ์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย หนุนอีกเสียง ว่าอยากให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตัวสนับสนุนเรื่องนี้ ตั้งแต่รัฐประหาร 2557 เราเกิดวิกฤตศรัทธาตัวแทนที่ไม่ได้มาจากประชาชน

ด้าน แสงศิริ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญ 60 สร้างกติกาที่ซับซ้อน ทำให้ไม่สามารถเขียนใหม่ได้ด้วยสิทธิของเราจริงๆ จึงต้องส่งเสียง ตั้งคำถามช่วยกัน ว่าถ้าเราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมาจาก ส.ส.ร. เลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์

ส่วน รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล ตัวแทนไอลอว์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ถ้ามีคำถามทำประชามติไม่ดี ก็อาจตกม้าตาย รัฐที่มีอำนาจในมือ ไม่ว่าจะทำประชามติอย่างไร ตนคิดว่าคือข้อที่รัฐบาลกังวล และนักเทคนิค นักวิชาการจะไปอยู่ตรงไหน จะร่างรัฐธรรมนูญโดยคนไม่มีความรู้หรือเปล่า ตนจะตอบด้วย 1 หลักการ และ 2 ด่าน ที่เราต้องข้ามคือ

“1.หลักการอำนาจสถาปนาเป็นของประชาชน ดังนั้น จึงต้องร่างได้ทั้งฉบับ ยึดโยงประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็เคยเขียนไว้ในคำวินิจฉัยแล้ว ดังนั้น หลักการชัดเจนแล้ว

ส่วน 2 ด่านที่ต้องข้าม คือ 1.ด่านประชามติ ตัวละครที่สำคัญที่สุดคือประชาชน และ 2.ด่านรัฐสภา ประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว.” รัชพงษ์ชี้

รัชพงษ์ระบุว่า ปัญหาคือ การให้ความสำคัญไม่เท่ากัน สิ่งที่สำคัญกลับไม่สำคัญ อย่าง ด่านประชามติ ที่สำคัญกว่า ด่านรัฐสภา หรือการรับไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ เช่นนี้ก็ไม่เอาแล้ว

“เมื่อไปสู่ชั้นรัฐสภา กลัว ส.ว.คว่ำแก้ปัญหาอย่างไร ก็ประชาชนโหวตมาแล้ว เจตจำนงถูกยืนยันผ่านการทำประชามติ และ ส.ส. ส.ว. ต้องทำตามนั้น นอกจากนี้ ยังมีผลดีทางการปฏิบัติ คือเกราะกำบังของนักการเมืองผ่านการเลือกตั้ง สามารถเอาผลไปคุยกับ ส.ว. จะมีอำนาจต่อรองในมือ ศักดิ์ศรีของคุณที่ผ่านการเลือกตั้ง เป็นโอกาสดีที่พลาดไม่ได้” รัชพงษ์กล่าว ก่อนย้ำว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 100 เปอร์เซ็นต์ นอกจากเนื้อหาดี ยังต้องมีความชอบธรรมด้วย แต่ถ้าไม่มีทั้ง 2 ประชาชนจะตั้งคำถามเป็น 2 เท่า ดังนั้นการขาดแคลนความชอบธรรมในรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องอุดให้ได้ ซึ่งวิธีการที่แฟร์ จะนำมาสู่ความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ

“หลักการที่ประชาชนยืนยันยังเหมือนเดิม คือร่างใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง ส.ส.ร. 100 เปอร์เซ็นต์ ยังอยู่ แต่ก็ยังมีโอกาสตกม้าตัวที่ 2 มีโอกาสหลายช่องมากเหลือเกินที่จะทำให้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไปไม่สุดทาง อยากให้รัฐบาลพูดออกมาเลยว่า กังวลอะไร

ประเด็นที่ 2 ต่อให้ไม่ทำประชามติ ส.ว. ก็กำลังจะหมดอายุ จะไม่อยู่ในอำนาจแล้ว ฉะนั้น ถ้า ส.ว.หมดอายุ ก็เป็นช่องที่ไม่ต้องทำประชามติแล้ว

ถ้าถามว่าวันนี้มีทางออกอย่างไรบ้างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เลือกได้หมด สิ่งเดียวที่ต้องการ คือคนที่อยู่ในอำนาจมีความตั้งใจจริงที่จะทำให้สุดทางหรือไม่ เพราะเราช่วยกันหาทางออกได้อยู่แล้ว” รัชพงษ์กล่าว

สิ้นปีรู้กัน! ยิ่งชีพ รุกถาม พงศ์เทพ เห็นใจ ‘รัฐบาลเหนื่อยโน้มน้าว’

อีกโมเมนต์เข้มข้น คือการตะลุยถามของ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผอ.ไอลอว์ ต่อ พงศ์เทพ เทพกาญจนา คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ

ยื่งชีพถามว่า กรรมการชุดนี้ จะมีผลการพิจารณาออกมาเมื่อไหร่ จะได้รัฐธรรมนูญใหม่จริงหรือไม่?

พงศ์เทพตอบว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เปิดโอกาสให้แสดงความเห็น ฝ่ายที่รณรงค์ไม่โหวตรับร่างก็ถูกปิดปาก ส่วนอีกฝ่ายก็โฆษณาประชาสัมพันธ์รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ใช้มาหลายปี

“อยากกลับไปถามคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ว่าปราบอะไร บีบบังคับประชาชนว่า ถ้าไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะเจอรัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารต่อ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

จำได้หรือไม่ ตอนแรกที่คิดระบบเลือกตั้ง เจตนาชัดว่าเอื้อให้ฝ่ายไหน ที่มาไม่ชอบ เนื้อหาสาระก็แย่” พงศ์เทพกล่าว

เมื่อถามว่า เมื่อไหร่ที่ คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ จะมีผลออกมา เราจะได้ทำหรือไม่ ประชาชนจะได้เตรียมตัวถูก?

พงศ์เทพเผยว่า ตอนที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ มาทาบทามตนให้เป็นกรรมการชุดนี้ ตนรับเป็นกรรมการ ไม่ได้คิดจะทำประชามติเลย และคิดว่าควรใช้เวลาไม่เกิน 1 ครั้งในการสรุปเรื่อง

“เพราะผมอยู่ในซีกที่ศึกษาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 และอ่านคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละท่าน ผมสรุปว่า คำวินิจฉัยที่ 4/2564 ไม่ชัดเจน ผมเคยเป็นผู้พิพากษา หลักการคือต้องเขียนคำพิพากษาต้องชัดเจน

ไปดูคำวินิจฉัยส่วนตัว 6 คน สรุปว่าท่านเห็นว่าควรทำประชามติ 2 ครั้งเท่านั้น คือ 1.เมื่อแก้รัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้มี ส.ส.ร. ผ่านสภาแล้วก็ไปทำประชามติ ตามมาตรา 256 (8) กำหนดไว้

จากนั้น 2.ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาได้ใหม่แล้ว ก็ให้มีการทำประชามติอีกครั้ง คือทำแค่ 2 ครั้งเท่านั้น

“ครั้งแรก ก็มีคนไปตีความว่า ก่อนสภาพิจารณาให้มี ส.ส.ร.ไม่รู้ว่าจะผ่านสภาหรือเปล่า จะให้ไปทำประชามติก่อน ถามว่ามีเหตุผลอะไรไหมในการทำประชามติครั้งแรก ต้องบอกว่าหลักการ การทำครั้งแรกไม่ได้ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญว่า ต้องทำ หลักการที่ 2 ต่อให้ประชามติท่วมท้น ก็ไม่ผูกพันกับ ส.ว.ในการเห็นชอบ ไม่อย่างนั้นจะทำประชามติให้เหนื่อยทำไม เงิน 3,000 กว่าล้าน ใช้เวลา 4-5 เดือน แล้วให้ ส.ว. 1 ใน 3 บอกว่า ฉันไม่เอา ปัดตก ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

“ผมจึงเสนอวิธีที่ไม่ต้องตกม้า เพราะเราจะไม่ขึ้นม้า วิธีที่ทำให้คนที่ถ้าจะไม่รับ ต้องหาเหตุอื่นมาโชว์ ผมเสนอให้พรรคการเมือง เสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ให้มี ส.ส.ร.เข้าไปในสภา ผมไปคุยประธานรัฐสภา ท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา แน่นอนว่า ขึ้นอยู่ว่าฝ่ายกฎหมายของสภา จะบรรจุวาระหรือไม่ ถ้าบรรจุไม่ได้ ก็ขอให้สมาชิกรัฐสภาจำนวนหนึ่งยื่นญัตติด่วนในสภา บอกว่ากรณีนี้บรรจุไม่ได้เพราะต้องทำประชามติก่อน ถ้าสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่เห็นด้วย เขาเรียกว่า ปัญหาอันเกี่ยวด้วยหน้าอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย หรือในกรณีกลับกัน ถ้าประธานสภาบรรจุวาระ ก็จะมีคนโต้แย้งว่าบรรจุไม่ได้ แล้วส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน” พงศ์เทพอธิบาย

จากนั้น กล่าวต่อไปว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเรื่องรัฐธรรมนูญ ว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง ใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ศาลรัฐธรรมนูญจะบอกมาเลยว่า ต้องทำประชามติกี่ครั้ง ถ้าศาลบอกว่าทำแค่ 2 ครั้ง เราไม่ต้องทำครั้งแรก ประหยัดเงินไป 3,000 ล้าน ประหยัดเวลา และตัดปัญหาด้านกฎหมายอื่นๆ ไปด้วย

“ผมเข้าใจว่าในส่วนของกรรมการ คุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ก็คงนำเสนอไปยัง ครม.ว่ามี 2 แนวความคิดอย่างนี้ ครม.จะเลือกอย่างไร อย่างแรกคือทำประชามติ 3 ครั้ง ต้องไปเสี่ยงว่าจะตกม้าหรือเปล่า อย่างที่ 2 คือหาทางให้ชัดเจนว่าต้องทำประชามติกี่ครั้งก่อน มี 2 ทางเลือกที่เข้าใจว่าท่านภูมิธรรมเสนอไปอย่างนี้

“การทำประชามติครั้งแรก ถ้าทำ ก็จะมีนักร้องมาร้องอีกว่า ทำไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 166 จะล้มรัฐธรรมนูญหรือไม่ แม้ทำครั้งแรกก็เสี่ยงตรงนี้อีก” พงศ์เทพกล่าว

เมื่อ ยิ่งชีพถามต่อไปว่า ส.ส.ร.เลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นไปได้หรือไม่?

พงศ์เทพเผยว่า ตนเชื่อว่าหลายพรรคการเมืองมีร่างของตัวเอง รวมทั้งมีร่างที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเป็นฐานอยู่ และประชาชนก็มีร่างของตัวเองอยู่ การเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ทำได้ แต่จะเลือกแบบไหนให้ได้ ส.ส.ร.ที่เราต้องการ และมีความหลากหลาย

“ถ้ายึดตามพื้นที่ เช่น จังหวัดละ 1 คน บอกตามตรงจากประสบการณ์ ความหลากหลายที่คิดว่าจะได้ ยาก แต่ถ้าใช้เขตประเทศ เป็นเขตเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกได้กี่เบอร์ ตรงนี้ความหลากหลายเกิดขึ้นได้ เช่น ผู้พิการ 5-6% ของประเทศ ให้เลือกตัวแทนของท่านเอง
ว่าจะอยู่เชียงใหม่หรือภูเก็ต ก็จะได้เป็นล้านๆ คะแนน ตัวแทนผู้พิการเข้ามาอยู่ใน ส.ส.ร.ได้ แต่ถ้าเลือกเป็นเขตจังหวัด เสียงกระจายอย่างไร ก็สู้คนอื่นเขาลำบากมาก โอกาสที่จะเข้ามาสู่สภาได้ ยาก” พงศ์เทพกล่าว และว่า ถ้าไม่เอาแบบเลือกตามเขตประเทศ ก็มีการเลือกกลุ่มจังหวัด เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ยิ่งชีพกล่าวเสริมว่า ถ้ารัฐบาลเริ่มเส้นทางนี้ เสนอร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา เท่ากับว่ารัฐบาลเสนอ 1 ร่าง ประชาชนก็มีสิทธิเสนอร่างอีก 50,000 ชื่อ ถ้าไม่ต้องทำประชามติครั้งแรก ก็จะเร็วขึ้นไปอีก เป็นอีกทางหนึ่ง

พงศ์เทพกล่าวทิ้งท้ายว่า เวลาเราพูดถึงรัฐบาล เรามักคิดว่าเป็นองค์กรหนึ่งเดียว แต่จะเห็นได้ว่ามาจากหลายพรรค ส่วนใหญ่เคยทำงานร่วมกับรัฐบาลชุดเดิม และไม่ได้มีแนวความคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป

“ดังนั้น แม้ว่ารัฐบาลจะเขียนนโยบายแล้วตีความได้ว่า จะยกร่างทั้งฉบับ แต่มันต้องการการกระตุ้น ไม่อย่างนั้น พรรครัฐบาลก็เหนื่อยเหมือนกัน ในการโน้มน้าว พรรคที่ไม่ต้องการแก้ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ” พงศ์เทพกล่าว

ยิ่งชีพกล่าวว่า เมื่อรองนายกฯภูมิธรรมประกาศแล้วว่า เดือนนี้รู้เรื่อง ถ้าเดือนนี้ไม่รู้เรื่อง จะไปทวงถาม

ก่อนปิดท้ายกิจกรรมในช่วงค่ำ ด้วยการ ปักธง เพื่อส่งต่อข้อเสนอให้กับตัวแทนคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ

ให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

และหากมีการทำประชามติ ต้องมีการกำหนดคำถามที่ดี

อธิษฐาน จันทร์กลม
ภูษิต ภูมีคำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image